เซี่ยงไฮ้, 20 ก.ย. 2567 /PRNewswire/ -- ในงาน HUAWEI CONNECT 2024 คุณ Zhang Ping'an กรรมการบริหารของหัวเว่ย (Huawei) และซีอีโอของหัวเว่ย คลาวด์ (Huawei Cloud) ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ "Thrive with the Cloud: Reshaping Industries with AI" (เติบโตไปกับคลาวด์ งัดใช้ AI ยกระดับภาคอุตสาหกรรม) โดยคุณ Zhang กล่าวว่า องค์กรต่าง ๆ ต้องคว้าโอกาสในยุคอัจฉริยะและใช้ AI สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และต้องรู้จักปรับกรอบความคิดให้พร้อมรับ AI ตั้งแต่ตอนนี้
ประการแรก องค์กรควรเปิดรับ AI อย่างจริงจัง สำรวจหาแนวทางนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาแพลตฟอร์ม AI สำหรับองค์กร ซึ่งจะช่วยให้ AI รองรับธุรกิจหลักได้ ปัจจุบัน โมเดล Pangu ของหัวเว่ย คลาวด์ ได้ถูกนำไปใช้ในกว่า 30 อุตสาหกรรมและ 400 สถานการณ์
ประการที่สอง พลังการประมวลผล AI มีความสำคัญอย่างยิ่ง องค์กรจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่รองรับ AI ตั้งแต่แรกเริ่มให้ตรงกับความต้องการ คุณ Zhang ได้เปิดตัว CloudMatrix อย่างเป็นทางการ เพื่อเชื่อมต่อและรวมทรัพยากรทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้ง CPU, NPU, DPU และหน่วยความจำ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาจากการคำนวณแบบจุดเดียวไปสู่การคำนวณแบบเมทริกซ์ CloudMatrix ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่รองรับ AI ตั้งแต่แรก โดยทุกอย่างสามารถรวมกันเป็นกลุ่ม เชื่อมต่อแบบ peer-to-peer และจัดองค์ประกอบใหม่ได้ เปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ มีพลังการประมวลผล AI อย่างมหาศาล
ประการที่สาม คุณภาพของข้อมูลเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของโมเดล AI เราจำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูลที่มีองค์ความรู้เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ข้อมูลรองรับ AI ได้ดียิ่งขึ้น โดยหัวเว่ย คลาวด์ ได้อัปเกรด DataArts อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อมอบฐานข้อมูลที่พร้อมรับ AI และมีองค์ความรู้เป็นศูนย์กลางให้แก่ลูกค้า ฟีเจอร์ที่อัปเดตใหม่นี้มีทั้งเอนจินที่ผสานระหว่าง AI และข้อมูล การพัฒนาและการกำกับดูแลข้อมูล บริการด้านองค์ความรู้ และบริการสนับสนุนการนำ AI และข้อมูลไปใช้
ประการที่สี่ สร้างโมเดล AI ที่เหมาะสมตามการใช้งานทางธุรกิจ เราต้องเลิกเข้าใจผิดว่าโมเดลที่ใหญ่กว่าคือดีกว่า เพราะการใช้โมเดลพื้นฐานเพียงโมเดลเดียวเพื่อแก้ปัญหาทุกอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ โดยโมเดล Pangu 5.0 มีให้เลือกหลายขนาด ตั้งแต่พารามิเตอร์ระดับพันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน ไปจนถึงล้านล้าน ชุดโมเดล Pangu ทั้งหมดนี้สามารถตอบสนองความต้องการด้านการใช้งานทางธุรกิจได้แทบทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ โมเดล Pangu 5.0 ของหัวเว่ย คลาวด์ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างแบบควบคุมมิติเวลาและพื้นที่ (STCG) ในด้านการสร้างหลายรูปแบบ โดยสำหรับการขับขี่อัตโนมัตินั้น โมเดล Pangu สามารถสร้างสถานการณ์การขับขี่เสมือนจริงได้อย่างแม่นยำ สามารถสร้างวิดีโอที่จำลองสถานการณ์การขับขี่ปกติ สภาพถนนที่เปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน รวมถึงการขับขี่ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและก้าวร้าว ช่วยให้บริษัทยานยนต์ฝึกฝนระบบขับขี่อัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หัวเว่ย คลาวด์ ได้เปิดตัวโซลูชัน Mainframe-to-Cloud อย่างเป็นทางการ ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยให้ลูกค้าพัฒนาระบบหลักใหม่บนคลาวด์ที่มีความพร้อมใช้งานสูง ดูแลรักษาง่าย และมีความคล่องตัวมากขึ้นได้ ทำให้ได้ความพร้อมใช้งานเกรดการเงินที่ 99.999% ปัจจุบัน ธนาคารส่วนใหญ่ในจีนต่างวางใจหัวเว่ยให้เข้ามาสร้างระบบหลักใหม่บนคลาวด์
Tao Jingwen กรรมการของหัวเว่ยและประธานฝ่ายคุณภาพ กระบวนการทางธุรกิจ และการจัดการไอที ได้เล่าถึงการเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของหัวเว่ย โดยหัวเว่ยได้พัฒนาระเบียบวิธีขึ้นมา แบ่งออกเป็น 3 ชั้น 5 ระยะ และ 8 ขั้นตอน ซึ่ง 3 ชั้นที่ว่านี้ประกอบด้วยการนิยามธุรกิจอัจฉริยะใหม่ การพัฒนาและส่งมอบโมเดล AI และการปรับปรุงแอปพลิเคชันอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง ส่วน 5 ระยะ ได้แก่ การสำรวจหาสถานการณ์ที่เหมาะสม การปรับโครงสร้างกระบวนการ การเปลี่ยนแปลงองค์กร การปรับปรุงข้อมูลขององค์กร และการนำแอปพลิเคชัน AI มาใช้
ด้าน Bruno Zhang ซีทีโอของหัวเว่ย คลาวด์ ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับแนวทางที่หัวเว่ย คลาวด์ ใช้ AI ในการยกระดับศูนย์ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน และบริการคลาวด์ ทั้งยังได้กล่าวถึงการสร้างคลาวด์ที่รองรับ AI ตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งออกแบบมาเพื่อเร่งการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนระบบผู้ช่วย Pangu แบบ "1+N" ที่คุณ Zhang นำเสนอนั้น ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการใช้งานบริการคลาวด์ ระบบนี้รวมถึง Pangu Doer และกรณีการใช้งานมากมายในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ข้อมูล ความปลอดภัย และการทำงานร่วมกันในสำนักงาน โดยโมเดล Pangu ได้รับการฝึกฝนด้วยข้อมูล ความรู้ และแนวปฏิบัติแบบเจาะจงสถานการณ์ เพื่อยกระดับบริการคลาวด์และเพิ่มประสิทธิภาพด้วย AI ที่ปรับแต่งให้เหมาะสม