ปักกิ่ง, 26 ก.พ. 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ -- มณฑลต่าง ๆ ของจีนได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ไว้ตั้งแต่ 4.5 ถึง 8% ในจำนวนนี้ กว่า 20 ภูมิภาคตั้งเป้าดัน GDP ให้โตเกิน 5%
ที่น่าสนใจคือ มณฑลเหล่านี้จัดลำดับความสำคัญในทิศทางเดียวกัน ทั้ง "พลังขับเคลื่อนการผลิตใหม่" "การส่งเสริมการบริโภค" และ "การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ"
แนวคิด "พลังขับเคลื่อนการผลิตใหม่" ที่ว่านี้ หมายถึงกำลังการผลิตในรูปแบบใหม่ที่ได้มาจากนวัตกรรมและความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์และอุตสาหกรรมในอนาคต ในยุคข้อมูลที่ชาญฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ
มณฑลต่าง ๆ ได้สำรวจภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างพลังการผลิตใหม่ ๆ อย่างเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตทางชีวภาพ เศรษฐกิจอากาศยานบินต่ำ (low-altitude economy) และสาขาเกิดใหม่ต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีควอนตัมและชีววิทยาศาสตร์
มณฑลต่าง ๆ ยังได้พยายามนำข้อมูลมาบูรณาการเข้ากับการใช้งานจริง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย ตัวอย่างเช่น มณฑลเจ้อเจียงได้ตั้งเป้าดันมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมดิจิทัลแกนหลักขึ้นให้ได้ 9% และส่งเสริมให้องค์กรขนาดใหญ่ 85% ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
ในทำนองเดียวกัน หลาย ๆ มณฑลทางตะวันตกกำลังมองหาช่องทางใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านพลังการประมวลผล เพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยมีเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมอย่างชาญฉลาด และเสริมศักยภาพให้กับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางด้วยนวัตกรรมดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนมากกว่า 36% ของ GDP ในภูมิภาคนี้
นอกจากนี้ การส่งเสริมการพัฒนาภาคเอกชนยังกลายเป็นประเด็นสำคัญอีกด้วย โดยหลาย ๆ มณฑลวางแผนที่จะใช้นโยบายทางการเงิน เพื่อสนับสนุนองค์กรเอกชนที่มีบทบาทคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในส่วนสำคัญ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในโครงการวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญ และเชิญชวนภาคเอกชนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ในปีนี้ มณฑลเจียงซูวางแผนประกาศใช้นโยบายพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่กว่างซีเตรียมออกแนวทางแก่สถาบันการเงิน เพื่อยกระดับการสนับสนุนสินเชื่อครั้งแรกให้กับธุรกิจเอกชน นอกจากนี้ ไห่หนานยังเตรียมสร้างกองทุนเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่มีเครดิตดีแต่ประสบปัญหาทางการเงินชั่วคราวด้วย
ในขณะเดียวกัน มณฑลและเขตปกครองต่าง ๆ เช่น เจียงซี เหลียวหนิง ฉงชิ่ง และซานซี กำลังปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลเพื่อปกป้องสิทธิการลงทุน เพื่อขจัดอุปสรรคทางอ้อมในการเข้าสู่ตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจทุกประเภทจะแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน
สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นและเอื้ออำนวย ประกอบกับตลาดผู้บริโภคที่กว้างใหญ่ ล้วนดึงดูดให้องค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศมั่นใจกับโอกาสการลงทุนระยะยาวในจีน
บริษัทข้ามชาติรายใหญ่จากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เคเอฟซี (KFC) และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) ได้เพิ่มการลงทุนในจีนเมื่อไม่นานมานี้ โดยจีนยังคงเป็นจุดหมายการลงทุนแห่งสำคัญ เพราะมีศักยภาพสดใสในด้านนวัตกรรม รวมถึงแนวทางสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุม และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ
ในปี 2566 การลงทุนโดยตรงของเยอรมนีในจีนเพิ่มขึ้น 4.3% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.19 หมื่นล้านยูโร (1.27 หมื่นล้านดอลลาร์) ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของบุนเดสแบงก์ (Bundesbank) ที่วิเคราะห์โดยสถาบันไอดับบลิว (IW) นอกจากนี้ เยอรมนียังลงทุนในจีนคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 10.3% เมื่อเทียบกับการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดในปีที่แล้ว ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557
ตลาดผู้บริโภคเฟื่องฟู
ตลาดผู้บริโภคของจีนได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมาตั้งแต่ปี 2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครวมในปีที่แล้วอยู่ที่ 47.15 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 6.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 7.2% จากปีก่อนหน้า ส่วนยอดค้าปลีกออนไลน์เพิ่มขึ้น 11% โดยยอดขายสินค้าจับต้องได้ที่ขายทางออนไลน์นั้นคิดเป็นสัดส่วน 27.6% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด
ผาน เหอหลิน (Pan Helin) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เปิดเผยว่า การบริโภครูปแบบใหม่ ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ ได้ขยายช่องทางการขายที่มีอยู่ในตลาดผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น
การฟื้นฟูตลาดผู้บริโภคยังสะท้อนให้เห็นในภาคการท่องเที่ยวด้วย โดยในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมานี้ มีความกระตือรือร้นในการเดินทางปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เยี่ยมชมสถานที่ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสำคัญทั่วประเทศสูงถึง 123 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากถึง 22.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
กิจกรรมด้านการเดินทางและวัฒนธรรมที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ ยังเข้ามากระตุ้นการใช้จ่ายด้านความบันเทิงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเมื่อเวลา 13:15 น. ของเมื่อวันศุกร์ จีนกวาดรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิศเมื่อช่วงเทศกาลตรุษจีน (รวมถึงการขายล่วงหน้า) ทะลุหลัก 7 พันล้านหยวน (ประมาณ 983.3 ล้านดอลลาร์) ตามข้อมูลของเติ้งถ่า โปร (Dengta Pro) ซึ่งเป็นธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลของแพลตฟอร์มจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ชั้นนำของจีนอย่างเถาเพี่ยวเพี่ยว (Taopiaopiao)
คุณผานมองว่า การที่ผู้บริโภคต้องการคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นและประสบการณ์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการบริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แนวโน้มเช่นนี้ บวกกับความกระตือรือร้นที่เพิ่มมากขึ้นในการชอปปิงและกิจกรรมสันทนาการ บ่งชี้ว่าตลาดผู้บริโภคของจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง