omniture

โครงการ Capture the Fracture® ตั้งเป้าลดอัตราการเกิดภาวะกระดูกสะโพกหักและกระดูกสันหลังหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุนให้ได้ 25% ภายในปี 2025

The International Osteoporosis Foundation (IOF)
2020-06-16 09:00 602

นียง, สวิตเซอร์แลนด์--16 มิถุนายน 2563--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

- มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติประกาศความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บริษัท Amgen และบริษัท UCB เพื่อต่อสู้กับโรคกระดูกพรุนซึ่งเป็นภาระด้านสาธารณสุขของทั่วโลก [1]

- ภาวะกระดูกสะโพกหักและกระดูกสันหลังหักส่งผลกระทบต่อสังคม และอาจทำให้ชีวิตของผู้ป่วยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป [2] [3]

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (International Osteoporosis Foundation: IOF) ประกาศความร่วมมือกับบริษัท Amgen บริษัท UCB และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อสนับสนุนโครงการ Capture the Fracture® โดยมีเป้าหมายในการลดอัตราการเกิดภาวะกระดูกสะโพกหักและกระดูกสันหลังหักให้ได้ 25% ภายในปี 2025 ปัจจุบัน ผู้ป่วยกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกต้องทุกข์ทรมานจากโรคกระดูกพรุน [4] ซึ่งทำให้เกิดภาวะกระดูกหักทุก ๆ สามวินาที [5]

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้กระดูกอ่อนแอลงเรื่อย ๆ โดยกระดูกจะบางลงและมีโอกาสแตกหักมากขึ้น [5] อย่างไรก็ดี มีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถปฏิบัติตามเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกหัก [1] ทั้งนี้ โครงการระดับโลก Capture the Fracture ของ IOF ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Amgen และ UCB ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จะช่วยผลักดันให้โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ นำโครงการประสานงานเพื่อดูแลผู้ป่วยหลังเกิดภาวะกระดูกหัก (Post-Fracture Care: PFC) มาใช้ในสถานพยาบาล เพื่อช่วยป้องกันผู้ป่วยจากภาวะกระดูกหักซ้ำเนื่องจากโรคกระดูกพรุน เพราะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมากถึง 80% ยังคงไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยหรือรักษา แม้ว่าจะประสบภาวะกระดูกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุนมาแล้วก็ตาม [6]

"โรคกระดูกพรุนยังคงเป็นปัญหาระดับโลก โดยก่อให้เกิดภาวะกระดูกหักมากถึง 8.9 ล้านครั้งภายในปีเดียว [3] เมื่อผู้ป่วยเคยกระดูกหักมาแล้ว ก็มีความเสี่ยงมากถึง 86% ที่จะเกิดภาวะกระดูกหักซ้ำอีก [7] การให้ความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการยกระดับการตรวจวินิจฉัยและการดูแลผู้ป่วยหลังเกิดภาวะกระดูกหัก จะช่วยยกระดับผลลัพธ์การรักษาและช่วยลดภาระทางการเงินของระบบสุขภาพ" [5] นายแพทย์ Darryl Sleep รองประธานอาวุโสฝ่ายการแพทย์สากล และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ บริษัท Amgen กล่าว "การสนับสนุนโครงการ Capture the Fracture สะท้อนถึงแนวทางการดูแลรักษาเชิงรุกของเรา ซึ่งออกแบบมาเพื่อคาดการณ์และช่วยป้องกันภาวะกระดูกหักก่อนที่จะเกิดขึ้น"

"เรากำลังแบกรับภาระอันหนักหน่วงที่เกิดจากโรคกระดูกพรุน ขณะนี้ประชากรสูงวัยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดการกับผลกระทบจากโรคกระดูกพรุนและภาวะกระดูกหักที่มีต่อผู้ป่วยแต่ละคน" ศาสตราจารย์ Cyrus Cooper ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ และศาสตราจารย์ประจำภาควิชา Musculoskeletal Science มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าว

"เราตระหนักดีว่าการประสานงานเพื่อดูแลผู้ป่วยหลังเกิดภาวะกระดูกหักเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด [8] ในการป้องกันภาวะกระดูกหักซ้า ผมจึงยินดีอย่างยิ่งที่บริษัท Amgen และ UCB รวมถึงมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ให้การสนับสนุนโครงการ Capture the Fracture ของเรา ขณะที่เรากำลังเดินหน้ายกระดับผลลัพธ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย" ดร. Philippe Halbout ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิ IOF กล่าว

การรักษาโรคกระดูกพรุนต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในหลายสาขา ดังนั้น การประสานงานในการดูแลผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หัวใจหลักของโครงการ Capture the Fracture คือผู้ประสานงานที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุนได้รับการคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกหักซ้ำอีกในอนาคต โครงการประสานงานเพื่อดูแลผู้ป่วยหลังเกิดภาวะกระดูกหักแสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยเพิ่มอัตราการวินิจฉัยและการรักษา [8] [9] สำหรับความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายในการเพิ่มโครงการ Capture the Fracture ให้เป็นสองเท่าภายในสิ้นปี 2022 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 390 โครงการ โดยเน้นไปที่ภูมิภาคสำคัญ ๆ อย่างเอเชียแปซิฟิก ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป

"โครงการประสานงานเพื่อดูแลผู้ป่วยหลังเกิดภาวะกระดูกหักถือเป็นหลักชัยสำคัญในการจัดการโรคกระดูกพรุนและภาวะกระดูกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุน และยังเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการประสานงานกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์หลายส่วนที่ไม่ได้ทำงานร่วมกัน" ศ.ดร. Iris Loew-Friedrich ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์และรองประธานบริหาร บริษัท UCB กล่าว "การร่วมมือและเรียนรู้ร่วมกันมีความจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อเราต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคต และต้องหาทางลดภาระของระบบสาธารณสุขและผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ความร่วมมือระดับโลกครั้งนี้สนับสนุนเป้าหมายของ UCB ในการเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพ เพื่อแสวงหาหนทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น และพลิกชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับโรคร้าย"

ความร่วมมือครั้งนี้ยังเปิดกว้างสำหรับการรณรงค์ป้องกันภาวะกระดูกหักกลุ่มอื่น ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้วทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการให้ความสำคัญกับภาวะกระดูกหัก สำหรับกิจกรรม ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ประกอบด้วย การพัฒนา การนำไปปฏิบัติ และการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จระหว่างโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงการสร้างสรรค์เครื่องมือดิจิทัลเพื่อบันทึกและสื่อสารผลสำเร็จของโครงการ PFC ตลอดจนให้คำปรึกษา และมอบโอกาสในการเรียนรู้ให้กับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ

"โครงการ Capture the Fracture ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการนำความเชี่ยวชาญและทักษะทางวิชาการของทางมหาวิทยาลัยมาใช้ในการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนอย่างแท้จริง" ดร. Kassim Javaid รองศาสตราจารย์ประจำแผนก Nuffield Department of Orthopaedics, Rheumatology and Musculoskeletal Sciences (NDORMS) ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าว ทั้งนี้ ดร. Javaid และ ดร. Rafael Pinedo-Villanueva จะรับหน้าที่ให้คำปรึกษา รวมถึงพัฒนาแนวทางการรักษาและซอฟต์แวร์คำนวณประโยชน์ของการรักษาให้กับโครงการ PFC "เราหวังว่าโครงการนี้จะช่วยพลิกชีวิตของผู้ป่วยหลายล้านคน และเราตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมอาชีพทั้งในประเทศและทั่วโลก เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์นี้ให้กลายเป็นความจริง"

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Capture the Fracture ได้ที่ http://www.capturethefracture.org

Source: The International Osteoporosis Foundation (IOF)
Keywords: Biotechnology Computer Software Computer/Electronics Health Care/Hospital Medical/Pharmaceuticals Pharmaceuticals Publishing/Information Service Clinical Trials/Medical Discoveries Not for profit Survey, Polls & Research