omniture

ผลสำรวจของ Rapyd เผยผู้บริโภคทั่วเอเชียแปซิฟิกนิยมชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น

Rapyd
2020-06-11 18:26 328

สิงคโปร์--11 มิถุนายน 2563--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ผลสำรวจอีคอมเมิร์ซและการชำระเงินในเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2563 ของ Rapyd ซึ่งจัดทำในเดือนมีนาคมและเมษายน ใน 7 ประเทศและดินแดนทั่วเอเชียแปซิฟิก เผยให้เห็นวิธีการชำระเงินที่ใช้บ่อยที่สุดและเป็นที่นิยมมากที่สุดของผู้บริโภค 3,500 คน

Rapyd ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเงินระดับโลก เปิดเผยผลสำรวจอีคอมเมิร์ซและการชำระเงินในเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2563 (2020 Asia Pacific eCommerce and Payment Study) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมทางการเงิน วิธีการชำระเงิน ข้อควรพิจารณา และความนิยมของผู้บริโภคใน 7 ประเทศและดินแดนในเอเชียแปซิฟิก เพื่อเผยให้เห็นว่าความคาดหวังและพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในโลกที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น

รายงานนี้จัดทำขึ้นในเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค 3,500 คนทางออนไลน์ในอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ที่ละ 500 คน ซึ่งผลสำรวจเผยให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีการชำระเงินใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และได้รับการยอมรับและความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากช่วยให้การจับจ่ายสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งยังเข้ากับบริบทท้องถิ่น และช่วยให้ชุมชนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินแบบเดิมสามารถจับจ่ายผ่านระบบดิจิทัลได้

รายงานนี้ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคและความหลากหลายในการชำระเงินในเอเชีย ซึ่งช่วยให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเอ็มคอมเมิร์ซสามารถเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่เข้าถึงได้ และดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ให้เข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต ด้วยการนำเสนอทางเลือกการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ในขณะที่ผู้ซื้อเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้นท่ามกลางวิกฤตสุขภาพในปัจจุบัน

รายงานระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซและเอ็มคอมเมิร์ซใน 7 ประเทศและดินแดนที่มีการสำรวจ มีมูลค่าราว 3.55 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2562 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2568

โจเอล ยาร์โบรห์ รองประธานประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก บริษัท Rapyd กล่าวว่า "นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดไปทั่วโลก ผู้คนจำเป็นต้องหันมาใช้ระบบดิจิทัลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และอีคอมเมิร์ซได้กลายเป็นพื้นฐานใหม่ เราได้เห็นว่าการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลเติบโตอย่างมหาศาลในทุกประเทศทั่วเอเชีย รายงานนี้จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับข้อมูลเชิงลึกในท้องถิ่นเกี่ยวกับพฤติกรรมการชำระเงิน แบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือก และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจผู้บริโภคยุคนี้"

ความท้าทายของร้านค้าที่รับเฉพาะบัตร

ในขณะที่บัตรและโมบายวอลเล็ทแบบเติมเงินผ่านบัตรได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น (61%) และไต้หวัน (51%) แต่ในภาพรวมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น พบว่าอีวอลเล็ทและการโอนเงินผ่านธนาคารมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น

อีวอลเล็ทและการโอนเงินผ่านธนาคารเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนจากระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ (RTP) ที่ทำงานร่วมกันได้ เช่น อินเดียใช้ระบบ UPI (64%) และไทยใช้ระบบ PromptPay (62%) แม้แต่ในตลาดที่นิยมใช้บัตรมากกว่าอย่างสิงคโปร์ อีวอลเล็ทและการโอนเงินผ่านธนาคาร ซึ่งรวมถึงระบบ PayNow ก็ยังเป็นที่นิยมของผู้ตอบแบบสำรวจ 42% ในสิงคโปร์ และมากถึง 78% ในอินโดนีเซีย

Rapyd 2020 Asia Pacific eCommerce and Payment Study: Payment Preference by Country
Rapyd 2020 Asia Pacific eCommerce and Payment Study: Payment Preference by Country

ข้อมูลสำคัญในแต่ละประเทศ

สิงคโปร์

  • การชำระเงินผ่านธนาคารแบบเรียลไทม์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยระบบ PayNow และระบบโอนเงินผ่านธนาคาร FAST มีความสำคัญมากขึ้น อันเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐมานานหลายปี
  • PayNow เป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 2 โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 70% ใช้บริการนี้ในเดือนที่แล้ว
  • GrabPay เป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากบัตรเครดิตและ PayNow

อินโดนีเซีย

  • OVO Wallet เป็นวิธีการชำระเงินที่ใช้บ่อยที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 69% ใช้บริการนี้ในเดือนที่แล้ว และเป็นช่องทางชำระเงินยอดนิยมของประเทศ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 17.8% เลือกชำระเงินผ่าน OVO Wallet มากกว่าวิธีอื่น
  • ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียนิยมใช้อีวอลเล็ทมากกว่าบัตรและเงินสดอย่างมาก โดย 33.8% เลือกชำระเงินผ่านอีวอลเล็ท 1 ใน 3 แบรนด์ (OVO, Go-Pay หรือ Dana)
  • การโอนเงินผ่านธนาคารแบบเรียลไทม์ ทั้งผ่านระบบบัญชีเสมือนและผ่านบัญชีธนาคารแบบดั้งเดิม เป็นที่นิยมของผู้ตอบแบบสำรวจ 44% ในอินโดนีเซีย

มาเลเซีย

  • การโอนเงินผ่านธนาคารด้วยบริการ Maybank2U ของธนาคารเมย์แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นวิธีการชำระเงินออนไลน์ที่ใช้มากที่สุด (65%) และเป็นที่นิยมมากที่สุด (21.4%)
  • อีวอลเล็ท ได้แก่ Touch N Go, Boost, PayPal และ GrabPay ต่างมีความสำคัญมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 22% เลือกชำระเงินผ่านอีวอลเล็ทเหล่านี้
  • บริการเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery) ยังคงมีความสำคัญ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 65% เลือกใช้บริการนี้ในเดือนที่แล้ว ก่อนที่รัฐบาลมาเลเซียจะบังคับใช้มาตรการควบคุมการสัญจร

อินเดีย

  • ผู้ตอบแบบสำรวจ 85% ใช้อีวอลเล็ท Paytm ในเดือนที่แล้ว
  • การเติบโตของระบบชำระเงิน UPI ส่งผลให้อีวอลเล็ท (Paytm, Google Pay, Amazon Pay) เป็นที่นิยมของผู้ตอบแบบสำรวจ 51.2% ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 11.9% เลือกโอนเงินผ่านธนาคาร
  • บัตรเดบิตและบัตรเครดิตเป็นที่นิยมของผู้ตอบแบบสำรวจ 28%
  • ผู้ตอบแบบสำรวจ 49% ซื้อสินค้าออนไลน์ทุกวัน (สูงสุดในบรรดาประเทศและดินแดนที่มีการสำรวจ)

ญี่ปุ่น

  • ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมใช้บัตรเครดิตและเงินสด
  • ในบรรดาวิธีการชำระเงินผ่านมือถือทั้งหมด อีวอลเล็ท PayPay ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 41% ใช้วิธีนี้ในเดือนที่แล้ว และ 9.6% เลือกวิธีนี้มากกว่าวิธีอื่น

ไต้หวัน

  • บัตรเครดิตยังคงเป็นวิธีการชำระเงินอันดับหนึ่งในไต้หวัน ทั้งในแง่ของการใช้งานและความนิยม
  • ผู้บริโภคชำระเงินหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการใช้งาน โดยบัตรเครดิต การจ่ายเงินสดที่ร้านสะดวกซื้อ การโอนเงินผ่านธนาคาร การใช้บัตร Easycard และอีวอลเล็ท ต่างได้รับความนิยมพอ ๆ กัน

ไทย

  • อีวอลเล็ท TrueMoney เป็นวิธีการชำระเงินชั้นนำ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 66% ใช้เป็นประจำ และ 16.8% เลือกวิธีนี้มากกว่าวิธีอื่น
  • อีวอลเล็ทและการโอนเงินผ่านธนาคารเป็นวิธีการชำระเงินที่นิยมมากที่สุด โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 62.2% เลือกใช้วิธีนี้ และแนวโน้มก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะได้รับการสนับสนุนจากระบบชำระเงิน PromptPay ที่ใช้งานร่วมกันได้
  • เงินสดยังคงเป็นที่นิยมในไทย โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 19.4% เลือกใช้เงินสด

พฤติกรรมของผู้บริโภคในภูมิภาคและสภาพการณ์ในปัจจุบันยังคงผลักดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องเร่งนำระบบดิจิทัลมาใช้ และเนื่องจากมีการใช้ระบบดิจิทัลกันมากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างฐานธุรกิจออนไลน์ที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับเทรนด์การทำธุรกิจผ่านมือถือและโซเชียลในตลาดแต่ละแห่ง กลยุทธ์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับแต่ละท้องถิ่นโดยเฉพาะเป็นกุญแจสำคัญในการพยุงธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 นอกจากนั้นยังช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจฟื้นตัวเร็วขึ้นและเติบโตในระยะยาว

อ่านรายงานผลสำรวจอีคอมเมิร์ซและการชำระเงินในเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2563 ของ Rapyd ได้ที่ https://www.rapyd.net/resource/asia-pacific-ecommerce-and-payments-guide/

เกี่ยวกับ Rapyd

Rapyd เกิดมาเพื่ออุตสาหกรรมฟินเทค เช่นเดียวกับที่ระบบคลาวด์เกิดมาเพื่ออุตสาหกรรมไอที บริษัทสร้างเครือข่ายการชำระเงินในท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อช่วยให้การค้าทั่วโลกเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ บริษัทอีคอมเมิร์ซ บริษัทเทคโนโลยี และตลาดซื้อขาย ต่างใช้ฟินเทคเป็นแพลตฟอร์มให้บริการต่าง ๆ เช่น Collect, Disburse, Wallet และ Issuing เพื่อผนวกรวมความสามารถด้านการชำระเงินไว้ในแอปพลิเคชันของตนเอง เครือข่ายการชำระเงินทั่วโลก Rapyd Global Payments Network ครอบคลุมวิธีการชำระเงินยอดนิยมในท้องถิ่นกว่า 900 วิธี เช่น การโอนเงินผ่านธนาคาร อีวอลเล็ท และเงินสด ในกว่า 100 ประเทศ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจต่าง ๆ จึงสามารถเปิดตลาดใหม่ สร้างแอปพลิเคชันฟินเทคใหม่ และเข้าถึงผู้บริโภค 4 พันล้านคนทั่วโลก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานหรือระเบียบข้อบังคับ Rapyd ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนหลายราย ได้แก่ Stripe, General Catalyst, Oak FT, Tiger Global, Durable Capital, Target Global, และ TaL Capital สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.rapyd.net หรือ blog หรือติดตามเราได้ทาง LinkedIn และ Twitter

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1178808/Rapyd_Payment_Study_Chart.jpg 
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/1159741/Rapyd_Logo.jpg  

 

Source: Rapyd
Related Links:
Keywords: Banking/Financial Service Computer/Electronics Electronic Commerce Retail Survey, Polls & Research
Related News