omniture

วันหลอดเลือดอุดตันโลก ชวนประชาชน "ขยับนิดพิชิตหลอดเลือดอุดตัน" ในวาระครบรอบ 10 ปีของการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ทั่วโลก

International Society on Thrombosis and Haemostasis
2023-10-13 15:00 27

แชเปิลฮิลล์, นอร์ทแคโรไลนา--13 ตุลาคม 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต

เนื่องในวันหลอดเลือดอุดตันโลก (World Thrombosis Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี สมาคมระหว่างประเทศว่าด้วยหลอดเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (International Society on Thrombosis and Haemostasis: ISTH) ได้รณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณ อาการ และปัจจัยเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดอุดตัน หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

วันหลอดเลือดอุดตันโลกร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร 5,000 แห่ง จาก 120 ประเทศ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องการรักษาและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี แคมเปญนี้ได้สนับสนุนให้ประชาชน "ขยับนิดพิชิตหลอดเลือดอุดตัน" (Move Against Thrombosis) ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายบ้างเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

ลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดและอาจหลุดไปตามกระแสเลือดทั่วร่างกาย และมักก่อให้เกิดอาการที่อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นโรคอื่น สำหรับสัญญาณที่พบบ่อยที่สุดของลิ่มเลือดที่ขา หรือภาวะหลอดเลือดดำลึกที่ขาอุดตัน (Deep Vein Thrombosis: DVT) ประกอบด้วยอาการกดเจ็บที่น่อง ข้อเท้าหรือเท้าบวม มีรอยแดง และ/หรือ รู้สึกอุ่นในบริเวณดังกล่าว ส่วนสัญญาณของลิ่มเลือดในปอด หรือภาวะหลอดเลือดปอดอุดตัน (Pulmonary Embolism: PE) ประกอบด้วยอาการหายใจไม่สะดวกโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว และ/หรือ เวียนหัว

แพทย์หญิง ลานา คาสเตลลุชชี (Lana Castellucci) ประธานคณะกรรมการอำนวยการวันหลอดเลือดอุดตันโลก กล่าวว่า "สาเหตุหนึ่งที่หลอดเลือดอุดตันกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลกมากถึง 1 ใน 4 ก็คือ อาการหลายอย่างคล้ายกับโรคอื่นที่พบได้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นตะคริวที่ขา ก็ไม่น่าจะไปตรวจคัดกรองลิ่มเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้อาการดังกล่าวร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ เราจึงพยายามให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับสัญญาณและอาการของภาวะหลอดเลือดอุดตัน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่มีอาการจะได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมก่อนที่จะสายเกินไป"

ปัจจัยเสี่ยงบางประการที่เพิ่มโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดมีดังนี้

  • การรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน: 60% ของผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism: VTE) เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังการรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง
  • การรักษาโรคมะเร็ง: ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดรุนแรงมากขึ้นสี่เท่า อันเป็นผลมาจากการผ่าตัดและการทำเคมีบำบัด
  • การตั้งครรภ์และหลังคลอด: มีความเสี่ยงสูงระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด เนื่องจากน้ำหนักของมดลูกที่กดทับหลอดเลือดดำในอุ้งเชิงกรานอาจทำให้การไหลเวียนของเลือดในขาช้าลง

ทั้งนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ วันหลอดเลือดอุดตันโลกจึงจัดแคมเปญในหัวข้อ "ขยับนิดพิชิตหลอดเลือดอุดตัน" โดยมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดนั่นเอง

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.worldthrombosisday.org 

โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/454627/ISTH_Logo.jpg?p=medium600 

Source: International Society on Thrombosis and Haemostasis
Keywords: Health Care/Hospital Medical/Pharmaceuticals Not for profit Public Interest
Related News