ลอนดอน, 9 กันยายน 2563 /PRNewswire/ -- สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace: IEP) เปิดเผยรายงาน Ecological Threat Register (ETR) ฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งเป็นการวัดภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์ไปจนถึงปี 2593 รายงานฉบับนี้ผนวกการวัดความสามารถในการฟื้นตัวกับข้อมูลทางระบบนิเวศที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อระบุประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศอันรุนแรงได้น้อยที่สุด ทั้งนี้ IEP เป็นองค์กรคลังสมอง (Think Tank) ชั้นนำระดับโลกที่จัดทำดัชนีต่าง ๆ เช่น ดัชนีสันติภาพโลกและดัชนีก่อการร้ายโลก เป็นต้น
ผลการค้นพบสำคัญ
รายงาน Ecological Threat Register วิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ความเครียดเนื่องจากน้ำ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยแล้ง อุทกภัย พายุไซโคลน ระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าในช่วงเวลา 30 ปีข้างหน้า 141 ประเทศจะเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างน้อยหนึ่งอย่างภายในปี 2593 ขณะที่ 19 ประเทศที่เผชิญภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุดมีประชากรรวมกันกว่า 2.1 พันล้านคน หรือราว 25% ของประชากรโลกทั้งหมด
รายงาน ETR วิเคราะห์ระดับความสามารถในการฟื้นตัวทางสังคมของประเทศต่าง ๆ เพื่อระบุว่าแต่ละประเทศมีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศในอนาคตหรือไม่ โดยพบว่ามีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถบรรเทาและรับมือกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่ภายในปี 2593
ประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่มากที่สุดคือปากีสถาน ตามมาด้วยเอธิโอเปียและอิหร่าน ส่วนเฮติเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในภูมิภาคอเมริกากลาง สำหรับประเทศเหล่านี้ ภัยคุกคามทางระบบนิเวศและภัยธรรมชาติเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคและทั่วโลก
แม้แต่ภูมิภาคที่มีความสามารถในการฟื้นตัวสูง เช่น ยุโรปและอเมริกาเหนือ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบในวงกว้างจากภัยคุกคามทางระบบนิเวศ เช่น จำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปอันเป็นผลมาจากสงครามซีเรียและอิรักในปี 2558 ซึ่งส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยเข้ายุโรปกว่า 2 ล้านคน และตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างรวดเร็วกับความวุ่นวายทางการเมืองและความไม่สงบทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศ ก็เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศน้อยกว่า และมีความสามารถในการฟื้นตัวสูงกว่าในการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่ตอนนี้ไม่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศประกอบด้วยสวีเดน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และไอซ์แลนด์ ส่วนประเทศทั้งหมดที่ตอนนี้ไม่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศมีอยู่ 16 ประเทศ
สตีฟ คิลเลเลีย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ กล่าวว่า
"ภัยคุกคามทางระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความท้าทายอันใหญ่หลวงต่อความสงบสุขของโลก ในช่วงเวลา 30 ปีข้างหน้า การขาดแคลนน้ำและอาหารจะทวีความรุนแรงขึ้นหากทั่วโลกไม่ร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน โดยหากไม่ลงมือแก้ปัญหา ความไม่สงบ ความวุ่นวาย และความขัดแย้งก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน และในตอนนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดช่องว่างในห่วงโซ่อาหารทั่วโลกแล้ว"
หลายประเทศที่เสี่ยงเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุดก็มีแนวโน้มว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากที่สุดเช่นกัน เช่น ไนจีเรีย แองโกลา บูร์กินาฟาโซ และยูกันดา โดยประเทศเหล่านี้ต้องดิ้นรนแก้ปัญหาทางระบบนิเวศอยู่แล้ว ทั้งยังเผชิญกับการขาดแคลนทรัพยากร ความสงบสุขในระดับต่ำ และความยากจนในระดับสูง
สตีฟ คิลเลเลีย กล่าวเสริมว่า
"สิ่งนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและการเมืองอย่างใหญ่หลวง ไม่ใช่แค่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่รวมไปถึงประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากการย้ายถิ่นขนานใหญ่จะทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไหลบ่าสู่ประเทศพัฒนาแล้วมากยิ่งกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศคือภัยคุกคามสำคัญของโลกและประชากรโลก เราต้องปลดล็อกพลังของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวให้กับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด"
ความไม่มั่นคงทางอาหาร
ความต้องการอาหารทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2593 นั่นหมายความว่าหากอุปทานอาหารไม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประชากรโลกจำนวนมากก็เสี่ยงเผชิญกับความหิวโหย ปัจจุบัน ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคนกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5 พันล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการฟื้นตัวของทั่วโลก
5 ประเทศที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารมากที่สุดประกอบด้วยเซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย ไนเจอร์ มาลาวี และเลโซโท โดยประชากรเกินครึ่งหนึ่งเผชิญกับความไม่แน่นอนในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอต่อการมีสุขภาพดี ขณะเดียวกัน โควิด-19 ก็ทำให้สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารย่ำแย่ลง และทำให้อาหารมีราคาแพงขึ้นมาก ซึ่งตอกย้ำถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศในอนาคต
แม้ในประเทศที่มีรายได้สูงก็ยังพบประชากรขาดสารอาหารในระดับสูงถึง 2.7% ซึ่งหมายความว่าประชากร 1 ใน 37 คนไม่ได้รับอาหารเพียงพอต่อการทำงานตามปกติของร่างกาย การขาดสารอาหารในประเทศพัฒนาแล้วเป็นผลพวงมาจากความยากจน โดยโคลอมเบีย สโลวาเกีย และเม็กซิโก เป็นประเทศที่มีอัตราการขาดสารอาหารสูงสุดในกลุ่ม OECD
ความเครียดเนื่องจากน้ำ
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับน้ำพุ่งขึ้น 270% ทั่วโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2543 เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเยเมนและอิรัก ซึ่งตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดเนื่องจากน้ำอย่างรุนแรง ความสามารถในการฟื้นตัว และความสงบสุข เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดเมื่อวัดโดยดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2563
ปัจจุบัน ประชากรโลก 2.6 พันล้านคนเผชิญกับความเครียดเนื่องจากน้ำอย่างมากหรือรุนแรงมาก และภายในปี 2583 ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.4 พันล้านคน โดยประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก สำหรับประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดภายในปี 2583 ประกอบด้วยเลบานอน สิงคโปร์ อิสราเอล และอิรัก ส่วนจีนและอินเดียก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับน้ำที่เพิ่มขึ้นในอดีต มีแนวโน้มว่าจะเกิดความตึงเครียดมากขึ้นและทำให้ทั่วโลกมีความสามารถในการฟื้นตัวลดลง
ภัยธรรมชาติ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดภัยธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง ทั้งยังส่งผลให้พายุและมรสุมมีความรุนแรงขึ้น หากภัยธรรมชาติยังคงเกิดขึ้นในอัตราเดียวกับช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ประชากรโลก 1.2 พันล้านคนอาจต้องย้ายถิ่นภายในปี 2593 ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติมากที่สุดกว่า 581,000 รายนับตั้งแต่ปี 2533 โดยแผ่นดินไหวคร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดกว่า 319,000 ราย ตามมาด้วยพายุที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 191,000 ราย
อุทกภัยคือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 โดยคิดเป็นสัดส่วน 42% ของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งหมด เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในจีนเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ซึ่งส่งผลให้ประชาชน 15.2 ล้านคนต้องย้ายถิ่น นอกจากนี้ อุทกภัยยังเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในยุโรป โดยคิดเป็นสัดส่วน 35% ของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งหมดในภูมิภาค และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
ในรายงาน ETR พบว่ามี 19 ประเทศที่เสี่ยงเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และประชากรอย่างน้อย 10% ในแต่ละประเทศอาจได้รับผลกระทบ โดยในช่วงเวลา 30 ปีข้างหน้า สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลอย่างมากต่อพื้นที่ต่ำบริเวณชายฝั่งในประเทศจีน บังกลาเทศ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งรวมถึงเมืองที่มีประชากรมากอย่างอเล็กซานเดรียในอียิปต์ กรุงเฮกในเนเธอร์แลนด์ และโอซาก้าในญี่ปุ่น
ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา
ความช่วยเหลือเป็นกลไกที่จะเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบทางระบบนิเวศ เช่น ภัยแล้ง ความเครียดเนื่องจากน้ำ และความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศกำลังพัฒนา โดยความช่วยเหลือด้านสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น 34 เท่าจาก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2543 สู่ระดับ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 และส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา เอเชียใต้ และเอเชียแปซิฟิก ขณะที่อินเดียได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในปี 2561 ที่ระดับ 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเงินช่วยเหลือจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ที่ยังคงดำเนินต่อไป
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ economicsandpeace.org
หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ
สามารถเข้าถึงรายงาน ETR รวมถึงบทความและแผนที่อินเทอร์แอคทีฟได้ที่ visionofhumanity.org
เกี่ยวกับรายงาน Ecological Threat Register (ETR)
รายงาน Ecological Threat Register (ETR) ฉบับปฐมฤกษ์ เป็นการสำรวจดินแดนและรัฐเอกราช 157 แห่งทั่วโลก รายงานฉบับนี้ผนวกการวัดความสามารถในการฟื้นตัวกับข้อมูลทางระบบนิเวศที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อระบุประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศอันรุนแรงได้น้อยที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต
วีธีการจัดทำรายงาน
รายงาน ETR ประกอบด้วยผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่ล่าสุดและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั้งในส่วนของการเพิ่มขึ้นของประชากร ความเครียดเนื่องจากน้ำ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยแล้ง อุทกภัย พายุไซโคลน ระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รายงานยังใช้ Positive Peace Framework ของ IEP ในการระบุประเทศที่มีความสามารถในการฟื้นตัวไม่มากพอที่จะปรับตัวหรือรับมือกับผลกระทบเหล่านี้ในอนาคต รายงานนี้รวบรวมข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ซึ่งรวมถึงองค์การทรัพยากรโลกสากล (World Resources International) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) และสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ
เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก เฮก เม็กซิโกซิตี้ และฮาราเร
Logo - https://mma.prnasia.com/media2/792052/IEP_Logo.jpg?p=medium600