omniture

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพเผย ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งเพิ่มขึ้นท่ามกลางการขาดแคลนอาหารและน้ำและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

The Institute for Economics and Peace
2023-11-01 13:00 116

ลอนดอน, 1 พ.ย. 2566 /PRNewswire/ -- สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) เปิดเผยรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (Ecological Threat Report) ประจำปี

 

การค้นพบที่สำคัญ

  • ภัยคุกคามทางระบบนิเวศ เช่น การเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงด้านแหล่งน้ำ และความไม่มั่นคงด้านอาหารจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่และความขัดแย้ง
  • หากความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้น 25% ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งก็จะเพิ่มขึ้น 36%
  • ในทำนองเดียวกัน หากจำนวนคนที่ไม่สามารถหาน้ำสะอาดดื่มได้เพิ่มขึ้น 25% โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งก็เพิ่มขึ้น 18%
  • ปัจจุบัน ผู้คน 1 พันล้านคนอาศัยอยู่ใน 42 ประเทศที่เผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารขั้นรุนแรง
  • 1 ใน 4 ของประชากรโลกไม่สามารถหาน้ำสะอาดดื่มเป็นประจำได้อย่างปลอดภัย
  • ภายในปี 2593 ผู้คน 2.8 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างรุนแรง เทียบกับ 1.8 พันล้านคนในปัจจุบัน
  • มากกว่า 60% ของอภิมหานครทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และอยู่ในประเทศที่มีความรุนแรงหรือความขัดแย้งในระดับสูง อภิมหานครเหล่านี้ขาดทรัพยากรทางการเงินเพื่อรองรับการเติบโตของประชากร

รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (ETR) วิเคราะห์ภัยคุกคามทางนิเวศทั่วโลก เพื่อประเมินว่าประเทศและพื้นที่ระดับส่วนภูมิภาคใดบ้างที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากวิกฤติความขัดแย้ง ความไม่สงบ และการพลัดถิ่นที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ รายงานครอบคลุมถึงประเทศและดินแดนเอกราช  221 แห่ง แบ่งออกเป็นพื้นที่ย่อย 3,594 แห่ง

การค้นพบหลักจากรายงาน ETR ตอกย้ำให้เห็นว่า หากเราไม่ร่วมมือกันปัญหา ระดับความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในปัจจุบันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่บานปลาย และกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ และเป็นแรงบังคับให้เกิดการย้ายถิ่นมากขึ้น

จำนวนประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างรุนแรงและความยืดหยุ่นทางสังคมต่ำเพิ่มขึ้นอีก 3 ประเทศ เป็น 30 ประเทศในปีที่แล้ว "ประเทศโซนสีแดง" เหล่านี้มีประชากรอาศัยอยู่ 1.1 พันล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 332 ล้านคน(1) ต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้นทั่วโลกยิ่งเพิ่มภาระให้แก่ประเทศเหล่านี้ที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอยู่แล้ว

ประเทศโซนสีแดง

มีอีกสามประเทศกลายเป็น "ประเทศโซนสีแดง" ได้แก่ ไนเจอร์ เอธิโอเปีย และเมียนมา โดยประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์จากการเผชิญภัยคุกคามทางนิเวศเพิ่มมากขึ้น ความยืดหยุ่นทางสังคมลดลง และความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น แต่ละประเทศประสบปัญหาความอดอยากและความรุนแรงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เช่น เอธิโอเปียมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ไนเจอร์มีการทำรัฐประหารโดยกองทัพ และเมียนมาก็มีความรุนแรงหลังรัฐประหารในปี 2564

ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและความขัดแย้งมีความเชื่อมโยงกันเป็นวัฏจักร โดยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรนำไปสู่ความขัดแย้ง และความขัดแย้งก็นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ซาเฮล ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยซาเฮลมีความบกพร่องขนานใหญ่ในด้านการปกครอง หลักนิติธรรม ความยากจนในระดับสูง และสภาพอากาศแปรปรวนในระยะเวลาสั้น ๆ

ความขัดแย้งมักลุกลามจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภูมิภาคเป็นอย่างน้อย(2) ปัจจุบันมีผู้คนมากกว่า 108 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่น ซึ่งเพิ่มขึ้น 24% ตั้งแต่ปี 2563 ประมาณ 30% ของการพลัดถิ่นทั้งหมดเคลื่อนตัวออกนอกประเทศบ้านเกิดมากกว่า 500 กิโลเมตร คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในยุโรปมาจากประเทศที่ระบบนิเวศถูกคุกคามและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง(6) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 29% ของการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในยุโรปมาจากซีเรีย และ 9% มาจากอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นทั้งสองแห่งนี้เป็นประเทศในโซนสีแดง

จากแนวโน้มในปัจจุบัน หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ประมาณการของ IEP แสดงให้เห็นว่าภายในปี 2593 ผู้คน 2.8 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างรุนแรง เทียบกับ 1.8 พันล้านคนในปี 2566

ปัญหาความขัดแย้ง การขาดแคลนอาหารและน้ำ

ความไม่มั่นคงด้านอาหารเกี่ยวข้องกับการขาดแคลนน้ำโดยตรง ETR ประมาณการว่า หากความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้น 25% ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งก็จะเพิ่มขึ้น 36% ในทำนองเดียวกัน หากความเสี่ยงด้านน้ำเพิ่มขึ้น 25% โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งก็เพิ่มขึ้น 18% พื้นที่ที่มีประวัติความขัดแย้งกันมาก่อนและขาดสถาบันที่เข้มแข็งถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด

ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 33% ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งยิ่งเพิ่มความเดือดร้อนต่อกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ปัจจุบัน 42 ประเทศเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรง โดยผู้คนเกือบสี่พันล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความไม่มั่นคงด้านอาหารสูงหรือรุนแรง ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่แอฟริกาใต้สะฮารา

ปัจจุบันผู้คนสองพันล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่สามารถหาน้ำสะอาดดื่มได้อย่างปลอดภัย ภายในปี 2583 ภูมิภาค MENA (ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ) จะมีปัญหาขาดแคลนน้ำคล้ายกับพื้นที่แอฟริกาใต้สะฮารา ขณะนี้ 8 จาก 12 ประเทศในรัสเซียและภูมิภาคยูเรเซียกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านน้ำที่สำคัญเช่นกัน ปัญหาเหล่านี้ยิ่งรุนแรงขึ้นจากปริมาณน้ำฝนต่ำและทอพอโลยีของพื้นที่เหล่านี้

เทรนด์เหล่านี้คาดว่าจะเลวร้ายลง โดยมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นมากกว่า 1.5°C ในช่วงศตวรรษที่ 21 ทำให้ยากต่อการรักษาอุณหภูมิให้สูงขึ้นไม่เกิน 2°C ผลที่ตามมาคือ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นและเป็นสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง(3)

ภัยธรรมชาติ ประชากร และความขัดแย้ง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ภัยแล้ง, น้ำท่วม, ไซโคลน และพายุเลวร้ายยิ่งขึ้น ประเทศที่มีระดับความยืดหยุ่นและสันติภาพต่ำมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเจ็ดเท่าของประเทศที่มีระดับดังกล่าวสูง ด้วยเหตุนี้ในปี 2565 กองทุนรับมือเหตุฉุกเฉินส่วนกลางของ UN (CERF) จึงได้จัดสรรงบประมาณ 35% เพื่อจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจาก 17% ในทศวรรษที่แล้ว

แรงกดดันด้านประชากรศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ ทำให้เกิดภาระหนักต่อทรัพยากรสาธารณะและความยืดหยุ่นทางสังคมโดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว ภายในปี 2593 คาดว่าประชากรในพื้นที่แอฟริกาใต้สะฮาราจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมากกว่า 60% ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อแหล่งอาหารและน้ำที่มีอยู่ นอกจากนี้ ภายในปี 2593 เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีในพื้นที่นี้จะมีจำนวนมากกว่าประชากรทั้งหมดของยุโรป แสดงให้เห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงในการกระจายตัวของประชากรทั่วโลก

สตีฟ คิลเลเลีย (Steve Killelea) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ IEP กล่าวว่า

"ในขณะที่เราเข้าใกล้การประชุม COP28 เข้ามาทุกขณะ รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศฉบับนี้เป็นเครื่องเตือนใจในเวลาที่เหมาะสมว่า ผู้นำจำเป็นต้องลงมือ ลงทุน และสร้างความยืดหยุ่นสำหรับอนาคต ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นกำลังเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างรุนแรงและขาดความยืดหยุ่นทางสังคมที่จำเป็นในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแต่จะทำให้ภัยคุกคามเหล่านี้เลวร้ายลงไปอีก

ประเทศที่มีสันติภาพเชิงบวก(4)ในระดับสูงย่อมมีความยืดหยุ่นทางสังคมในการแก้ปัญหาความท้าทายเหล่านี้ ในโลกที่เผชิญกับความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ความขัดแย้ง และการถูกบังคับให้ย้ายถิ่นเพิ่มขึ้น ผู้นำทั่วโลกจำเป็นต้องลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่เพิ่มขีดความสามารถที่สร้างความยืดหยุ่นเชิงบวก และขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ"

อภิมหานคร: มลภาวะและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

จำนวนอภิมหานคร(5) กำลังเพิ่มขึ้น และคาดว่าเมืองที่กลายเป็นอภิมหานครจะเพิ่มขึ้นจาก 33 เมืองเป็น 50 เมืองภายในปี 2593 ปัจจุบันมีผู้คนมากกว่า 267 ล้านคนอาศัยอยู่ในอภิมหานครต่าง ๆ ที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก อภิมหานครเหล่านี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอีก 30 ปีข้างหน้า แต่ขาดทรัพยากรทางการเงินในการรองรับการขยายตัว ส่งผลให้เกิดอาชญากรรม ความยากจน การจราจรติดขัด และมลภาวะเพิ่มมากขึ้น

ในแอฟริกา ทั้งไนจีเรียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกต่างมีเมืองหลายแห่งที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีรายได้ต่อหัวต่ำ โดย 60% จาก 50 อภิมหานครที่คาดไว้ดังกล่าวจะอยู่ในประเทศที่อยู่ในครึ่งล่างของดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index: GPI)

ผู้ลี้ภัยมากกว่า 60% และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 80% จะย้ายไปอาศัยอยู่ในเมือง ภายในปี 2593 70% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง โดยการเติบโตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำและมีระดับความรุนแรงสูง ตัวอย่างของเมืองลักษณะนี้ได้แก่ กินชาซา, เลกอส, ธากา และการาจี

ความขัดแย้งและเศรษฐกิจสีเขียว

ประเทศที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างหนักจะเผชิญความยากลำบากโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสีเขียว ตัวอย่างเช่น ดีอาร์คองโก, ลิเบีย, อิรัก, แองโกลา และติมอร์-เลสเต มีสัดส่วนมากกว่า 25% ของ GDP มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ประเทศเหล่านี้มีความท้าทายทางระบบนิเวศอย่างหนักและมีความยืดหยุ่นทางสังคมต่ำ จน GDP ของประเทศเหล่านี้อาจลดลงมากถึง 60% ในช่วงปี 2573-2583

เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ economicsandpeace.org และ visionofhumanity.org

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ

(1) ประเทศโซนสีแดงในปี 2566 ได้แก่

บุรุนดี


แคเมอรูน


ซิมบับเว 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก


สาธารณรัฐแอฟริกากลาง


เฮติ


ชาด


อิรัก

กินี


อิเควทอเรียลกินี


ลิเบีย

ไนเจอร์


เอริเทรีย


มาลี

สาธารณรัฐคองโก


เอธิโอเปีย


มอริเตเนีย

โซมาเลีย


กินี-บิสเซา


เมียนมา

ซูดานใต้


ซูดาน


ไนจีเรีย

อัฟกานิสถาน


ยูกันดา


เกาหลีเหนือ

(2) รายงานดัชนีสันติภาพโลก 2566 (Global Peace Index 2023)

(3) IPCC, 2023: Climate Change 2023: Synthesis Report. Contribution of Working Groups I, II and III to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [Core Writing Team, H. Lee and J. Romero (eds.)]. IPCC, Geneva, Switzerland, p71

(4) สันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) หมายถึงทัศนคติ ธรรมเนียม และโครงสร้างที่ช่วยสร้างและรักษาความสงบสุขในสังคม ดูแหล่งที่มาได้ที่ visionofhumanity.org/wp-content/uploads/2023/05/Positive-Peace-2023-briefing.pdf

(5) เมืองที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน

(6) รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ ปี 2564

เกี่ยวกับรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (ETR)

รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศฉบับที่สี่ เป็นการสำรวจดินแดนและรัฐเอกราช 228 แห่งทั่วโลก รายงานฉบับนี้มีความพิเศษตรงที่ใช้แนวทางแมชชีนเลิร์นนิงในหลายแง่มุมเพื่อผนวกการวัดความยืดหยุ่นกับข้อมูลทางระบบนิเวศที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อระบุประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศอันรุนแรงได้น้อยที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต

วิธีการจัดทำรายงาน

รายงาน ETR ประกอบด้วยผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่ล่าสุดและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั้งในส่วนของการเติบโตของประชากร การขาดแคลนน้ำ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยแล้ง อุทกภัย พายุไซโคลน และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รายงานยังใช้ Positive Peace Framework ของ IEP ในการระบุประเทศที่มีความยืดหยุ่นไม่มากพอที่จะปรับตัวหรือรับมือกับผลกระทบเหล่านี้ในอนาคต รายงานนี้รวบรวมข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ ธนาคารโลก, สถาบันทรัพยากรโลก, องค์การอาหารและการเกษตร, สหประชาชาติ, คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ศูนย์เฝ้าติดตามการผลัดถิ่นภายใน, คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน และสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์, บรัสเซลส์, นิวยอร์ก, เฮก เม็กซิโกซิตี และฮาราเร

โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/792052/IEP_Logo.jpg?p=medium600

 

Source: The Institute for Economics and Peace
Keywords: Banking/Financial Service Environmental Products & Services Food/Beverages Publishing/Information Service Environmental Issues Survey, Polls & Research Natural Disasters Public Interest
Related News