omniture

การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็นสามเท่าภายในปี 2573 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของฉันทมติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ครั้งประวัติศาสตร์ เป็น "ตัวขับเคลื่อนสำคัญ" ของความพยายามทั่วโลกเพื่อให้เป้าหมาย 1.5°C เป็นไปได้และผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

COP28
2024-09-25 03:45 39

นิวยอร์ก, 24 กันยายน 2567 /PRNewswire/ -- การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าสามเท่าภายในช่วงระยะเวลาหกปีข้างหน้าเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายกำลังการผลิต 11,000 กิกะวัตต์ ซึ่งมีความจำเป็นเพื่อทำให้เป้าหมาย 1.5°C เป็นไปได้ ประธาน COP28 ดร. Sultan Al Jaber กล่าวในวันนี้ที่การประชุมสุดยอดพลังงานหมุนเวียนระดับโลก ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดระหว่างภาครัฐและเอกชนระดับสูงครั้งแรกที่มุ่งเน้นที่เป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็นสามเท่าภายในปี 2573

"การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่าไม่ได้เป็นเพียงแค่เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของความพยายามทั่วโลกทั้งหมดเพื่อทำให้เป้าหมาย 1.5°C เป็นไปได้ ผลักดันให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง" ดร. Al Jaber กล่าวในที่ประชุม ซึ่งจัดขึ้นควบคู่กับการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 79 ในนิวยอร์ก

การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็นสามเท่าเป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของฉันทมติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE Consensus) ครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดอ้างอิงที่สำคัญให้แก่ความมุ่งมั่นด้านภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก พลังงานหมุนเวียนมี "การขยายตัวเติบโตครั้งประวัติศาสตร์" ทั่วโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าและต้นทุนลดลงมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ตามคำกล่าวของประธาน COP28 พร้อมระบุว่าในปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกกว่าพลังงานจากแหล่งอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แม้จะ "เกิดแนวโน้มซึ่งเคลื่อนที่ไปยังทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็ยังไม่เร็วมากพอ" เขากล่าว

"เราจำเป็นต้องเร่งความเร็วในสามด้านสำคัญ" ดร. Al Jaber กล่าว โดยเรียกร้องให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) และในกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) ให้มากกว่าเดิม "เราจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนโดยรวมมากกว่าสามเท่าในหกช่วงปีข้างหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 11,000 กิกะวัตต์ภายในปี 2573"

ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีความสำคัญมาก "นักลงทุนจำเป็นต้องทราบว่าโครงการของพวกเขาจะมีโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้งานได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม" เขากล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศอุตสาหกรรมหลายแห่งมักจะมีอายุเกินกว่า 60 ปีแล้ว ขณะที่ในหลายประเทศในกลุ่มประเทศโลกใต้นั้น "ไม่มีโครงข่ายไฟฟ้าเลย"

เขาเสริมว่า รัฐบาล "ต้องยกระดับความพยายาม" และรวมเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนและโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะไว้ในการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution : NDC) ฉบับต่อไปของพวกเขา นอกจากนี้ พวกเขายังควรใช้นโยบายต่าง ๆ ที่กระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน และทำให้การอนุมัติโครงการเป็นไปได้เร็วขึ้น "ในหลายแห่ง การอนุมัติโครงการยังเป็นเหมือนการขับรถโดยดึงเบรกมือไว้ ในขณะที่เราจำเป็นต้องเร่งความเร็วเมื่อขับรถบนทางหลวง" เขากล่าวเพิ่มเติม

เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI อาจช่วยแก้ไขความท้าทายสำคัญที่พลังงานหมุนเวียนต้องเผชิญ เช่นความไม่ต่อเนื่องในการผลิตพลังงานหมุนเวียนและการกักเก็บพลังงานได้โดยทำให้โครงข่ายไฟฟ้ามีความอัจฉริยะขึ้น ทำให้สามารถวางแผนการใช้งานได้ดีขึ้น ขณะที่การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ก็สามารถยืดอายุแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น เสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานส่งพลังงาน และเพิ่มความสามารถในการเก็บพลังงานได้ เขากล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ เขากล่าวว่า AI ยังสามารถช่วยบูรณาการความต้องการพลังงานพื้นฐานและแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดคาร์บอนและเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานได้อีกด้วย

"ยิ่งเราลงทุนและนำ AI ไปใช้ในภาคพลังงานเร็วเท่าใด ก็จะสามารถขยายเพิ่มผลประโยชน์ที่จะได้รับเร็วเท่านั้น" ดร. Al Jaber กล่าว โดยชี้ว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพิเศษกับผู้นำในด้านเทคโนโลยีและพลังงานในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่กรุงอาบูดาบี "สองภาคส่วนนี้ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน" เขากล่าว

"โอกาสในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่านการเติบโตที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่เคยเกิดขึ้นมากเท่านี้มาก่อน แต่บางส่วนของโลกกลับไม่ได้รับโอกาสนี้อย่างยุติธรรม" ประธาน COP28 กล่าว โดยชี้ว่าในปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนากว่า 120 ประเทศสามารถดึงดูดการลงทุนได้เพียงไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก

"เมื่อพูดถึงการเงินด้านภูมิอากาศ เราต้องท้าทายโมเดลแบบเก่า และให้การสนับสนุนโมเดลรูปแบบใหม่" เขากล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุม โดยเรียกร้องให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศทำให้เงินทุนมีความพร้อมให้บริการมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และมีราคาที่เอื้อมถึงได้ยิ่งขึ้น และให้กระตุ้นการเงินภาคเอกชนผ่านรูปแบบผสมผสานที่ "เป็นนวัตกรรมใหม่"

ดร. Al Jaber เน้นตัวอย่างโครงการริเริ่มการลงทุนพลังงานสีเขียวในแอฟริกา ซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มุ่งพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนและการกักเก็บพลังงาน 25 โครงการในประเทศแอฟริกา 14 ประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างของการกระตุ้นการลงทุน นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวถึงตัวอย่างกองทุนการลงทุนด้านภูมิอากาศ ALTÉRRA ที่เปิดตัวในงาน COP28 ซึ่งได้จัดสรรเงินจำนวน 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมกับนักลงทุนในโครงการที่มีพอร์ตโฟลิโอรวม 40 กิกะวัตต์แล้ว

"ยังมีงานอีกมากมายที่ต้องทำเพื่อเติมเต็มช่องว่างในการพัฒนาพลังงานในกลุ่มประเทศโลกใต้" ประธาน COP28 กล่าว "และผมขอสนับสนุนให้ทุกฝ่ายสำรวจค้นหาวิธีการทั้งหมด โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายกัน"

ดร. Al Jaber ประกาศว่า "การดำเนินการในรูปแบบเดิม ๆ ตามปกติจะใช้ไม่ได้ผล" และเรียกร้องให้มี "รูปแบบใหม่ของการเข้ามามีส่วนร่วม ที่กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้ก้าวขึ้นสู่ระดับใหม่" พร้อมด้วย "จิตวิญญาณของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริง" และ "ความรู้สึกในแง่บวกที่กลับมาอีกครั้ง ซึ่งมองว่าการใช้จ่ายไปกับพลังงานหมุนเวียนเป็นการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนสูง"

Source: COP28
Keywords: Alternative Energies Electrical Utilities Environmental Products & Services Green Technology Utilities Environmental Issues Trade show news