ปักกิ่ง, 3 กันยายน 2567 /PRNewswire/ -- โครงการพลังงานลมอดามา (Adama) ตั้งอยู่ห่างจากกรุงแอดดิสอาบาบาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 95 กิโลเมตร ที่ใจกลางของรอยเลื่อนแอฟริกาตะวันออก (East African Rift) โดยมีจุดเด่นน่าสนใจเป็นกังหันลมสีขาวสูงถึง 80 เมตร โครงการนี้สร้างขึ้นโดยบริษัทของจีน และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศในทวีปแอฟริกา
ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2558 กังหันลมเหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญให้แก่ประชาชนราว 600,000 ครัวเรือน โดยช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนพลังงานในเอธิโอเปีย ลดความจำเป็นในการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล และส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงานในท้องถิ่นประมาณ 2,100 ตำแหน่ง และมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เข้าร่วมในการฝึกอบรมและบำรุงรักษา ประสบการณ์ที่ได้จากภาคปฏิบัติจริงนี้ช่วยเตรียมผู้คนจำนวนมากให้มีความพร้อมสำหรับบทบาทอนาคตในภาคพลังงานลมของเอธิโอเปีย
นอกจากนี้ เมืองอดามายังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 324,000 คนในปี 2558 เป็นกว่า 480,000 คนในปี 2566 โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงดีขึ้นและการลงทุนยังสามารถดึงดูดธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเมืองอย่างรวดเร็ว สำหรับชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง การปรับปรุงการคมนาคมขนส่ง ระบบไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ และการเข้าถึงการศึกษาและการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้อย่างมาก
บริษัทของจีนได้นำเทคโนโลยีสีเขียวขั้นสูงมาสู่เอธิโอเปีย ช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียน ความร่วมมือนี้ยังมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
จีนและประเทศในทวีปแอฟริกามีมิตรภาพที่ยาวนานมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดความร่วมมือเพิ่มขึ้นผ่านโครงการริเริ่มต่าง ๆ เช่น โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) โดยโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ตั้งแต่ทางรถไฟและถนนไปจนถึงฟาร์มกังหันลมและโรงไฟฟ้า รวมถึงโรงเรียนและโรงพยาบาล ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของแอฟริกาทั่วทั้งทวีป
ตัวอย่างเช่น ทางรถไฟแอดดิสอาบาบา - จิบูตี (Addis Ababa-Djibouti) ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อเอธิโอเปียและจิบูตีสามารถลดเวลาการเดินทางลงได้อย่างมาก ทั้งยังลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น จนถึงปัจจุบัน ทางรถไฟสายนี้ได้ขนส่งผู้โดยสาร 680,000 คน และสินค้าจำนวน 9.5 ล้านตัน โดยมีอัตราการเติบโตด้านรายได้เฉลี่ยต่อปี 39%
จากข้อมูลของเอกสารปกขาว "จีนและแอฟริกาในยุคใหม่: ความร่วมมือในฐานะพันธมิตรที่เท่าเทียมกัน" (China and Africa in the New Era: A Partnership of Equals) ซึ่งเผยแพร่โดยคณะมุขมนตรีของจีนในปี 2564 นับตั้งแต่การจัดตั้งการประชุมว่าด้วยความร่วมมือจีน-แอฟริกา (Forum on China-Africa Cooperation: FOCAC) ในปี 2543 บริษัทของจีนได้ช่วยประเทศในทวีปแอฟริกาสร้างหรือปรับปรุงเส้นทางรถไฟกว่า 10,000 กิโลเมตร ทางหลวงเกือบ 100,000 กิโลเมตร สะพานประมาณ 1,000 แห่ง ท่าเรือเกือบ 100 แห่ง และสายส่งและจ่ายพลังงานไฟฟ้าความยาว 66,000 กิโลเมตร
สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
นอกจากโครงการ BRI แล้ว จีนและประเทศในทวีปแอฟริกายังได้พัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วยปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินค้าโภคภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาติดต่อกันเป็นเวลา 15 ปี ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรของจีนแสดงให้เห็นว่าการค้าระหว่างจีนและแอฟริกาสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 282.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 โดยเพิ่มขึ้น 1.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบปีต่อปี และการค้าระหว่างจีนและแอฟริกาเพิ่มขึ้น 5.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบปีต่อปี เป็น 1.19 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 166.6 พันล้านดอลลาร์) ระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม
Sang Baichuan คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของจีนกล่าวว่า การค้าระหว่างจีนและแอฟริกาเติบโตอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยเขากล่าวว่า เศรษฐกิจของจีนและประเทศในแอฟริกามีความเกื้อกูลกันอย่างสูง เนื่องจากจีนมีเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือที่พัฒนาแล้วและใช้ได้จริง รวมทั้งมีทุนทรัพย์ที่เพียงพอ ในขณะที่ประเทศในทวีปแอฟริกามีความได้เปรียบอย่างสูงในด้านแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ
"การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและแอฟริกาได้รับประโยชน์จากการใช้ข้อได้เปรียบของทั้งสองฝ่ายและตลาดขนาดใหญ่ ทั้งยังสามารถบรรลุถึงผลประโยชน์ร่วมกันและการพัฒนาที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย" Sang กล่าว
Diane Sayinzoga เจ้าหน้าที่อาวุโสจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ยังได้กล่าวชื่นชมความเป็นพันธมิตรทางการค้าระหว่างจีนและแอฟริกา โดยกล่าวว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเติบโตของทวีปแอฟริกา
เธอเสริมว่า ความช่วยเหลือของจีนสอดคล้องกับเป้าหมายของ UNCTAD ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของแอฟริกาด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เพิ่มโอกาสทางการค้า ส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และบูรณาการประเทศในทวีปแอฟริกาเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก
ปักกิ่งมีกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอด FOCAC ประจำปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 6 กันยายน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการประชุมนี้จะเป็นโอกาสสำคัญให้แก่จีนและแอฟริกาในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันและขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่มีร่วมกัน
"การประชุม FOCAC ได้นำไปสู่การทำข้อตกลงมากมายเกี่ยวกับการลงทุน การค้า และโครงการพัฒนาระหว่างจีนและประเทศในทวีปแอฟริกาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ UNCTAD อย่างสมบูรณ์แบบ" Sayinzoga กล่าว