สิงค์โปร์, 14 ก.ย. 2559 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ -- ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต่างๆ เข้าร่วมงานสัมมนาที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อหารือเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นอย่างครบถ้วน
ความก้าวหน้าทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและโลกาภิวัตน์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระบบการศึกษาในหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ คือ การเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง กับคำถามที่ว่าการศึกษาจะมีบทบาทอย่างไรในศตวรรษที่ 21?
"การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 จะนำมาซึ่งสิ่งใด?" นี้เป็นหัวข้ออภิปรายในการสัมมนาด้านการศึกษาโดย Marshall Cavendish Education ครั้งที่ 5 ประจำปี 2559 ณ ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้หัวข้อหลัก "การเปลี่ยนแปลงบริบท -- การเดินทางสู่การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21" ('Putting Change into Context -- A Journey into 21st Century Learning') งานนี้จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยมีผู้เชี่ยวชาญและทรงอิทธิพลในวงการศึกษาทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแบ่งปันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการสอน การใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาวิชาชีพ เพื่อช่วยส่งเสริมผลักดันครูผู้สอนและกระตุ้นผู้เรียน
การเรียนรู้แบบองค์รวมถือเป็นวิธีการที่ทรงพลัง ซึ่งถ้าหากทำได้ดี ก็จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการเรียนสู่การทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามทักษะต่างๆที่สอนอยู่ในโรงเรียนปัจจุบันเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 แล้วหรือไม่? ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนี้ ความสามารถในการอ่านเขียนและการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้บริษัทรับเข้าทำงานอีกต่อไป สังคมทุกวันนี้ต้องการประชากรที่มีความรู้นอกเหนือจากในตำรา ไม่ว่าจะเป็นการคิดแบบสร้างสรรค์ ความสามารถในการแก้ปัญหา ทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนยึดถือค่านิยมหลัก เช่น ความอดทน ความยุติธรรมทางสังคม การเปิดใจให้กว้าง ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการเคารพในความเท่าเทียมกัน
เพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านนี้เป็นไปได้อย่างสะดวก โรงเรียนต่างๆ จะต้องปรับให้เป็นสถานที่ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความใฝ่เรียนรู้ มีความมั่นใจในการตั้งคำถาม และสร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการเรียนรู้ในปัจจุบันยังคงมีครูเป็นศูนย์กลางของห้องเรียน ซึ่งคอยจัดเตรียมบททดสอบที่กลายเป็นตัวชี้วัดทางการศึกษา โดยเน้นไปที่ผลการสอบหรือเกรดมากจนเกินไป ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 เราจะต้องเปลี่ยนไปเน้นที่วิธีการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดที่เรียกว่า "metacognition" อันได้แก่ การวิเคราะห์กระบวนการคิดของตน การพัฒนาการใช้เหตุผล และการอธิบายแนวคิดของตน
ผู้สอนที่มีคุณภาพสูงถือเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จของข้อเสนอแนะนี้ และการพัฒนาวิชาชีพควรมีเป้าหมายสูงสุด นั่นคือ การยกระดับความสามารถของครู เพื่อปรับปรุงผลการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียน
ศาสตราจารย์ S. Gopinathan ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มูลนิธิ The HEAD Foundation และศาสตราจารย์คุณวุฒิ จากสถาบันนโยบายสาธารณะลี กวน ยู (LKY School of Public Policy) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า "หลักสูตรพัฒนาวิชาชีพจะต้องสร้างบริบทให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับความเป็นจริงและความท้าทายที่เกิดจากการเรียนการสอน ในการที่จะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพนั้น หลักสูตรจะต้องนำเสนอรูปแบบ กิจกรรม และระบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการต่อยอดการเรียนรู้ของครูไปสู่การปฏิบัติในห้องเรียนได้ดียิ่งขึ้น โดยครูจะต้องหมั่นศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ไปตลอดชีวิต และต้องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่"
Lee Fei Chen หัวหน้าฝ่ายธุรกิจการพิมพ์ ของ Marshall Cavendish Publishing Group กล่าวเสริมว่า "การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงในทุกวันนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าในอดีตมาก ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเครื่องมือด้านการศึกษา เราต้องการที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า เนื้อหาสาระของเรานั้นมีประสิทธิภาพทั้งต่อครูและนักเรียน และจะสามารถเป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างการสอนและการเรียนรู้ได้"
ที่มา: Marshall Cavendish Education http://www.mceducation.sg/events/mceconference2016