ฮ่องกง, 8 ธ.ค. 2566 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
มูลนิธิอีตานไพรซ์ (Yidan Prize Foundation) มูลนิธิการกุศลระดับโลกที่อยู่เบื้องหลังรางวัลการศึกษาอันทรงเกียรติของโลก เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอีตานไพรซ์ (Yidan Prize Summit) ในฮ่องกง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ "แนวคิดที่จุดประกายการเปลี่ยนแปลง: สู่แนวทางขับเคลื่อนการศึกษา"
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์และคิดวิพากษ์ให้แก่ผู้เรียนทุกคนถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองโลกที่รอบรู้รอบด้าน ทั้งนี้ เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับวิธีที่เราจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในปัจจุบันได้ดีขึ้น การประชุมสุดยอดอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 จึงได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย และมูลนิธิการกุศลมารวมตัวกันเพื่อสำรวจแนวคิดที่แปลกใหม่ในด้านการวิจัยและการปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดนี้มีพลังในการขยายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
ดร.ชาร์ลส์ เฉิน อีตาน (Dr Charles CHEN Yidan) ผู้ก่อตั้งรางวัลอีตานไพรซ์ ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลก พร้อมกับเน้นย้ำว่าแนวคิดสามารถจุดประกายการเปลี่ยนแปลงได้ "นักการศึกษาผู้มีวิสัยทัศน์ซึ่งมาอยู่กับเราที่นี่ในวันนี้ เชื่อมั่นในพลังแห่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงของความคิด วิสัยทัศน์ที่พวกเขามีร่วมกันนั้นช่วยสร้างความเข้าใจว่า นักเรียนทุกคนสามารถประสบความสำเร็จ และต้องประสบความสำเร็จ พวกเขาท้าทายให้เราคิดใหม่ว่าห้องเรียนที่ดีและแนวปฏิบัติในการสอนที่ดีนั้นเป็นอย่างไร ทั้งยังนำเราไปสู่ข้อสรุปว่า เราสามารถทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ การดำเนินการของนักการศึกษาเหล่านี้คือการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าสนับสนุนความเชื่อนี้"
โจ โคลอมบาโน (Joe Colombano) หัวหน้าสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศจีน ร่วมเปิดการประชุมด้วยการกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับความจำเป็นในการเริ่มการลงทุนครั้งใหม่และการคิดค้นนวัตกรรมในด้านการศึกษา เขาสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับความหมายของคุณภาพการศึกษาในปัจจุบัน และตั้งคำถามให้ฉุกคิดเพื่อปูทางสำหรับการอภิปรายในช่วงต่อไป เขาเน้นย้ำว่าการศึกษาต้องก้าวทันความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับเป้าหมายการศึกษาที่กว้างขึ้น โดยไม่เน้นไปที่การจ้างงานเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนทุกคนได้บรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเอง คุณโคลอมบาโนชี้ว่า การศึกษาที่มีคุณภาพไม่ได้เป็นเพียงแค่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อหนึ่ง แต่ยังเป็นตัวเร่งให้บรรลุเป้าหมาย SDG ทั้ง 17 ข้ออีกด้วย
ในการอภิปรายกลุ่มแรก ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) ได้ร่วมเสวนากับศาสตราจารย์ มิเชลีน (มิคกี้) ฉี (Michelene (Micki) Chi) อาจารย์ตำแหน่งรีเจนต์ส โปรเฟสเซอร์ (Regents Professor) และโดโรธี เบรย์ เอ็นดาวด์ โปรเฟสเซอร์ (Dorothy Bray Endowed Professor) ด้านวิทยาศาสตร์และการสอน ประจำวิทยาลัยครู แมรี ลู ฟุลตัน (Mary Lou Fulton Teachers College) แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตท ผู่ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์สาขาการวิจัยการศึกษา ประจำปี 2566 โดยเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับทฤษฎีความยึดมั่นผูกพันเชิงปัญญา (cognitive engagement) ของศ.มิคกี้ ที่เรียกว่า ICAP ซึ่งช่วยให้ครูผู้สอนมีกรอบการทำงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพในห้องเรียน โดยช่วยปรับปรุงวิธีการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับหลังมัธยมศึกษาขึ้นไป ดำเนินการอภิปรายโดยดร. คริสโตเฟอร์ โธมัส (Dr Christopher Thomas) ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือของมูลนิธิอีตานไพรซ์ ขณะที่ผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวถึงวิธีการที่กิจกรรมการเรียนรู้เชิงโต้ตอบ สร้างสรรค์ และเชิงรุก สามารถพัฒนาให้นักเรียนมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
ในการอภิปรายกลุ่มที่สอง ดร. ลอร่า ซาเวจ (Dr Laura Savage) กรรมการบริหาร อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น ฟันเดอร์ส กรุ๊ป (International Education Funders Group: IEFG) ได้พูดคุยกับผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจว่า นักเรียนจำนวนมากขึ้นจะสามารถเข้าถึงพลังการเปลี่ยนแปลงของการศึกษา สมาชิกสภาผู้ทรงคุณวุฒิอีตาน (Yidan Council of Luminaries) ได้แก่ ดร.รักมินี บาเนอร์จี (Dr Rukmini Banerji), วิกกี้ โคลเบิร์ต (Vicky Colbert) และเวนดี้ คอปป์ (Wendy Kopp) ต่างสะท้อนถึงประสบการณ์ร่วมที่ทั้งสามได้ประสบพบเจอมาเหมือน ๆ กันในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบ โดยอาศัยอิทธิพลของภารกิจร่วม และความเป็นผู้นำที่หยั่งรากลึกในท้องถิ่น ทั้งหมดได้พูดคุยเกี่ยวกับความสำคัญของการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ความร่วมมือที่เข้มแข็งกับภาครัฐและภาคประชาสังคม และวิธีที่ทุกคน ตั้งแต่ผู้ปกครองไปจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย สามารถเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้
สำหรับการประชุมในช่วงบ่ายเป็นการสำรวจตรวจสอบว่า โมเดลการศึกษารูปแบบใหม่ในระดับอุดมศึกษาสามารถทลายอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา (ทั้งในเชิง Accessibility และ Affordability) ได้อย่างไร ไช รีเชฟ (Shai Reshef) อธิการบดีและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี ออฟ เดอะ พีเพิล (University of the People) ผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการพัฒนาการศึกษา ได้ร่วมพูดคุยกับศาสตราจารย์อาเธอร์ เลอวีน (Professor Arthur Levine) อธิการบดีกิตติคุณของวิทยาลัยครูแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถรับประกันได้ว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจฐานความรู้ดิจิทัลและในระดับโลก นอกจากนี้ ไชยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการยอมรับศักยภาพของเทคโนโลยีออนไลน์แบบโอเพ่นซอร์ส เพื่อให้นักเรียนที่มีคุณสมบัติทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพได้
ในการประชุมช่วงสุดท้ายของวัน ลูซี่ เลค (Lucy Lake) และแองเจลีน มูริเมียร์วา (Angeline Murimirwa) เจ้าของรางวัลอีตานไพรซ์สาขาการพัฒนาการศึกษา ประจำปี 2563 ร่วมพูดคุยกับ แบลา ราซา จามิล (Baela Raza Jamil) ซีอีโอขององค์กรการศึกษา ไอดารา-เอ-ทาลีม-โอ-อากาฮี (Idara-e-Taleem-o-Aagahi) และรูธ กาจา (Ruth Kagia) อดีตผู้อำนวยการการศึกษาระดับโลกของธนาคารโลก เกี่ยวกับการผลักดันให้ทุกระดับชั้นของสังคมมีส่วนร่วมในภาคการศึกษา ทั้งหมดได้พูดคุยกันว่าการผลักดันให้กลุ่มชายขอบและกลุ่มเปราะบางเป็นหัวใจสำคัญของการกำหนดนโยบายนั้นถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษา และผ่านทางการศึกษา ผู้ร่วมอภิปรายระบุว่า การผลักดันการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมนั้นเป็นเรื่องที่กล้าหาญและถูกต้อง นักเรียนทุกคนต้องได้รับการศึกษาและการปกป้องคุ้มครอง การทับซ้อนและการทำงานร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบาย และนักวิจัยและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกระบวนการนี้
แสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ศาสตราจารย์มิเชลีน ฉี ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการวิจัยด้านการศึกษา ประจำปี 2566 และไช รีเชฟ ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการพัฒนาการศึกษา ประจำปี 2566 อย่างเป็นทางการในพิธีมอบรางวัลอีตานไพรซ์ ทั้งคู่ได้รับการยกย่องจากผลงานที่ยอดเยี่ยมในการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ศ.มิเชลิน ฉี และไช รีเชฟ ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาระดับโลกของมูลนิธิอีตานไพรซ์ และสภาผู้ทรงคุณวุฒิอีตาน
เปิดรับการเสนอชื่อผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาเข้าชิงรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2567
รางวัลอีตานไพรซ์เปิดรับการเสนอชื่อผู้ชิงรางวัลจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสหรือการเสนอชื่อผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ที่เว็บไซต์อีตานไพรซ์: https://yidanprize.org/the-prize-and-nominations/nominations
ศาสตราจารย์มิเชลีน ฉี ผู้คว้ารางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการวิจัยด้านการศึกษา ประจำปี 2566 เปิดการเสวนาในหัวข้อ ‘Rethinking how we teach based on how students learn: putting theory into practice’
ไช รีเชฟ ผู้คว้ารางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการพัฒนาการศึกษา ประจำปี 2566 ร่วมพูดคุยกับศาสตราจารย์อาเธอร์ เลอวีน ในหัวข้อ ‘Reimagining higher education: a new model for accessibility and affordability’
เกี่ยวกับมูลนิธิอีตานไพรซ์
มูลนิธิอีตานไพรซ์ (Yidan Prize Foundation) เป็นมูลนิธิการกุศลระดับโลก มีพันธกิจในการสร้างโลกที่ดีกว่าด้วยการศึกษา ด้วยรางวัลและเครือข่ายนักนวัตกรรม มูลนิธิอีตานไพรซ์สนับสนุนแนวคิดและการปฏิบัติทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่ชีวิตและสังคม
อีตานไพรซ์เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติด้านการศึกษา เพื่อยกย่องบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อทฤษฎีและการปฏิบัติด้านการศึกษา