บาร์เซโลนา, สเปน, 28 ก.พ. 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ -- ที่งานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส บาร์เซโลนา (MWC Barcelona) ประจำปี 2567 หัวเว่ย (Huawei) ได้จัดงานหัวเว่ย ทาเลนต์ ซัมมิต (Huawei Talent Summit) พร้อมประกาศความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการริเริ่มใหม่ ๆ ในการพัฒนาผู้มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการผู้นำรุ่นเยาว์ ไอทียู หัวเว่ย เจเนอเรชัน คอนเนกต์ (ITU-Huawei Generation Connect Young Leadership Programme) การประกาศดำเนินโครงการร่วมระหว่างหัวเว่ยกับสถาบันเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (UIL) ของยูเนสโก (UNESCO) ที่โมร็อกโก และโครงการสตาร์ตอัปของหัวเว่ย คลาวด์ (Huawei Cloud)
งานนี้จัดขึ้นในธีม "I C Talent: Nurturing Excellence in a Digital World" โดยมีผู้เข้าร่วมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ไอทียูและยูเนสโก เจ้าหน้าที่รัฐบาลกรีซ เคนยา และเม็กซิโก สตรีผู้นำในภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสตาร์ตอัปของหัวเว่ย คลาวด์ ไปจนถึงผู้เข้าร่วมโครงการซีดส์ ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์ (Seeds for the Future) และการแข่งขันชั้นนำรายการอื่น ๆ
ในการประชุมสุดยอดนี้ คุณมาริโอ มาเนียวิซ (Mario Maniewicz) ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยุสื่อสารของไอทียู ได้กล่าวในนามของดร.คอสมาส ซาวาซาว่า (Cosmas Zavazava) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาโทรคมนาคมของไอทียู ขณะเปิดตัวโครงการผู้นำรุ่นเยาว์ ไอทียู หัวเว่ย เจเนอเรชัน คอนเนกต์ ร่วมกับหัวเว่ยว่า "เยาวชนอายุ 18 ถึง 28 ปีสามารถส่งแนวคิดพัฒนาโครงการชุมชนที่มุ่งจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และรับเงินทุน คำปรึกษา และการฝึกอบรมเพื่อนำไปปฏิบัติจริงได้" เขากล่าวเสริมว่า "ผมขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมแบ่งปันอย่างกว้างขวางในเครือข่ายที่หลากหลายของคุณ และทำให้แน่ใจว่าเยาวชนจากทั่วทุกมุมโลกจะเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่นี้" สมัครร่วมโครงการได้ที่นี่: https://www.itu.int/generationconnect/GCYLP
หัวเว่ยได้ร่วมเป็นภาคีสมาชิกประจำกลุ่มพันธมิตรเพื่อการรู้หนังสือ (Global Alliance for Literacy หรือ GAL) ของยูเนสโกเมื่อปีที่แล้ว และได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก โดยในการประชุมสุดยอดนี้ คุณอิซาเบล เคมฟ์ (Isabell Kempf) ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ให้ความรู้ และให้ข้อมูลอัปเดตความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการของสถาบันเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตในเรื่องนี้ว่า "เรากำลังดำเนินโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างทักษะดิจิทัลของผู้ให้ความรู้เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือในหลาย ๆ ประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อการรู้หนังสือ วันนี้ ดิฉันภูมิใจที่จะประกาศว่า การสนับสนุนของหัวเว่ยช่วยให้เราเปิดตัวโครงการนี้ในราชอาณาจักรโมร็อกโกได้ด้วยเช่นกัน โครงการนี้จะช่วยให้ครู ผู้ฝึกสอน และผู้จัดการด้านการรู้หนังสือสำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่รวม 10,000 คน ใช้เทคโนโลยีได้ดีขึ้นทั้งในด้านการส่งเสริมการรู้หนังสือ และในการพัฒนาวิชาชีพของพวกเขา"
ในงานนี้ หัวเว่ยได้ประกาศเป็นสปอนเซอร์ประจำการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกหญิงประจำยุโรป (European Girls' Olympiad in Informatics หรือ EGOI) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการส่งเสริมเด็กผู้หญิงให้มีบทบาทในภาคเทคโนโลยี ผลักดันความเสมอภาคทางดิจิทัลในชุมชน และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในแวดวงเทคโนโลยี โดยคุณเอลจาคิม ชไรเวอร์ส (Eljakim Schrijvers) ซีอีโอของ EGOI ประจำปี 2567 ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดนี้ด้วย และกล่าวว่า "เรายินดีที่หัวเว่ยเข้ามายกระดับความพยายามในการปรับปรุงความหลากหลายในสาขา STEM ทั้งยังได้ตัดสินใจสนับสนุนการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกหญิงประจำยุโรปในปี 2567 ด้วย"
นอกจากนี้ บรรดาวิทยากรจากกรีซ เคนยา เม็กซิโก รวมถึงจากประเทศในแถบอาเซียน ยังได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่มีกับโครงการฝึกอบรมผู้มีความสามารถในท้องถิ่นของหัวเว่ยด้วย โดยคุณต้วน เสี่ยวเล่ย (Duan Xiaolei) ผู้จัดการทั่วไปประจำฝ่ายอีโคซิสเต็มสตาร์ตอัประดับโลกของหัวเว่ย คลาวด์ ก็ได้เปิดเผยแผนการต่าง ๆ ในการช่วยให้สตาร์ตอัปนำหัวเว่ย คลาวด์ ไปใช้ด้วย
คุณวิกกี จาง (Vicky Zhang) รองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กรของหัวเว่ย กล่าวว่า "หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นมาอย่างยาวนานในการบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลทั่วโลก ดิฉันมีความยินดีที่เห็นว่าโครงการความร่วมมือที่เราทำกับเหล่าพันธมิตรนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น ดิฉันหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการเหล่านี้มากขึ้น เราขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมเชื่อมต่อและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น เพราะหลายหัวดีกว่าหัวเดียว สิ่งนี้คือวิธีที่จะสร้างอนาคตที่มีความเสมอภาคทางดิจิทัลได้"
นับจนถึงปัจจุบัน โครงการฝึกอบรมผู้มีความสามารถและให้ความรู้ของหัวเว่ย มีการดำเนินการแล้วกว่า 150 ประเทศ และให้ประโยชน์ต่อผู้คนแล้วมากกว่า 2.83 ล้านคน