การขยายสำนักงานของสถาบันจะช่วยเปิดโอกาสในการเติบโตและการทำงานร่วมกันสำหรับบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เคมบริดจ์, แมสซาชูเซตส์, 28 สิงหาคม 2567 /PRNewswire/ -- MIT Sloan School of Management เตรียมเปิดสำนักงานระหว่างประเทศแห่งที่สองของสถาบันภายใต้ชื่อ MIT Sloan Office for Southeast Asian Nations (MSAO) โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2567 ที่กรุงเทพฯ มอบโอกาสมากมายในการขยายการให้บริการด้านการศึกษา การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ และการจัดงานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN)
"การขยายสำนักงานของ MIT Sloan ในภูมิภาคอาเซียนเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก" Georgia Perakis คณบดีตำแหน่ง John C Head III (ตำแหน่งรักษาการ) ประจำ MIT Sloan School of Management กล่าว "MIT Sloan Office for Southeast Asian Nations ไม่เพียงแต่จะสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการที่ดำเนินอยู่ของนักศึกษาปัจจุบันของเราเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราสามารถขยายขอบเขตการให้ความสำคัญไปยังด้านต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ และอนาคตของการทำงานได้อีกด้วย"
การตั้งสำนักงาน MIT Sloan ในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมและความร่วมมือร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น บริษัทต่าง ๆ รวมถึงองค์กรของรัฐมากขึ้น การเข้าถึงเหล่านี้จะปูทางไปสู่การสัมมนา การบรรยาย และการประชุมประจำปีในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ โครงการวิจัยส่วนหนึ่งที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การขยายตัวของเมืองและความพร้อมรับมือ ความท้าทายด้านน้ำและเกษตรกรรม ตลอดจนความพร้อมและการติดตามวัคซีน
"MIT ยังคงเติบโตในภูมิภาคอาเซียนโดยมีศิษย์เก่ามากกว่า 1,900 คน นอกจากนี้ คณาจารย์และนักศึกษาของเรายังคงมีความสนใจที่ดึงดูดพวกเขามายังภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้รวบรวมสมาชิกของชุมชน MIT Sloan ทั่วทั้งภูมิภาคนี้เข้าด้วยกัน" Kathryn Hawkes รองคณบดีอาวุโส ฝ่ายการมีส่วนร่วมภายนอกของ MIT Sloan กล่าว "นี่คือโอกาสที่จะสร้างประโยชน์ให้กับภูมิภาคในอนาคต และต่อยอดงานสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการและวางแผน เพื่อนำไปสู่โปรแกรมทางวิชาการ การวิจัย และการสร้างความสัมพันธ์ในอนาคต"
นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา นักศึกษามากกว่า 700 คนได้เข้าร่วมในการเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านโครงการการเรียนรู้เชิงปฏิบัติของ MIT Sloan เกือบ 200 โครงการในหลักสูตรระดับปริญญาโท 5 หลักสูตร ซึ่งจัดโดยบริษัท 96 แห่งทั่วกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักศึกษาได้ประชุมร่วมกันในหัวข้อต่าง ๆ เช่น ฟินเทค ผู้สูงอายุ และเศรษฐกิจ และอื่น ๆ
"นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับเราที่จะได้เปิดสำนักงานระหว่างประเทศแห่งที่สอง ต่อจากสำนักงาน MIT Sloan ในซานติอาโก ประเทศชิลี ซึ่งให้บริการทั่วทั้งภูมิภาคลาตินอเมริกา" David Capodilupo รองคณบดี ฝ่าย Global Programs ของ MIT Sloan กล่าว "เช่นเดียวกับสำนักงานในลาตินอเมริกาของเรา เรามุ่งหวังที่จะต่อยอดความร่วมมือที่มีอยู่ร่วมกับผู้นำธุรกิจและผู้ประกอบการที่เป็นที่รู้จักในภูมิภาค และมีส่วนร่วมกับเครือข่ายศิษย์เก่าและผองเพื่อนจาก MIT Sloan ในอาเซียนที่กำลังเติบโตของเรา"
สำนักงานแห่งใหม่นี้จะช่วยให้ MIT Sloan สามารถต่อยอดกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ในภูมิภาคนี้ผ่านโครงการ Global Programs เช่น โครงการ MIT Regional Entrepreneurship Acceleration Program, โครงการ Innovative Dynamic Education and Action for Sustainability, และโครงการ MIT Sloan Visiting Fellows Program ชุดประสบการณ์ทางการศึกษาเหล่านี้จะยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไปผ่านการเสริมสร้างระบบนิเวศผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในภูมิภาค และการสร้างผู้นำด้วยความรู้ ทักษะ และกรอบการทำงานเพื่อพลิกโฉมรูปแบบความเป็นผู้นำร่วมกัน
นอกจากนี้ MSAO ยังจะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในภูมิภาค เช่น Asia School of Business ซึ่งเป็นสถาบันความร่วมมือในกัวลาลัมเปอร์ที่ก่อตั้งขึ้นผ่านการสนับสนุนจาก Bank Negara Malaysia รวมถึงเปิดสอนหลักสูตร MBA, Executive MBA และปริญญาโทสาขาการธนาคารกลางแก่นักศึกษา
"MIT Sloan School of Management อยู่ในสถานะที่ไม่เหมือนใครในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อภูมิภาคอาเซียนผ่านคณาจารย์และโปรแกรมระดับโลก" ชาติศิริ โสภณพนิช (SM '83, SM '84) ประธานธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นธนาคารผู้บริจาคที่ทำงานร่วมกับ MIT Sloan ในภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ปี 2557 กล่าว "เรามอง MSAO เป็นช่องทางในการเสริมสร้างความร่วมมือที่มีอยู่เดิม รวมถึงเครือข่ายโอกาสใหม่ ๆ ที่จะส่งผลทั่วทั้งภูมิภาค"
นอกจากธนาคารกรุงเทพแล้ว ผู้บริจาครายอื่น ๆ ทั้งที่เป็นการบริจาคทุนสนับสนุนและการบริจาคผ่านกองทุนแบบถาวรสะสม ยังประกอบด้วยอินโดรามา เวนเจอร์ส, เอ็มคิวดีซี, สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) และอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น เป็นต้น
"สถาบัน MIT มุ่งมั่นในการวิจัยที่ล้ำสมัยเพื่อเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ มากมายในทุกด้านของความยั่งยืนในภูมิภาค" ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานและซีอีโอของ SCG กล่าว "เราตั้งตารอที่จะได้เห็นผลของตั้งสำนักงาน MIT Sloan แห่งใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน"
"เราตั้งตารอการเปิดสำนักงาน MIT Sloan Office for Southeast Asian Nations และยินดีต้อนรับการมีส่วนร่วมของ MIT Sloan ในภูมิภาคของเรา" Aloke Lohia ซีอีโอของอินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าว "นอกเหนือจากการมุ่งเน้นไปที่ความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดหลายประการในภูมิภาคนี้แล้ว อิทธิพลของ MIT Sloan ยังจะช่วยกระตุ้นผลทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย"
ในเดือนตุลาคมนี้ MSAO ยังจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นในกรุงเทพฯ ประกอบด้วยพิธีตัดริบบิ้นเปิดสำนักงานแห่งใหม่ งานรวมศิษย์เก่า และการประชุมครั้งแรกในหัวข้อ "Beyond Years: The Future of Longevity" นำโดยผู้เชี่ยวชาญจาก MIT และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนเพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบของการมีอายุที่ยืนยาวยิ่งขึ้น
สื่อมวลชนติดต่อ: Casey Bayer, bayerc@mit.edu
โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/2490966/MIT_Sloan_School_of_Management_Logo.jpg?p=medium600