omniture

ผลวิจัยล่าสุดเผยบุหรี่คร่าชีวิตผู้คนเกือบ 8 ล้านรายในปี 2019 พบนักสูบหน้าใหม่ถึง 90% ติดบุหรี่เมื่ออายุไม่ถึง 25 ปี

Institute for Health Metrics and Evaluation
2021-05-31 20:05 111
  • จำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่เป็นจำนวนเกือบ 8 ล้านรายในปี 2019 หรือคิดเป็นหนึ่งในห้าของผู้ชายทุกคนที่เสียชีวิต
  • นักสูบหน้าใหม่ถึง 90% ติดบุหรี่เมื่ออายุไม่ถึง 25 ปี การป้องกันไม่ให้คนวัยหนุ่มสาวเริ่มสูบบุหรี่จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนทิศทางของการลุกลามให้คนรุ่นหลัง
  • ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องทำตามพันธสัญญาเพื่อวางกรอบและบังคับใช้นโยบายควบคุมยาสูบ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มภาษีผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยการห้ามโฆษณายาสูบ รวมถึงผ่านช่องทางสื่อโซเชียล และส่งเสริมสภาพแวดล้อมไร้บุหรี่นั้น อาจช่วยไม่ให้คนวัยหนุ่มสาวคิดอยากเริ่มสูบได้
  • แม้อัตราความชุกของการสูบบุหรี่เมื่อปรับมาตรฐานอายุทั่วโลกนั้นลดลงอย่างมากในช่วงปี 1990 และ 2019 แต่ไม่พบความคืบหน้าในทางเดียวกันนี้กับยาสูบแบบเคี้ยว โดยในเอเชียใต้นั้นมีอัตราการใช้ยาสูบแบบเคี้ยวเมื่อปรับตามอายุสูงถึง 25% ในกลุ่มผู้ชายอายุมากกว่า 15 ปี

ซีแอตเทิล--31 พ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ข้อมูลเจาะแนวโน้มการสูบบุหรี่ทั่วโลกที่ศึกษามาอย่างครอบคลุมที่สุดนั้น ได้ชูให้เห็นผลร้ายมหาศาลในเรื่องของสุขภาพ ปัจจุบัน จำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะหลัก 1.1 พันล้านรายในปี 2019 โดยมีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบมากถึง 7.7 ล้านคน หรือคิดเป็นหนึ่งในห้าของผู้ชายทุกคนที่เสียชีวิต

สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคืออัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง ประเทศต่าง ๆ กว่าครึ่งหนึ่งทั่วโลกยังไม่มีความคืบหน้าในการลดการสูบบุหรี่ในกลุ่มคนอายุ 15-24 ปี โดยนักสูบหน้าใหม่ถึง 89% ติดบุหรี่เมื่ออายุไม่ถึง 25 ปี การป้องกันไม่ให้คนวัยหนุ่มสาวติดสารนิโคตินในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญในการกำจัดการใช้ยาสูบในหมู่คนรุ่นหลัง

ผลการศึกษาใหม่ 3 ฉบับที่เผยแพร่ในวารสาร The Lancet และ The Lancet Public Health โดยองค์กร Global Burden of Disease ซึ่งนำโดยสถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation นั้น ใช้ข้อมูลจากการสำรวจที่เป็นตัวแทนระดับประเทศ 3,625 รายการ รายงานเหล่านี้ให้ตัวเลขประเมินอัตราความชุกของการสูบบุหรี่ทั่วโลก ครอบคลุม 204 ประเทศในกลุ่มชายและหญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งรวมถึงอายุที่เริ่มสูบ โรคที่เกี่ยวข้อง และความเสี่ยงทั้งกับผู้ที่ยังสูบอยู่และเลิกสูบไปแล้ว เช่นเดียวกับการวิเคราะห์แนวโน้มในการใช้ยาสูบแบบเคี้ยวทั่วโลกที่มีขึ้นเป็นครั้งแรก

รายงานวิจัยดังกล่าวได้เผยแพร่ก่อนที่จะถึงวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมนี้ โดยผู้เขียนรายงานได้เรียกร้องให้ทุกประเทศ เร่งวางกรอบและบังคับใช้นโยบายที่มีหลักฐานรองรับอย่างครอบคลุม เพื่อลดความชุกของการใช้ยาสูบและป้องกันไม่ให้มีคนคิดอยากเริ่มสูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวและวัยรุ่น

ศาสตราจารย์ Emmanuela Gakidou ผู้นิพนธ์หลักประจำสถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) ในสังกัดมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า [1] "การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่คุกคามสุขภาพของผู้คนทั่วโลก ทว่าหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกยังไม่มีการควบคุมยาสูบอย่างเพียงพอ การที่หลาย ๆ ประเทศมีความชุกในการสูบบุหรี่ค่อนข้างสูงในกลุ่มวัยรุ่น ขณะที่ยังคงมีผลิตภัณฑ์ยาสูบและนิโคตินใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องนั้น แสดงให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับการควบคุมยาสูบอีกเท่าตัว หากคน ๆ หนึ่งไม่ติดการสูบบุหรี่เป็นประจำภายในอายุ 25 ปีนั้น คนเหล่านั้นก็ไม่น่าจะกลายเป็นผู้สูบบุหรี่ สิ่งนี้แสดงให้เห็นโอกาสสำคัญในการเข้าแทรกแซง เพื่อป้องกันไม่ให้วัยรุ่นคิดเริ่มสูบบุหรี่และช่วยให้พวกเขามีสุขภาพดีขึ้นตลอดทั้งชีวิตที่เหลือ"

จำนวนผู้สูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นการต่อสู้อันสูงชันในการควบคุมยาสูบทั่วโลก

นับตั้งแต่ปี 1990 ความชุกในการสูบบุหรี่ของผู้ชายทั่วโลกปรับตัวลดลง 27.5% และสำหรับผู้หญิงก็ปรับตัวลดลงถึง 37.7% อย่างไรก็ดี ความชุกในการสูบบุหรี่ของผู้ชายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใน 20 ประเทศ ขณะที่มี 12 ประเทศที่พบความชุกในการสูบบุหรี่ของผู้หญิงเพิ่มขึ้น

ในประเทศต่าง ๆ กว่าครึ่งหนึ่ง การปรับตัวลดลงของความชุกนั้นตามการเติบโตของประชากรไม่ทัน และจำนวนผู้สูบบุหรี่ยังคงเพิ่มขึ้น โดย 10 ประเทศที่มีผู้บริโภคยาสูบมากที่สุดในปี 2019 นั้น คิดเป็นสัดส่วนรวมกันเกือบสองในสามของผู้ใช้ยาสูบทั่วโลก ประเทศเหล่านี้ได้แก่จีน อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย บังกลาเทศ ญี่ปุ่น ตุรกี เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งผู้ใช้ยาสูบถึงหนึ่งในสาม (341 ล้านคน) นั้นมาจากจีน

ในปี 2019 การสูบบุหรี่มีความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดราว 1.7 ล้านคน, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 1.6 ล้านคน, มะเร็งปอดและหลอดลม 1.3 ล้านคน และโรคหลอดเลือดสมองเกือบ 1 ล้านคน ผลการศึกษาที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มานานกว่าหนึ่งในสองจะเสียชีวิตโดยมีสาเหตุที่เชื่อมโยงกับการสูบบุหรี่โดยตรง และผู้สูบบุหรี่จะมีอายุขัยน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบเลยเฉลี่ยถึง 10 ปี

การเสียชีวิตที่มาจากการบริโภคยาสูบนั้นประมาณ 87% เกิดขึ้นกับผู้ที่ยังคงสูบอยู่ โดยมีเพียง 6% ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เลิกสูบไปแล้วก่อนหน้านั้นอย่างน้อย 15 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์สำคัญทางสุขภาพจากการเลิกสูบ

ปี 2019 มีการบริโภคยาสูบคิดเป็นบุหรี่ได้ราว 7.4 ล้านล้านมวน (นับรวมผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดมีควัน ทั้งบุหรี่โรงงาน บุหรี่มวนเอง ซิการ์ ซิการิโล ไปป์ ชิชา รวมถึงผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคอย่างบิดีและบุหรี่กานพลู) หรือคิดเป็นวันละ 2.03 หมื่นล้านมวนทั่วโลก ประเทศที่มีการบริโภคต่อหัวมากที่สุดส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป และสำหรับทั่วโลกนั้น ผู้ชายที่สูบบุหรี่เป็นสัดส่วนหนึ่งในสาม และผู้หญิงที่สูบบุหรี่หนึ่งในห้า บริโภคยาสูบคิดเป็นบุหรี่ได้วันละกว่า 20 มวน

15-24 ปี ช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนทิศทางการลุกลามของยาสูบ

Marissa Reitsma ผู้นิพนธ์หลักในการวิจัยการสูบบุหรี่ประจำสถาบัน IHME [1] กล่าวว่า "การศึกษาทางพฤติกรรมและชีววิทยาบ่งชี้ว่า วัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะติดบุหรี่ค่อนข้างมาก โดยการที่อัตราเลิกบุหรี่จะอยู่ในระดับสูงได้นั้นยังคงเป็นเรื่องยากทั่วโลก ยาสูบก็ยังจะคงลุกลามต่อไปอีกหลายปี จนกว่าประเทศต่าง ๆ จะลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ลงได้อย่างมากในแต่ละปี และเมื่อประเมินจากการที่นักสูบ 9 ใน 10 รายเริ่มติดบุหรี่ก่อนอายุ 25 แล้ว การทำให้วัยรุ่นไม่แตะบุหรี่ไปจนถึงช่วงวัย 20 กลาง ๆ นั้น จะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างมากสำหรับคนรุ่นต่อไป"

ในปี 2019 คาดว่าผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปีนั้นมีจำนวนประมาณ 155 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20.1% สำหรับวัยรุ่นชาย และ 5.0% สำหรับวัยรุ่นหญิงทั่วโลก

ผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่อยู่ราวสองในสาม (65.5%) เริ่มสูบบุหรี่ก่อนอายุ 20 ปี และ 89% เริ่มสูบก่อนอายุ 25 ปี สิ่งนี้แสดงให้เห็นช่วงอายุสำคัญซึ่งเผยให้เห็นถึงพฤติกรรมการติดสารนิโคติน จนกลายเป็นผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

เมื่อปี 2019 นั้น พบวัยรุ่นกว่าหนึ่งในสามกลายเป็นผู้สูบบุหรี่เป็นประจำใน 12 ประเทศและดินแดน ได้แก่ บัลแกเรีย โครเอเชีย ลัตเวีย ฝรั่งเศส ชิลี ตุรกี และกรีนแลนด์ เช่นเดียวกับ 5 หมู่เกาะแปซิฟิก

ในภาพรวมทั่วโลกนั้น ความชุกของการสูบบุหรี่ในกลุ่มวัยรุ่นได้ปรับตัวลดลงระหว่างปี 1990 และ 2019 ทั้งวัยรุ่นชาย (-32.9%) และวัยรุ่นหญิง (-37.6%) ประเทศต่าง ๆ มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ต่างกัน โดยมีเพียง 81 ประเทศที่ลดความชุกในหมู่วัยรุ่นลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ประเทศต่าง ๆ กว่าครึ่งหนึ่งไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ในหลาย ๆ ประเทศนั้น ความคืบหน้าในการลดความชุกของการสูบบุหรี่ตามการเพิ่มขึ้นของประชากรไม่ทัน ทำให้จำนวนวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอินเดีย อียิปต์ และอินโดนีเซีย มีจำนวนวัยรุ่นชายสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่ตุรกี จอร์แดน และแซมเบีย มีจำนวนวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นมากที่สุด

ในภาพรวมทั่วโลก อายุเฉลี่ยในการเริ่มสูบบุหรี่เป็นประจำนั้นอยู่ที่ 19 ปี โดยยุโรปและทวีปอเมริกามีอายุเฉลี่ยในการเริ่มสูบบุหรี่น้อยที่สุด ซึ่งเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอายุเฉลี่ยในการเริ่มสูบบุหรี่น้อยที่สุด (16.4 ปี) ส่วนเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และแอฟริกาใต้สะฮารา มีอายุเฉลี่ยในการเริ่มสูบบุหรี่มากที่สุด ซึ่งโตโกเป็นประเทศที่มีอายุเฉลี่ยในการเริ่มสูบบุหรี่มากที่สุด (22.5 ปี)

คุณ Reitsma กล่าวเสริมว่า "เห็นได้ชัดเจนว่า ในประเทศที่ความชุกของการสูบบุหรี่ในกลุ่มวัยรุ่นได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญนั้น อายุในการเริ่มสูบบุหรี่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้เวลาผ่านไป สิ่งนี้เป็นหลักฐานสนับสนุนว่า การแทรกแซงช่วยป้องกันการสูบบุหรี่ เมื่อเทียบกับแค่ยืดช่วงอายุในการเริ่มสูบบุหรี่ออกไป"

ยาสูบแบบเคี้ยวจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเข้มงวดกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียใต้

ทั่วโลกนั้น มีผู้บริโภคยาสูบแบบเคี้ยวถึง 273.9 ล้านคนในปี 2019 คิดเป็นอัตราความชุกเมื่อปรับตามอายุได้ 6.5% สำหรับผู้ชาย และเกือบ 3% สำหรับผู้หญิงอายุเกิน 15 ปี ผู้บริโภคยาสูบแบบเคี้ยวส่วนใหญ่ (228.2 ล้านคน; 83.3%) ในปี 2019 นั้นมาจากภูมิภาคเอเชียใต้ โดยประเทศที่มีผู้บริโภคยาสูบแบบเคี้ยวมากที่สุดคืออินเดีย 185.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 68% ของผู้บริโภคยาสูบแบบเคี้ยวทั่วโลก ขณะที่บังกลาเทศ เนปาล และภูฏาน มีอัตราความชุกของการบริโภคยาสูบแบบเคี้ยวค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน

Parkes Kendrick ผู้นิพนธ์หลักในการวิจัยเรื่องยาสูบแบบเคี้ยวประจำสถาบัน IHME [1] กล่าวว่า "ยาสูบแบบเคี้ยวมีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่มีเอกสารรองรับแล้ว โดยมีหลักฐานหนักแน่นในเรื่องความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งช่องปาก แม้ความชุกของการสูบบุหรี่ทั่วโลกได้ปรับตัวลดลง แต่ยาสูบแบบเคี้ยวไม่ได้ลดลงตาม บ่งชี้ว่าความพยายามในการควบคุมนั้นมีผลต่อความชุกของการสูบบุหรี่มากกว่ายาสูบแบบเคี้ยวในบางประเทศ การกวดขันระเบียบกำกับดูแลและนโยบายที่มุ่งควบคุมยาสูบแบบเคี้ยวโดยเฉพาะนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียใต้ที่มีอัตราชุกสูง"

การเข้าแทรกแซงของภาคอุตสาหกรรมและบทบาทภาคการเมืองที่ลดลง ทำให้การควบคุมยาสูบเป็นไปอย่างล่าช้าทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็น

สนธิสัญญาด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติฉบับแรกอย่างกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (WHO FCTC) ได้มีผลบังคับใช้ และกลายเป็นกฎหมายที่มีผลผูกพันในระดับนานาชาติเมื่อปี 2005 โดย WHO FCTC มีการวางนโยบายแทรกแซงอย่างมีหลักฐานรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการลดความสามารถในการซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบด้วยการเก็บภาษี การผ่านกฎหมายปลอดบุหรี่อย่างครอบคลุม ห้ามขายบุหรี่ให้ผู้เยาว์ บังคับให้แสดงคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพบนบรรจุภัณฑ์ และห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขาย และสนับสนุนยาสูบ

นับตั้งแต่ปี 2005 FCTC มีผู้ให้สัตยาบันทั้งสิ้น 182 ประเทศ แต่นับจนถึงปี 2018 มีเพียง 62 ประเทศที่มีนโยบายปลอดบุหรี่อย่างครอบคลุม โดยมี 23 ประเทศให้บริการสนับสนุนการเลิกบุหรี่อย่างเต็มรูปแบบ, 91 ประเทศบังคับให้แสดงภาพเตือนเกี่ยวกับสุขภาพ, 48 ประเทศมีคำสั่งห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขาย และสนับสนุนอย่างครอบคลุม และ 38 ประเทศเรียกเก็บภาษียาสูบในระดับที่แนะนำ

การเก็บภาษียาสูบเป็นมาตรการที่คุ้มทุนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผนวกรวมกับการจัดสรรรายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าวไปเป็นงบหนุนโครงการควบคุมยาสูบ บริการดูแลสุขภาพ และบริการสนับสนุนสังคมลักษณะอื่น ๆ การลดความสามารถในการซื้อก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดอัตราการสูบในหมู่วัยรุ่นด้วยเช่นกัน

ในช่วงปี 2008-2018 มีประเทศรายได้ต่ำเพียง 33% ที่ความสามารถในการซื้อบุหรี่ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับ 38% ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และ 72% ในประเทศรายได้สูง โดยประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเผชิญกับความท้าทายจากการเติบโตของประชากร ซึ่งทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ถึงอย่างนั้น มาดากัสการ์เป็นประเทศรายได้ต่ำเพียงแห่งเดียวที่เก็บภาษียาสูบในระดับที่ WHO แนะนำไว้

ในขณะที่อุตสาหกรรมยาสูบได้คิดหาวิธีการใหม่ ๆ โดยใช้สื่อโซเชียล กลยุทธ์ในการควบคุมยาสูบก็ต้องตามให้ทันด้วย โดยกลิ่นและรสอาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดึงดูดให้เยาวชนหันมาใช้ยาสูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามา การห้ามสารแต่งกลิ่นและรสทั้งหมด รวมถึงเมนทอล ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่มีสารนิโคติน เช่น ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดมีควัน ไม่มีควัน บุหรี่ไฟฟ้า และยาสูบแบบให้ความร้อนนั้น เป็นวิธีการที่น่าสนใจในการลดความต้องการสูบในหมู่วัยรุ่น

ประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดอายุในการซื้อบุหรี่ตามกฎหมายไว้ที่ 16 หรือไม่ก็ 18 ปี แต่นักสูบถึงสามในสี่เริ่มสูบก่อนอายุ 21 ผู้นิพันธ์รายงานดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นหลักฐานจากการวิจัยบางฉบับ ที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่การเพิ่มอายุในการซื้อบุหรี่ตามกฎหมายมีต่ออัตราการสูบบุหรี่ โดยในภาพรวมทั่วโลกนั้น อายุขั้นต่ำในการซื้อบุหรี่สูงสุดที่พบคือ 21 ปี โดยมี 6 ประเทศที่กำหนดอายุไว้ที่ระดับดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อูกันดา ฮอนดูรัส ศรีลังกา ซามัว และคูเวต

ดร. Vin Gupta ผู้ร่วมนิพนธ์ประจำสถาบัน IHME กล่าวว่า "แม้บางประเทศมีความคืบหน้า แต่การเข้าแทรกแซงของภาคอุตสาหกรรมและบทบาทภาคการเมืองที่ลดลง ทำให้เกิดช่องว่างอันใหญ่หลวงและไม่หายไประหว่างความรู้ความเข้าใจกับการลงมือควบคุมยาสูบทั่วโลก การห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขาย และสนับสนุน จำเป็นต้องครอบคลุมสื่ออินเทอร์เน็ตด้วย แต่มีเพียงหนึ่งในสี่ประเทศที่มีคำสั่งห้ามการโฆษณาทางตรงและทางอ้อมครอบคลุมทุกช่องทาง และแม้จะพบความเชื่อมโยงกับการเริ่มสูบบุหรี่ของวัยรุ่นอย่างชัดเจน แต่มีไม่ถึง 60 ประเทศที่ออกกฎหมายห้ามใช้สารแต่งกลิ่นและรสบางส่วนกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ การอุดช่องว่างเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในการปกป้องเยาวชนจากอิทธิพลของยาสูบ" [1]

ประการสุดท้าย ผู้นิพนธ์ได้ชี้แจงถึงข้อจำกัดในการวิจัยทั้ง 3 ฉบับนี้ด้วย โดยข้อมูลการบริโภคยาสูบนั้นเป็นการให้ข้อมูลด้วยตนเองของผู้ถูกวิจัย อายุในการเริ่มสูบอาจตอบได้ไม่แน่ชัดเพราะจำช่วงเวลาชัดเจนไม่ได้ และผลกระทบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ไม่ได้นับรวมควันบุหรี่มือสอง การวิเคราะห์ดังกล่าวมุ่งศึกษาผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบมีควันและยาสูบแบบเคี้ยว โดยไม่ได้สะท้อนถึงบุหรี่ไฟฟ้า (และระบบนำส่งนิโคตินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ) หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน

ในส่วน Comment ตามลิงก์ คุณ Alan Blum และ Ransome Eke จากมหาวิทยาลัยอลาบามา ในเมืองทัสคาลูซา สหรัฐอเมริกา (ซึ่งไม่ได้มีส่วนในการวิจัยดังกล่าว) เขียนไว้ว่า "การแก้ไขปัญหาการลุกลามของการสูบบุหรี่ทั่วโลกได้กลายเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก การควบคุมยาสูบ ซึ่งเป็นคำที่แวดวงวิชาการเริ่มใช้เมื่อช่วงปี 1990 เพื่อไม่ให้ปนกับนักเคลื่อนไหวกลุ่มรากหญ้าที่ต่อต้านการสูบบุหรี่อย่างสุดโต่งนั้น ยังคงตกอยู่ในวังวนการวิจัยพรรณนาสิ่งต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลสนับสนุนนโยบายลดการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ไม่เหมือนกับการควบคุมยุง เพราะตัวพาหะอย่างอุตสาหกรรมยาสูบ ยังคงอยู่รอดและเติบโต อุตสาหกรรมดังกล่าวเหมือนกับไวรัสที่กลายพันธุ์เรื่อย ๆ เพราะคอยปรับตัวหาทางจัดการกับความพยายามต่าง ๆ ทางกฎหมายและกำกับดูแลอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อยู่รอดจากการถูกขัดขวางไม่ให้ขาย ส่งเสริม และใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทยาสูบ การเก็บภาษีหรือภาษีบาปอาจไม่ได้เป็นนโยบายควบคุมยาสูบที่ได้ผลที่สุดเสมอไป แต่การจะพูดเช่นนั้นอาจถูกหัวเราะเยาะเอาได้ การเก็บภาษีบุหรี่อาจกำหนดให้สูงขึ้นเพื่อบดขยี้อุตสาหกรรมยาสูบได้ แต่ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนต้องการไปถึงขั้นนั้น รัฐบาลต่างพึ่งพารายได้ส่วนนี้เพื่อลดการขาดดุล และใช้กับเรื่องอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากการควบคุมการสูบบุหรี่.... อุตสาหกรรมยาสูบยังคงเป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งในการควบคุมยาสูบ ที่เห็นได้ชัดคือบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ของรัฐ เช่นจีนที่ผูกขาดการผลิตยาสูบในตลาดบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนับเป็นปัญหาท้าทายสำคัญต่อวงการสาธารณสุข ขณะที่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และอีกหลายประเทศ ก็เป็นแหล่งที่ตั้งของบริษัทยาสูบทรงอิทธิพลหลายแห่งด้วยเช่นกัน... ความหวังในการยุติการลุกลามของยาสูบนั้นอยู่ในความมุ่งมั่นของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทุกคน เพื่อยกให้การป้องกันการสูบบุหรี่ การเลิกบุหรี่ และการป้องกันไม่ให้กลับมาสูบซ้ำเป็นเรื่องสำคัญที่สุด"

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ
การวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Bloomberg Philanthropies และมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation

[1] ถ้อยแถลงโดยตรงจากผู้นิพนธ์ โดยไม่อยู่ในเนื้อความของบทความนี้

บทความเกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภคยาสูบทั่วโลก ( The Lancet http://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)01169-7/fulltext  
บทความเกี่ยวกับการเริ่มสูบบุหรี่ของวัยรุ่น ( The Lancet Public Health ) 
http://www.thelancet.com/journals/lanpub/article/PIIS2468-2667(21)00102-X/fulltext  
บทความเกี่ยวกับยาสูบแบบเคี้ยว ( The Lancet Public Health ) 
http://www.thelancet.com/journals/lanpub/article/PIIS2468-2667(21)00065-7/fulltext  

โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/1156878/IHME_Logo.jpg?p=medium600 

Source: Institute for Health Metrics and Evaluation
Keywords: Health Care/Hospital Tobacco Survey, Polls & Research
Related News