เจนีวา--29 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation: WHF) ประกาศเตือนเนื่องในวันหัวใจโลกว่า โรคโควิด-19 เป็นภัยคุกคามที่รุนแรงต่อสุขภาพของหัวใจ โดยมีสามปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ประการแรกคือ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นโรคหัวใจด้วยนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ประการที่สอง เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจได้ แม้ในผู้ที่ไม่เคยมีอาการของโรคหัวใจมาก่อนก็ตาม และประการสุดท้าย จากความกังวลว่าจะได้รับเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจไปโรงพยาบาลลดลงมาก ทั้งในกรณีการรักษาตามปกติและในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
สมาพันธ์หัวใจโลกมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมความร่วมมือในวงการสาธารณสุขทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยแต่ละปีโรคนี้คร่าชีวิตผู้คนไปราว 17.9 ล้านคน ทางสมาพันธ์จึงขอความร่วมมือให้ทุกคน "ใช้หัวใจ" เพื่อตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีกว่าให้กับสังคม เพื่อคนที่เรารักและตัวเราเอง
ศาสตราจารย์คาเรน สลีวา ประธานสมาพันธ์หัวใจโลก กล่าวว่า "ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นขณะนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19 เป็นพิเศษ และทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่าไวรัสส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของหัวใจในคนกลุ่มเสี่ยง โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งผูู้ที่มีความเสี่ยงเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็นเพื่อรักษาหัวใจให้มีสุขภาพที่ดี จากการที่หัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตกำลังถูกคุกคาม เราจึงต้องหาทางออกโดยไม่รอช้า และใช้โอกาสที่เรามีในตอนนี้ซึ่งต่างไปจากครั้งอื่นเพื่อผนึกความร่วมมือ ใช้ทักษะความเชี่ยวชาญ และหัวใจของเราเป็นตัวนำไปสู่การลงมือทำ"
ทั้งนี้ โรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ การสูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน รวมถึงมลพิษทางอากาศ สมาพันธ์หัวใจโลกจึงขอเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับสังคมเพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว เราเน้นย้ำให้ทุกคนได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพ ได้รับอาหารที่มีประโยชน์ และดำเนินชีวิตเพื่อการมีสุขภาพที่ดีโดยไม่ต้องลงทุนสูงตามหลักความเท่าเทียมกันอันเป็นหัวใจสำคัญที่สมาพันธ์หัวใจโลกยึดมั่นในการทำงาน นอกจากนี้ การควบคุมสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ควบคู่กับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดียังเป็นตัวอย่างที่หน่วยงานภาครัฐและชุมชนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน สมาพันธ์หัวใจโลกยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักและให้การป้องกันที่เร่งด่วนแก่บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าด้วย
สมาพันธ์หัวใจโลกได้เผยแพร่ผลการวิจัยระดับโลก เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดกับโควิด-19 เพื่อทำความเข้าใจถึงผลที่ตามมาและปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนาเกี่ยวกับการปลดล็อกเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับพฤติกรรมและสังคมเพื่อต่อสู้กับโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถเข้าร่วมฟังเสวนาเซสชันแรก ได้ในวันที่ 29 ก.ย. เวลา 15.00 น. CET
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่http://worldheartday.org
สื่อมวลชนติดต่อ: Borjana.Pervan@worldheart.org
โลโก้ -https://mma.prnasia.com/media2/1280905/World_Heart_Federation_Logo.jpg?p=medium600