omniture

การประชุมประจำปีของ ESHRE ครั้งที่ 40: การศึกษาชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศเชื่อมโยงกับความสำเร็จของอัตราการคลอดเด็กหลอดแก้ว (IVF) ที่ลดลง

ESHRE 40th Annual Meeting
2024-07-08 06:01 82

อัมสเตอร์ดัม, 7 กรกฎาคม 2567 /PRNewswire/ -- การศึกษานำร่องซึ่งนำเสนอในวันนี้ที่การประชุมประจำปีของ ESHRE ครั้งที่ 40 ในอัมสเตอร์ดัม ได้เผยให้เห็นว่าการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ก่อนการเก็บไข่ (oocyte) ระหว่างกระบวนการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ลดโอกาสในการคลอดมีชีวิตลงเกือบ 40%

การศึกษาชิ้นนี้วิเคราะห์การรับสัมผัสฝุ่น PM10 ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนการเก็บไข่ โดยพบว่าโอกาสในการคลอดมีชีวิตลดลงถึง 38% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างควอร์ไทล์สูงสุดของการรับสัมผัสกับควอร์ไทล์ต่ำที่สุด

การศึกษาชิ้นนี้จัดทำตลอดระยะเวลาแปดปีในเพิร์ท ออสเตรเลีย โดยได้วิเคราะห์การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งจำนวน 3,659 ครั้งจากผู้ป่วย 1,836 คน ทั้งนี้ การศึกษาได้ตรวจสอบความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในช่วงเวลาที่รับสัมผัสก่อนการเก็บไข่สี่ระยะ (24 ชั่วโมง, 2 สัปดาห์, 4 สัปดาห์, และ 3 เดือน) พร้อมโมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อนำการรับสัมผัสร่วมไปพิจารณา

นอกจากนี้ การสัมผัส PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลา 3 เดือนก่อนการเก็บไข่ยังมีความเชื่อมโยงกับโอกาสของการคลอดมีชีวิตที่ลดลง จาก 0.90 ในควอไทล์ที่สองเหลือ 0.66 ในควอไทล์ที่สี่

สิ่งที่สำคัญ คือ ยังคงสามารถสังเกตพบผลกระทบเชิงลบของมลพิษทางอากาศแม้จะมีคุณภาพอากาศโดยรวมที่ดีเยี่ยมในช่วงระยะเวลาที่ทำการศึกษา โดยมีระดับ PM10 และ PM2.5 ที่เกินแนวทางของ WHO เพียง 0.4% และ 4.5% ตามลำดับ ในวันที่ทำการศึกษา

ดร. Sebastian Leathersich ผู้นิพนธ์หลักของการศึกษาชิ้นนี้อธิบายว่า "นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่ใช้รอบการย้ายตัวอ่อนแช่แข็งเพื่อแยกการวิเคราะห์ผลกระทบของการรับสัมผัสมลพิษ ในระหว่างการพัฒนาไข่และในราวช่วงเวลาของการย้ายตัวอ่อนและการตั้งครรภ์ในระยะแรก ดังนั้น เราจึงสามารถประเมินได้ว่ามลพิษมีผลกระทบต่อไข่เอง หรือมีผลกระทบต่อระยะแรกของการตั้งครรภ์"

ดร. Leathersich กล่าวต่อว่า "แม้ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศดีเยี่ยม แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์เชิงลบอย่างสูงระหว่างปริมาณของมลพิษทางอากาศและอัตราการคลอดมีชีวิตในรอบการย้ายตัวอ่อนแช่แข็ง ในด้านสาธารณสุข ต้องให้ความสำคัญในลำดับสูงกับการลดการรับสัมผัสมลพิษให้น้อยที่สุด"

ศาสตราจารย์ ดร. Anis Feki ประธานผู้รับเลือกของ ESHRE ให้ความเห็นว่า "การศึกษาที่สำคัญนี้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างมลพิษทางอากาศและอัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ที่ลดลง โดยมีอัตราคลอดมีชีวิตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดซึ่งเชื่อมโยงกับการรับสัมผัสฝุ่นละอองที่สูงขึ้นก่อนการเก็บไข่ การค้นพบเหล่านี้เน้นถึงความจำเป็นที่ต้องให้ความเอาใจใส่ต่อปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการดูแลสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์"

บทคัดย่อของการศึกษานี้จะได้รับการตีพิมพ์ในวันนี้ในวารสาร Human Reproduction ซึ่งเป็นหนึ่งในวารสารชั้นนำของโลกด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

Source: ESHRE 40th Annual Meeting
Keywords: Environmental Products & Services Health Care/Hospital Medical/Pharmaceuticals Survey, Polls & Research Women-related news