ริยาด, ซาอุดีอาระเบีย, 27 ตุลาคม 2566 /PRNewswire/ -- วันเปิดการประชุมความริเริ่มการลงทุนเพื่ออนาคต (FII) ครั้งที่ 7 หรือ FII7 ให้ความสำคัญกับวิธีการที่ประชาคมโลกจะสามารถสร้างบรรทัดฐานใหม่ด้านความสัมพันธ์ ท่ามกลางความไม่มั่นคง ความกังวลด้านสภาพอากาศและความไม่เท่าเทียมทางสังคมได้อย่างไร โดยผู้เข้าร่วมประชุมต่างก็เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้มี 'เข็มทิศโลก' ใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนโอกาสในการลงทุน
คณะผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงคุณเจมี ไดมอน (Jamie Dimon) ประธานและซีอีโอของเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค (JP Morgan Chase & Co) และคุณลอเรนซ์ ดี ฟิงก์ ( Laurence D. Fink) ประธานและซีอีโอของแบล็คร็อค (BlackRock), ฯพณฯ ยาซีร์ อัล รูไมยาน (H.E. Yasir Al-Rumayyan) ผู้ว่าการกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของซาอุดีอาระเบีย ได้พูดถึงการกำหนดแนวทางผ่านน่านน้ำที่ยังไม่เคยได้รับการสำรวจเหล่านี้ รวมถึงวิธีการเปลี่ยนแปลงความท้าทายให้เป็นโอกาสของการเติบโต ตลอดจนเรื่องผลกระทบและความสามารถในการฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความทะเยอทะยานด้านพลังงานหมุนเวียนของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
ฯพณฯ ยาซีร์ อัล รูไมยาน กล่าวว่า "สิ่งที่เราทำในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (KSA) เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับโลก ภายในปี 2573 เราต้องการให้การผลิตไฟฟ้าของเรา 50% มาจากพลังงานหมุนเวียน และอีก 50% จะขึ้นอยู่กับก๊าซที่มีการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าของเหลว เราต้องลงทุนในพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งหากดูจากเป้าหมายภายในปี 2588 จะมีการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี 2563 แตะที่ 283 ล้านล้านดอลลาร์"
คุณเรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) ผู้ก่อตั้ง ที่ปรึกษาซีไอโอ และสมาชิกคณะกรรมการบริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอตส์ แอลพี (Bridgewater Associates, LP) กล่าวว่า "สิ่งที่เราเห็นวันนี้ และในขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ซึ่งจะปรากฏให้เห็นความแตกต่างกันในเรื่องความมั่งคั่งและพลังอำนาจ เมื่อดูจากประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาสภาพภูมิอากาศแล้ว เรื่องของปัญหาสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายให้กับจีดีพี (GDP) ประมาณ 5-10 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี นี่จะต้องได้รับการแก้ไข"
คุณเจมี ไดมอน ประธานและซีอีโอของเจพี มอร์แกน กล่าวว่า "การใช้จ่ายทางการคลังสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาในช่วงเวลาที่สถานการณ์สงบอย่างมีนัยสำคัญ แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 จุดจะไม่สร้างความแตกต่างมากนัก แต่การเปลี่ยนแปลงของเส้นอัตราผลตอบแทน 100 จุดนั้นต่างมาก สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ในปัจจุบันคล้ายกับการใช้จ่ายเงินจำนวนมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 แม้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะพยายามผลักดันให้เกิดแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) แต่ก็ยังไม่มีการใช้ภาษีคาร์บอน หรือกลยุทธ์ที่มีเหตุผล"
เนื่องจากพลังงานเป็นหัวข้อหลักในการประชุมตลอดทั้งวัน เรื่องจำเป็นสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้นำสู่การจัดประชุมสุดยอดเวทีพิเศษในด้านพลังงานของงานประชุม FII ซึ่งเนื้อหาของการประชุมเป็นการสำรวจขอบเขตเป้าหมายของความตกลงปารีส ให้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ในขณะที่บทบาทของเทคโนโลยีก็มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในการกำจัดก๊าซเรือนกระจก และเป็นย่างก้าวสู่การลดคาร์บอนทั่วโลก
เจ้าชาย อับดุลอะซีซ บิน ซัลมาน อาล ซะอูด (HRH Prince Abdulaziz bin Salman AlSaud) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทรงออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า "ราชอาณาจักรแห่งนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นแค่การเปลี่ยนแปลง เพราะยังมีความทะเยอทะยานที่จะเป็นแบบอย่างสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรคาร์บอน เรากำลังตั้งเป้าไปที่ความท้าทาย 3 ประการ คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน ความสามารถในการจ่าย และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนในด้านความยั่งยืนนั้น ความมุ่งมั่นที่เรามีต่อความตกลงปารีสยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เราไม่เพียงแค่ลงนามในความตกลงฉบับนี้เท่านั้น แต่ยังมีการเจรจาอย่างพิถีพิถันทุกรายละเอียด การดำเนินการตามความตกลงนี้ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำ"
คุณอาเจย์ บังกา (Ajay Banga) ประธานธนาคารโลก เสริมว่า "ภารกิจใหม่ของธนาคารโลกคือนอกจากจะมุ่งขจัดความยากจนและแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองแล้ว แต่ยังต้องทำให้แน่ใจว่าโลกใบนี้จะน่าอยู่ รวมไปถึงการจัดการกับวิกฤติและความท้าทายของโลกที่เกี่ยวพันกัน"
ในการประชุมความริเริ่มการลงทุนเพื่ออนาคต (Future Investment Initiative) ที่ดำเนินอยู่ในกรุงริยาด (24-26 ตุลาคม) มีผู้นำ นักลงทุน และนักสร้างสรรค์นวัตกรรม 6,000 คนจากทั่วโลก มาเข้าร่วมอภิปรายในกว่า 200 หัวข้อที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญ ซึ่งก็คือปัญหาด้านสุขภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความอยู่รอด
คุณริชาร์ด อัตเทียส (Richard Attias) ซีอีโอของสถาบันโครงการลงทุนเพื่ออนาคต (Future Investment Initiative) หรือ FII กล่าวว่า "อนาคตของค่านิยมสำหรับมนุษยชาติคืออนาคตที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ การไม่แบ่งแยก ความอดทน ความรู้ จริยธรรม และสันติภาพ นี่คืออนาคตที่เราตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลโลกของเรา และดูแลกันและกัน"
เกี่ยวกับสถาบัน FII
สถาบันโครงการลงทุนเพื่ออนาคต หรือสถาบัน FII คือมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและมีเครื่องมือการลงทุนและมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือการสร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อมนุษยชาติ เราดำเนินงานอย่างครอบคลุมในระดับโลก เราส่งเสริมผู้มีไอเดียดี ๆ จากทั่วโลกและเปลี่ยนไอเดียเหล่านั้นให้เป็นโซลูชันที่ใช้งานได้จริงในสี่ส่วนสำคัญด้วยกัน ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิทยาการหุ่นยนต์ การศึกษา การดูแลสุขภาพ และความยั่งยืน
รูปภาพ: https://mma.prnasia.com/media2/2257090/FII_Conference_Riyadh.jpg?p=medium600
โลโก้: https://mma.prnasia.com/media2/1811613/FII_Institute_Logo.jpg?p=medium600