ในการประชุม RT2024 ได้มีการจัดตั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ครั้งใหม่เพื่อจัดการปัญหาตัดไม้ทำลายป่า เพิ่มการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อยด้วยโปรแกรมการปรับตัวที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate-smart programmes) และขับเคลื่อนความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก RSPO ทั่วโลก
กรุงเทพฯ, 11 พฤศจิกายน 2567 /PRNewswire/ -- การประชุมสัมมนาว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) ซึ่งต่อยอดจากผลงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญมากว่าสองทศวรรษ ได้เรียกร้องความพยายามร่วมกันเพื่อขยายขอบเขตนวัตกรรมและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปและเชิงระบบในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันยั่งยืน การประชุมสัมมนาประจำปีของ RSPO (RT2024) จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 11 ถึง 13 พฤศจิกายน โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมในการนำมาตรฐาน RSPO 2024 ไปปฏิบัติ
มาตรฐานฉบับปรับปรุงใหม่นี้ ประกอบด้วยหลักการและเกณฑ์กำหนดปี 2567 (2024 Principles & Criteria หรือ P&C) และ มาตรฐานเกษตรกรรายย่อยอิสระปี 2567 (2024 Independent Smallholder หรือ ISH Standard) ที่จะช่วยเพิ่มความชัดเจน ของความสามารถในการตรวจสอบและนำไปใช้ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงช่วยจัดการปัญหาที่เกี่ยวกับตลาดและการกำกับดูแล โดยเน้นที่การจัดการปัญหาตัดไม้ทำลายป่า การตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบคอบ และการให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามาส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ Teoh Cheng Hai เลขาธิการคนแรกของ RSPO กล่าวถึงความสำเร็จของ RSPO ในการเป็นมาตรฐานชั้นนำระดับโลกสำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน โดยเน้นความสำคัญของการจับมือเป็นพันธมิตรเชิงนวัตกรรมให้เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผลักดัน RSPO ให้เป็นผู้กำหนดมาตรฐานชั้นนำระดับโลกที่สามารถขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติปี 2573
Joseph D'Cruz ซีอีโอของ RSPO ได้ย้ำในคำกล่าวเปิดงานว่า RSPO มีความพร้อมอย่างดีที่จะตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต โดยกล่าวว่า "ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเรา RSPO พร้อมที่จะเผชิญกับอนาคต 20 ปีข้างหน้าด้วยมาตรฐานที่เสริมให้แข็งแกร่งขึ้น ระบบตรวจสอบที่พัฒนาดีขึ้น และกระบวนการรับรอง การค้า และการตรวจสอบย้อนกลับด้วยระบบดิจิทัลแบบครบวงจรที่ขับเคลื่อนบนฐานของข้อมูล"
เขายังเสริมว่า เราได้เสริมความแข็งแกร่งในการผสานมาตรฐานที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ให้เข้ากับระบบการรับรอง ผ่านแพลตฟอร์มการรับรอง การค้า และการตรวจสอบย้อนกลับของ RSPO ที่ชื่อว่า "prisma" ซึ่งย่อมาจาก Palm Resource Information and Sustainability Management (การจัดการข้อมูลทรัพยากรปาล์มและความยั่งยืน) ที่งาน RT2024 ผู้เข้าร่วมได้ชมการสาธิตการทำงานของแพลตฟอร์ม prisma ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้บริการข้อมูลดิจิทัลและการตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทาน และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนเพื่อให้สมาชิกเสริมประสิทธิภาพให้การประเมินความเสี่ยงและการตรวจสอบความรอบคอบ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่เกิดขึ้นใหม่
นอกจากนี้ RT2024 ยังเป็นเวทีที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือและการเข้าถึงในฐานะองค์กรด้านความยั่งยืนระดับโลกของ RSPO โดยในงานได้มีการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์หลายรายการที่ออกแบบมาเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในการผลิตและการค้าปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองความยั่งยืน (CSPO)
ส่งเสริมการปกป้องพื้นที่ที่มีคุณค่าการอนุรักษ์สูงเพื่อความยั่งยืนของน้ำมันปาล์ม
ในการประชุม RT2024 ครั้งนี้ RSPO และเครือข่ายการอนุรักษ์ที่มีมูลค่าสูง (High Conservation Value Network: HCVN) ได้สานต่อความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนานเพื่อส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและแนวทางใหม่ ๆ ในการปกป้องพื้นที่ที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์สูง (HCV) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน RSPO ที่ปรับปรุงใหม่ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อภารกิจในการปกป้องพื้นที่ป่าที่มีคุณค่าการอนุรักษ์สูง และพื้นที่กักเก็บคาร์บอนในปริมาณสูง (HCS) ในเขตพื้นที่น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนร่วมกัน บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะช่วยเสริมสร้างการปกป้องระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และพื้นที่สำคัญต่อชุมชนชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น
"HCVN จะร่วมมือกับ RSPO อย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการการปกป้องพื้นที่ที่มีคุณค่าการอนุรักษ์สูงเข้ากับแนวทางการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในพื้นที่เพาะปลูกน้ำมันปาล์ม โดยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ด้วยการให้ความสำคัญกับคุณค่าการอนุรักษ์ให้เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มยั่งยืน" Belinda Bowling ผู้อำนวยการทั่วโลกของเครือข่าย HCV กล่าว
ณ ปี 2566 การรับรองมาตรฐาน RSPO ได้ปกป้องพื้นที่ป่าที่มีคุณค่าการอนุรักษ์สูงและกักเก็บคาร์บอนสูงมากกว่า 466,600 เฮกตาร์ นับตั้งแต่ที่นำแนวทาง HCV มาใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2548 และแนวทาง HCS ในเดือนพฤศจิกายน 2561
โดยรวม การรับรองมาตรฐาน RSPO ได้ปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่ป่าและอื่น ๆ ที่มีคุณค่าประมาณ 646,700 เฮกตาร์ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงพื้นที่พรุเขตร้อนและพื้นที่อนุรักษ์ริมน้ำ
ผสานการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในการรับรองเกษตรกรรายย่อยอิสระของ RSPO
การรับรองเกษตรกรรายย่อยของ RSPO เติบโตอย่างมากในทั่วโลก โดยในปี 2566 มีเกษตรกรรายย่อยอิสระกว่า 40,000 รายที่ได้รับการรับรอง เพิ่มขึ้น 11,268 รายจากปี 2565 และปัจจุบันได้ขยายการรับรองไปยังโคลอมเบีย เอกวาดอร์ และฮอนดูรัส
ด้วยความตระหนักถึงบทบาทสำคัญของเกษตรกรรายย่อยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากการผลิตน้ำมันปาล์ม RSPO จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับบริษัท Global Green Chemicals Public Company Limited (GGC) และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยจะบูรณาการการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การรับรอง RSPO ผ่านโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SPOPP CLIMA) ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก GGC บริษัทชั้นนำในประเทศไทยที่มุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ความร่วมมือดังกล่าวมุ่งเน้นส่งเสริมการทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ และรวมถึงการพัฒนาเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับทะลายปาล์มสดเพื่อวัดการปล่อยก๊าซ และพัฒนากลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ของประเทศไทย
นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "GGC ได้ทำงานร่วมกับ GIZ และ RSPO เพื่อสนับสนุนเกษตรกรปาล์มน้ำมันของเราในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและคาร์บอนฟุต พริ้นท์ เป้าหมายของเราคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 20% ภายในปี 2573 และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 พร้อมกับส่งเสริมการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 การร่วมมือกันนี้จะไม่เพียงลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรกรรม แต่ยังเสริมสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยในตลาดโลก"
นอกจากนี้ โครงการนี้จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเกี่ยวกับการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับเกษตรกร และสร้างแปลงสาธิตเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวปฏิบัติทำการเกษตรคาร์บอนต่ำที่เหมาะสม ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา การนำมาตรฐาน RSPO ไปดำเนินการช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสม (~2 ล้านเมตริกตัน CO2e) ซึ่งเทียบเท่ากับการขับขี่ยานพาหนะโดยสาร 468,864 คันตลอดทั้งปี
ในการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ดร. ถาวร ทันใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน และกล่าวในฐานะผู้แทนศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ยกย่องบทบาทของ RSPO ในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยผู้มีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย ในช่วงห้าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การประชุมสัมมนาครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นในไทย ที่ได้มีการเสริมความแข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสามของโลก ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันร้อยละ 85 เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีมากกว่า 400,000 ครัวเรือน โดยมีสัดส่วนของเกษตรกรรายย่อยอิสระที่เป็นผู้หญิงที่ได้รับการรับรองจาก RSPO สูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ร้อยละ 28
การรับรอง RSPO คงเติบโตขับเคลื่อนการจัดหาและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง
ณ ปี 2566 พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองจาก RSPO มีพื้นที่ 5.2 ล้านเฮกตาร์ใน 23 ประเทศ ส่วนโรงงานระดับกลางน้ำและปลายน้ำที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการรับรองห่วงโซ่อุปทาน (SCC) ของ RSPO มีจำนวน 6,907 แห่งทั่วโลก
การจัดหาน้ำมันปาล์มที่ผ่านการรับรอง CSPO มาถึงจุดสูงสุดใหม่ที่ 16.1 ล้านเมตริกตัน แสดงถึงการผลิตที่เติบโตขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง CSPO เพิ่มขึ้นเป็น 9.8 ล้านเมตริกตัน ที่แสดงถึงการใช้ผลิตภัณฑ์แปรรูป (downstream usage) ที่เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การเติบโตของการบริโภคได้รับการสนับสนุนจากกรอบความรับผิดชอบร่วมกัน (SR) ของ RSPO ซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุนสมาชิกด้านการรายงานการปฏิบัติตาม ตามที่กำหนดให้มีนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองในแต่ละปี โดยผู้แปรรูปและผู้ค้า ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และผู้ค้าปลีกมากกว่าครึ่งบรรลุเป้าหมายการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง CSPO ในปี 2566 และเพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยอิสระ สมาชิก RSPO ในกลุ่มปลายน้ำได้ซื้อเครดิต ISH จำนวน 261,792 เครดิต มูลค่า 7.0 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1.53 ล้านเหรียญสหรัฐ) และมอบประโยชน์โดยตรงแก่กลุ่ม ISH ที่ได้รับการรับรอง 85 กลุ่ม
ผู้ประกอบการปลายน้ำจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกมีบทบาทสำคัญในการประชุม RT2024 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายที่เกิดขึ้นใหม่ในจีนได้กำหนดให้ผู้จัดหามุ่งสู่การจัดหาน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน ส่งผลให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนมากขึ้นในตลาดจีน โดยในเดือนพฤศจิกายน Inner Mongolia Yili Industrial Group (Yili Group) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตภัณฑ์จากนมรายใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของโลก และ Yihai Kerry ซึ่งเป็นผู้ค้าปาล์มน้ำมันชั้นนำของจีน ได้เปิดตัวการจัดส่งน้ำมันปาล์มที่ได้รับรอง CSPO ของ RSPO ครั้งแรกในประเทศ ซึ่งในล็อตแรกประกอบด้วยน้ำมันปาล์มที่ได้รับรอง CSPO จำนวน 750 ตันที่ผ่านการรับรองภายใต้โมเดลห่วงโซ่อุปทาน Identity Preserved (IP) ซึ่งรักษาแหล่งที่มาที่ผ่านรับรองซึ่งสามารถระบุได้เพียงแหล่งเดียว ซึ่งถูกแยกออกจากน้ำมันปาล์มทั่วไปตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นในการจัดหาน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรอง CSPO สู่ประเทศจีนเพิ่มเติม ในการประชุม RT2024 ทาง Yili Group ได้ลงนามในข้อตกลงการจัดหาอย่างยั่งยืนเพิ่มเติม กับ Yihai Kerry และผู้ค้าระหว่างประเทศรายใหญ่อีกสองราย คือ Bunge และ Cargill เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างห่วงโซ่มูลค่าสีเขียวระดับโลกให้แก่น้ำมันปาล์ม
การประชุมครั้งนี้ยังได้จัดงานมอบรางวัล RSPO Excellence Awards โดยมีสมาชิก RSPO สิบห้ารายได้รับการเสนอชื่อจากผลงานดีเด่นด้านน้ำมันปาล์มยั่งยืน โดยผู้ชนะรางวัลมีดังนี้ World Association of Zoos and Accreditation สำหรับ Innovation, Hacienda La Cabaña S.A สำหรับ Conservation Leadership วิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (ท่าชนะ-ไชยา) สำหรับ Smallholder Impact และ Ferrero Trading Luxembourg S.A and Chester Zoo สำหรับ Communicating for Good; สุดท้าย Proctor and Gamble สำหรับ Shared Responsibility ชมรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ได้รับรางวัล ผู้ได้รับการเสนอชื่อ และการริเริ่มที่ควรค่าแก่รางวัลของพวกเขาได้ที่นี่
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานและผลงานสำคัญของเรา สามารถดูข้อมูลสรุป RSPO Impact ได้ที่นี่
เกี่ยวกับ RSPO:
The Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) หรือองค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน เป็นความร่วมมือระดับโลกในการทำให้น้ำมันปาล์มมีความยั่งยืน RSPO ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2547 เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน ซึ่งรวบรวมสมาชิกจากตลอดห่วงโซ่คุณค่าน้ำมันปาล์ม ซึ่งรวมถึงผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ผู้แปรรูปและผู้ค้าน้ำมันปาล์ม ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ค้าปลีก ธนาคารและนักลงทุน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ด้านสิ่งแวดล้อมหรือการอนุรักษ์ธรรมชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสังคมหรือการพัฒนา
ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อความก้าวหน้าและผลกระทบเชิงบวก RSPO สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระดับโลกเพื่อทำให้การผลิตและการบริโภคน้ำมันปาล์มยั่งยืน โดยสื่อสารถึงประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลง กระตุ้นความร่วมมือเพื่อความก้าวหน้า และให้การรับประกันโดยการกำหนดมาตรฐานการรับรอง
RSPO จดทะเบียนเป็นสมาคมระหว่างประเทศในเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีสำนักงานใหญ่ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย และมีสำนักงานในจีน โคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
รูปถ่าย - https://mma.prnasia.com/media2/2554094/Press_Conference.jpg?p=medium600