ลอนดอน, 18 มิถุนายน 2567 /PRNewswire/ -- สหราชอาณาจักรมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงลดลงกว่า 9,500 รายในปี 2567 รองจากจีน และมากกว่าสองเท่าของกว่า 4,200 รายที่เดินทางออกจากประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา ทำลายสถิติเดิมหลังจากที่จำนวนผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงในปี 2565 ลดลงกว่า 1,600 ราย ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแนวโน้มติดอันดับหนึ่งในฐานะดินแดนที่ดึงดูดความมั่งคั่งชั้นนำของโลกเป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยมีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงกว่า 6,700 รายตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปยังเอมิเรตส์ภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าเศรษฐีจากสหราชอาณาจักรและยุโรป
รายงาน Henley Private Wealth Migration Report 2024 ซึ่งเผยแพร่วันนี้โดย Henley & Partners บริษัทที่ปรึกษาด้านการย้ายถิ่นฐานการลงทุนระหว่างประเทศ นำเสนอข้อมูลการไหลเข้าและออกของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีทั่วโลก รวมถึงการจัดอันดับ W15 ซึ่งเป็นประเทศ 15 อันดับแรกของโลกที่เศรษฐี เศรษฐีร้อยล้าน และมหาเศรษฐีเลือก
จีนกำลังขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐีไหลออกรายใหญ่ที่สุดของโลกอีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงไหลออกสุทธิกว่า 15,200 รายในปีนี้ (เทียบกับ 13,800 รายในปี 2566) ในขณะที่อินเดียสามารถสกัดกั้นการไหลออกของความมั่งคั่งได้ โดยตกลงมาอยู่ในอันดับ 3 รองจากสหราชอาณาจักรที่คาดว่าจะมีเศรษฐีจำนวน 4,300 รายเดินทางออกนอกประเทศในปี 2567 (เทียบกับ 5,100 รายในปีที่ผ่านมา) ด้านเกาหลีใต้มีแนวโน้มการไหลออกของผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงเพิ่มขึ้นแตะที่ 1,200 ราย (เทียบกับ 800 รายในปี 2566) ในขณะที่จำนวนเศรษฐีที่เดินทางออกจากรัสเซียหลังสงครามยูเครนปะทุขึ้นมีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ 1,000 รายในปีนี้ (เทียบกับ 8,500 รายในปี 2565 และ 2,800 รายในปี 2566)
Dominic Volek หัวหน้ากลุ่มลูกค้าเอกชนของ Henley & Partners กล่าวว่า ปี 2567 จะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการโยกย้ายของความมั่งคั่งทั่วโลก: "จำนวนเศรษฐีกว่า 128,000 รายจะย้ายที่อยู่ทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในปีนี้ ซึ่งมากกว่าสถิติเดิมที่ 120,000 รายในปี 2566 ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอยู่นี้ เศรษฐีทั้งหลายต่างแสดงออกผ่านการย้ายถิ่นฐานมากที่สุดประวัติการณ์"
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงเป็นแหล่งดึงดูดเศรษฐีชั้นนำของโลก
ด้วยภาษีเงินได้เป็นศูนย์ วีซ่าทอง ไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา และที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คือจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลกสำหรับเศรษฐีที่ต้องการย้ายถิ่นฐาน ความพร้อมในการดึงดูดเศรษฐีเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้ที่แห่งนี้มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการไหลเข้าของเศรษฐีกว่า 3,800 รายในปี 2567
ด้านสิงคโปร์คว้าอันดับที่ 3 อีกครั้งในปีนี้ด้วยจำนวนการไหลเข้าสุทธิของเศรษฐีจำนวน 3,500 ราย ตามมาด้วยจุดหมายปลายทางยอดนิยมตลอดกาลสำหรับเศรษฐีอย่างแคนาดาและออสเตรเลียในอันดับที่ 4 และ 5 ด้วยการไหลเข้าสุทธิที่ 3,200 รายและ 2,500 รายตามลำดับ ขณะที่ประเทศโปรดของชาวยุโรปอย่างอิตาลี (+2,200) สวิตเซอร์แลนด์ (+1,500) กรีซ (+1,200) และโปรตุเกส (+800) ต่างติด 10 อันดับแรกในปีนี้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่มีฐานะร่ำรวยย้ายเข้าประเทศกว่า 400 ราย โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงจากจีนที่ย้ายไปโตเกียวหลังช่วงโควิด
ประเทศอื่น ๆ ที่มีจำนวนเศรษฐีไหลออกมากที่สุดในปี 2567
นอกจากจีน สหราชอาณาจักร อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซียแล้ว ประเทศที่ติดอันดับจำนวนเศรษฐีไหลออกมากที่สุด 10 อันดับแรกยังประกอบด้วยบราซิล โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีมหาเศรษฐีไหลออกกว่า 800 ราย ตามด้วยแอฟริกาใต้ (-600) ไต้หวัน (-400) และเวียดนามและไนจีเรียที่ 300 ราย
ดร. Hannah White OBE กรรมการและซีอีโอประจำ Institute for Government ในลอนดอนกล่าวว่า ผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงย้ายออกจากประเทศอื่น ๆ เหล่านี้ด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างแตกต่างจากสหราชอาณาจักร: "จีนและอินเดียมีการไหลออกสุทธิของผู้มีความมั่งคั่งสุทธิสูงเนื่องจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของตนที่สร้างเศรษฐีรุ่นใหม่ แม้ว่าการชะลอตัวของการเติบโตของความมั่งคั่งในประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาจหมายถึงความสูญเสียในระยะยาวที่จะสร้างความเสียหายมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ รวมถึงบราซิล เวียดนาม แอฟริกาใต้ และไนจีเรีย ด้านเศรษฐีชาวอินเดียมักย้ายออกจากประเทศเพื่อค้นหาวิถีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะอาดยิ่งขึ้น รวมถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ภัยคุกคามและความไม่แน่นอนในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับจุดยืนด้านความมั่นคงของอเมริกาภายหลังทรัมป์มีโอกาสคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ หมายความว่าเกาหลีใต้และไต้หวันจะยังคงมีจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสุทธิไหลออกมากขึ้น"
การย้ายถิ่นฐานของเศรษฐีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกำลังกระตุ้นให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในภาคส่วนการลงทุนเพื่อการย้ายถิ่นฐาน โดย Henley & Partners ได้รับการสอบถามเกี่ยวกับการพำนักอาศัยและการขอสัญชาติผ่านการลงทุนมากเป็นประวัติการณ์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก โดยสองสัญชาติแรกที่ผลักดันความต้องการย้ายถิ่นในปัจจุบันได้แก่ชาวอเมริกันและชาวอินเดีย ตามด้วยชาวอังกฤษ ฟิลิปปินส์ และชาวแอฟริกาใต้ที่ติด 10 อันดับแรกเช่นเดียวกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา