รีโอเดจาเนโร, 25 กรกฎาคม 2567 /PRNewswire/ -- ในงานอีเวนท์ที่จัดขึ้นร่วมกันของ G20-COP28 ว่าด้วยการเงินเพื่อความยั่งยืน ในวันนี้บราซิลได้สนับสนุนแถลงการณ์ผู้นำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าด้วยกรอบการทำงานการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศระดับโลก (UAE Declaration of Leaders on a Global Climate Finance Framework) ออกโดยผู้นำรายสำคัญของโลกที่การประชุม COP28 ซึ่งสร้างกระแสแนวโน้มสู่เป้าหมายของกรอบการทำงานในการพัฒนาสถาปัตยกรรมการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศใหม่ ที่ปลดล็อกโอกาสการลงทุนในการลงมือด้านสภาพภูมิอากาศ
การสนับสนุนจากบราซิล ซึ่งจะเป็นผู้จัด COP30 ในปี 2568 ทำให้เกิดความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างเป้าหมายของฝ่ายประธานสมัชชาภาคีอนุสัญญา COP กับ G20 เพื่อทำให้การเงินเพื่อความยั่งยืนมีการดำเนินงานมากขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น และมีต้นทุนที่แบกรับได้มากขึ้น
รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Fernando Haddad ประกาศการสนับสนุนครั้งนี้ในกรุงรีโอเดจาเนโรในวันนี้ โดยเป็นส่วนเสริมของการประชุมรัฐมนตรีการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G20 ในการนี้ บราซิลเป็นประเทศ G20 ประเทศที่หกที่สนับสนุนกรอบการทำงานดังกล่าวนี้ ร่วมกับฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอินเดีย
จนถึงปัจจุบัน 15 ประเทศที่มีส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในจีดีพีโลกได้เข้าร่วมกรอบการทำงานนี้ในฐานะผู้ลงนาม
การสนับสนุนของบราซิลยังจะทำให้แน่ใจว่าจะมีความต่อเนื่องมากขึ้นใน COPs ในอนาคต ฝ่ายประธานทั้งสามของ COP (COP Presidencies Troika) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาเซอร์ไบจาน และบราซิล ได้เดินหน้ายกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อปิดช่องว่างการระดมทุนสำหรับสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยกระดับความทะเยอทะยานในรอบต่อไปของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions หรือ NCDs)
"เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ระบุในฉันทามติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE Consensus) เราจำเป็นต้องมีแหล่งการระดมทุนทุกประเภท ทั้งสาธารณะ เอกชน และการกุศล" His Excellency Mohamed Al Hussaini รัฐมนตรีการคลังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าว "การลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศจะต้องถือว่าเป็นโอกาสอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งร่วมกัน กรอบการทำงานการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศระดับโลกของ COP28 มอบหมายให้รัฐมนตรีการคลังมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนสิ่งนี้ไปข้างหน้า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พร้อมที่จะจัดการกับช่องว่างด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนด้วยการลงมือทำที่เป็นรูปธรรม
"เรายินดีสำหรับการสนับสนุนกรอบการทำงานโดยบราซิลในวันนี้ การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้แน่ใจว่าความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นใน COP28 นอกจากจะได้รับการค้ำจุนโดยบราซิลผ่านเป้าหมายที่ทะเยอทะยานว่าด้วยการเงินเพื่อความยั่งยืนระหว่างดำรงตำแหน่งประธาน G20 ยิ่งไปกว่านั้นยังจะได้รับการสานต่อผ่านบทบาทของบราซิลในฐานะเจ้าภาพ COP30 ในปี 2568 อีกด้วย"
"เป้าหมายด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนของเราใน G20 มุ่งเน้นการผลักดันการปฏิรูปสถาปัตยกรรมการเงินโลกเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในโลก อีกทั้งยังสอดคล้องเป็นอย่างดีกับกรอบการทำงานการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศระดับโลก เราเล็งเห็นคุณค่าอย่างมากในการส่งเสริมความสอดคล้องระหว่างผลงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนของ G20 กับ COP" เอกอัครราชทูต Tatiana Rosito ผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายการต่างประเทศประจำกระทรวงการคลังของบราซิล และผู้ประสานงานสายการเงินของ G20 กล่าว
"กรอบการทำงานการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศระดับโลกนำเสนอความพยายามที่ครอบคลุมแบบองค์รวมเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปลดล็อกการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศที่จำเป็นต้องมีเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นปัจจัยส่งเสริมสำคัญสำหรับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ NCDs รอบต่อไป ตลอดจนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงยืดหยุ่นในการตั้งรับปรับตัว" คุณ Majid Al Suwaidi ผู้อำนวยการใหญ่ของ COP28 กล่าว
"ในฐานะแชมเปียนแห่งโลกใต้ การสนับสนุนกรอบการทำงานดังกล่าวนี้โดยบราซิลจะทำให้เกิดความสอดคล้องมากขึ้นระหว่างเป้าหมายการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ทะเยอทะยานของฝ่ายประธาน G20 อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางสังคมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสร้างความต่อเนื่องในการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศจากบากูสู่เบเล็งและนอกเหนือจากนั้น"
กรอบการทำงานการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศระดับโลก สานต่อจากกระแสแนวโน้มของโครงการริเริ่มอย่าง Bridgetown Agenda ที่สนับสนุนโดย Hon. Mia Mottley และการประชุมสุดยอดแอฟริกาว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ (Africa Climate Summit) ที่สนับสนุนโดยประธานาธิบดี Ruto ทั้งนี้ กรอบการทำงานนี้มอบแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งในการวัดความก้าวหน้าที่บรรลุโดยตัวแสดงที่สำคัญทั้งหมดในด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (MDB) และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IFI)
กรอบการทำงานดังกล่าวนี้มอบหลักการที่กำหนดนิยาม 10 ประการ ครอบคลุมทุกด้านสำหรับการลงมือทำในเป้าหมายทางการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการปฏิรูป MDB และ IFI การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มระดับประเทศ ตลอดจนการบรรลุพันธกิจที่มีอยู่ อย่างเช่น การระดมทุนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และการเติมกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund)