มอนทรีออล, 15 กุมภาพันธ์ 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/
มิลา (Mila) สถาบันเอไอแห่งควิเบก (Quebec Artificial Intelligence Institute) ประกาศการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันในเมืองมอนทรีออล ระหว่างวันที่ 14 ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2567 ภายใต้หัวข้อ "การปกป้องสิทธิมนุษยชนในยุคแห่งเอไอ" (Protecting Human Rights in the Age of AI) โดยมีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำและพัฒนาความพยายามที่จำเป็นต่อการรวมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเข้ากับกลไกการกำกับดูแลเอไอ
มิลาได้รวบรวมตัวแทนระดับสูงจากสหประชาชาติ (UN), องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD), องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก (UNESCO), สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (IEEE), สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งสหรัฐ (NIST), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International), สภายุโรป (Council of Europe) และองค์กรอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อเข้าร่วมการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ ครอบคลุมการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เครื่องมือและตัวชี้วัดในการประเมินความเสี่ยง และความพร้อมของกลไกการแก้ไข การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของตารางภารกิจอย่างเป็นทางการขององค์กรหลักระหว่างประเทศในการร่วมกันหาจุดเชื่อมระหว่างธรรมาภิบาลด้านเอไอและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ
ความพยายามในการกำกับดูแลด้านเอไอทั่วโลกได้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลระดับชาติและองค์กรพหุภาคีส่วนใหญ่ได้กำหนดให้การกำกับดูแลด้านเอไอเป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องเร่งจัดการ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายส่วนใหญ่เกี่ยวกับการกำกับดูแลด้านเอไอและสิทธิมนุษยชนยังคงแยกออกจากกัน ส่งผลให้จุดเชื่อมในสองประเด็นนี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีการทำความเข้าใจมากเพียงพอ
นอกเหนือจากการอภิปรายเป็นคณะร่วมกับผู้นำจากชุมชนนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้กำหนดนโยบายแล้ว การประชุมคณะทำงานยังรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเข้าร่วมหารือในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สร้างเวทีสำหรับข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะช่วยกำหนดรูปแบบอนาคตของการกำกับดูแลด้านเอไอระหว่างประเทศ
ดูรายละเอียดโปรแกรมฉบับเต็มและรายชื่อวิทยากรที่ได้รับการยืนยันแล้วที่นี่
ข้อความจากบุคคลสำคัญ
"มิลามีความภูมิใจที่ได้รวบรวมเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากองค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม อุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและเอไอ เทคโนโลยีนี้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อสังคมของเรา เราจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเสนอคำแนะนำที่เป็นรูปธรรมในการกำกับดูแลด้านเอไอระหว่างประเทศที่ครอบคลุมและมีความรับผิดชอบ" – คุณเบนจามิน พรูดอม (Benjamin Prud'homme) รองประธานฝ่ายนโยบาย สังคม และกิจการระดับโลกของมิลา
"การประชุมด้านเอไอและสิทธิมนุษยชนที่จัดโดยมิลา เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก เนื่องจากเรายังมีโอกาสพิเศษในปีนี้ในการประชุมสุดยอดอนาคตแห่งสหประชาชาติ (United Nations Summit of the Future) เพื่อกำหนดอนาคตด้านดิจิทัลของเรา เราต้องแน่ใจว่าเอไอจะถูกใช้งานเพื่อประโยชน์ระดับโลกและมีการจัดการกับความเสี่ยงผ่านการกำกับดูแลด้วยบรรทัดฐานสากล ครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก" – คุณอามานดิพ ซิงห์ กิลล์ (Amandeep Singh Gill) รองเลขาธิการและผู้แทนด้านเทคโนโลยีประจำ สหประชาชาติ
"การเสวนาที่จัดโดยมิลาเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการบรรลุผลของโครงการริเริ่มเชิงนโยบายที่เด็ดขาดทั้งหมดในปี 2567 ทั้งนี้ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ความเป็นอยู่ที่ดี และการมีส่วนร่วม ยังเป็นความท้าทายที่สำคัญต่ออนาคตโดยรวมของเราและเอไอ ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีบทบาททุกคนในห่วงโซ่คุณค่าด้านเอไอจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับโซลูชันที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และทำให้แน่ใจว่าเอไอนั้นมีความน่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เราต้องรักษาและเดินหน้าการเรียนรู้ การพูดคุย และความไว้วางใจร่วมกันระหว่างนักเทคโนโลยีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม" – คุณคารีน เพอร์เซ็ต (Karine Perset) หัวหน้ากลุ่มสังเกตการณ์นโยบายด้านเอไอและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญประจำองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
เกี่ยวกับ มิลา
มิลา (Mila) ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์โยชัวร์ เบนจิโอ (Yoshua Bengio) จากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล เป็นสถาบันวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่รวบรวมไว้ซึ่งทีมนักวิจัยเฉพาะทางด้านจักรกลเรียนรู้กว่า 1,200 คน สถาบันตั้งอยู่ในเมืองมอนทรีออล มีภารกิจคือการเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมและการเติบโตด้านเอไอเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ มิลาเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกด้านการมีส่วนร่วมสำคัญในการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสร้างแบบจำลองภาษา การแปลอัตโนมัติ การจดจำวัตถุ และแบบจำลองเจเนอเรทีฟ เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ mila.quebec
สื่อมวลชนติดต่อ: อีริก อาช (Eric Aach), eaach@national.ca, (514) 569-3594