omniture

CGTN: ชาวจีน 98.99 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน: จีนทำอย่างไรจึงสามารถขจัดความยากจนสุดขีดได้สำเร็จเร็วกว่ากำหนดถึง 10 ปี

CGTN
2021-03-01 10:34 207

ปักกิ่ง--1 มีนาคม 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา จีนได้ประกาศ "ชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด" ในการต่อสู้เพื่อขจัดความยากจนสุดขีด (extreme poverty) โดยประชาชนยากจนในชนบท 98.99 ล้านคนถูกดึงขึ้นมาอยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจนตามนิยามของรัฐบาลเมื่อพิจารณาจากรายได้ต่อหัวต่อปี ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าจีนสามารถเริ่มต้นสร้างสังคมที่มีความเจริญระดับปานกลางในทุกแง่มุมได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก สามารถบรรเทาความยากจนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 ของสหประชาชาติ ได้เร็วกว่ากำหนดถึง 10 ปี ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นในปีเดียวกับวาระครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

"นี่คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของประชาชนชาวจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีน และประเทศจีนของเรา" นายสี จิ้นผิง กล่าวในการประชุมเพื่อฉลองความสำเร็จของประเทศในการขจัดความยากจนสุดขีด และยกย่องผู้ที่มีบทบาทสำคัญในภารกิจนี้ พร้อมกับเชิดชูความสำเร็จครั้งนี้ว่าเป็น "ความมหัศจรรย์ที่ควรค่าแก่การจารึกไว้ในประวัติศาสตร์"

การเฉลิมฉลองครั้งนี้จัดขึ้นที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งเมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

การปฏิรูปต้องอาศัยเวลาและการตรากตรำทำงาน

การเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ในช่วงทศวรรษ 2520 นายสี จิ้นผิง ในวัย 30 ปี ถูกส่งไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ระดับรากหญ้าที่อำเภอเจิ้งติ้ง ในมณฑลเหอเป่ยทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงที่จีนริเริ่มโครงการบรรเทาความยากจนขนานใหญ่ โดยเขาได้เริ่มทดลองการปฏิรูปด้วยตัวเอง ด้วยการทำสัญญาที่ดินในชนบท ภายหลังเขาได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองหนิงเต๋อ ในมณฑลฝูเจี้ยนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

นายสี จิ้นผิง ระบุในหนังสือ "Up and Out of Poverty" ที่เขาเป็นผู้เขียนว่า "ผมรู้สึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา เพราะการบรรเทาความยากจนเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความพยายามของคนหลายรุ่น"

ตลอดระยะเวลา 20 ปีหลังจากนั้น การบรรเทาความยากจนได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตการทำงานการเมืองของเขา

"การปฏิรูปของนายสี จิ้นผิง เป็นผลพวงมาจากประสบการณ์ของเขา" ซือ จื้อหง อดีตรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าว "เขาตระหนักดีว่าแนวทางเดิม ๆ ที่ไร้ซึ่งความยืดหยุ่นทำให้จีนไปไม่ถึงไหน และการปฏิรูปเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ"

นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีจีนได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนชุมชนยากจนมากกว่า 50 ครั้ง เพื่อเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

กำหนดมาตรการโดยอิงสถานการณ์จริง

ความแม่นยำตรงจุดคือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของจีน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ชูยุทธศาสตร์การบรรเทาความยากจนแบบมุ่งเป้าเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2556 และเขาได้เปรียบเทียบแนวทางที่ไม่มุ่งเป้าว่าเป็นเหมือน "การฆ่าเห็บหมัดด้วยระเบิดมือ"

ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เขาเรียกยุทธศาสตร์ดังกล่าวว่า "แนวทางการขจัดความยากจนแบบฉบับจีน" ซึ่งให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ใครคือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ใครควรเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ ควรให้ความช่วยเหลืออย่างไร และควรใช้มาตรฐานและกระบวนการใดในการขจัดความยากจน

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลกลางยังส่งเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นหลายล้านคนลงพื้นที่ โดยลงไปคลุกคลีกับประชาชนระดับรากหญ้าที่ยากจนที่สุดและทำงานแบบถึงตัวในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

"จีนสามารถขจัดความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) ได้สำเร็จเพราะหลักปรัชญาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" เจิ้ง หยงเหนียน คณบดีสถาบัน Advanced Institute of Global and Contemporary China Studies แห่งมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong ในเมืองเซินเจิ้น ให้สัมภาษณ์กับ CGTN

โครงสร้างพื้นฐานในชนบท การศึกษา และการดูแลสุขภาพ ต่างได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นทั้งหมด โดยข้อมูลจากทางการแสดงให้เห็นว่า ประชาชนกว่า 9.6 ล้านคนได้ย้ายออกจากบ้านอิฐ-ดินเหนียวหลังเล็ก ๆ ที่ไม่มั่นคงแข็งแรงและอาจไม่ปลอดภัย ขณะเดียวกัน โรงพยายาลในชนบทบางแห่งได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงแก่ประชาชนในชนบท

"ความยากจนที่เป็นผลพวงมาจากการเจ็บไข้ได้ป่วยคือหนึ่งในปัญหาที่แก้ยากที่สุดในชนบท" หู อี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัฐในอำเภอเจิ้นสง มณฑลยูนนาน กล่าว "เดี๋ยวนี้ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางไปรักษาตัวไกล ๆ แล้ว แม้ว่าจะเป็นโรคร้ายก็ตาม"

การฟื้นฟูชนบท: ความสำเร็จร่วมกัน

นอกเหนือจากผลสำเร็จที่ลุล่วงไปแล้ว ตอนนี้จีนยังตั้งเป้าสูงขึ้น โดยมุ่งผลักดันให้พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมมีความทันสมัยในระดับพื้นฐานภายในปี 2578 โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรที่แข็งแกร่ง ชนบทอันงดงาม และเกษตรกรที่มั่งคั่งภายในปี 2593

คีย์เวิร์ดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ การฟื้นฟูชนบท

"เพื่อเร่งสร้างการพัฒนารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "วงจรคู่" (Dual Circulation) ซึ่งตลาดในประเทศและต่างประเทศส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยมีตลาดในประเทศเป็นหลักนั้น เกษตรกรรม พื้นที่ชนบท และเกษตรกร จำเป็นต้องมีบทบาทในการสนับสนุนและสร้างเสถียรภาพ เพื่อรักษาระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีน" หลี่ กัวเซียง นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาชนบท สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้สัมภาษณ์กับคอลัมน์ CGTN Opinion

แต่ก่อนชาวบ้านเคยขายผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น แต่ตอนนี้ตลาดกว้างขึ้นแล้วเพราะอีคอมเมิร์ซที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

หลัว ฮุ่ยหมิน ชาวอำเภอว่านเหนียนในมณฑลเจียงซี ได้วิเคราะห์อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในเมืองต่าง ๆ และปรับอุปทานผลผลิตทางการเกษตรให้เข้ากัน ตอนนี้เขาเปิดร้านค้าหลายสาขาเพื่อจำหน่ายพืชผลและน้ำมันให้แก่ลูกค้าทั่วประเทศ ตั้งแต่หนานชาง เมืองเอกของมณฑลเจียงซี ไปจนถึงมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของประเทศ

เขาจ้างคนงานกว่า 90 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวบ้านในท้องถิ่น โดยแต่ละคนได้รับค่าตอบแทนสูงสุด 15,000 หยวน (2,172 ดอลลาร์) ในแต่ละเดือน

ผลสำรวจแรงงานอพยพ 3,378 คน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2562 เผยให้เห็นว่า กว่า 60% ระบุว่า ทรัพยากรสาธารณะที่ดีขึ้นทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้พวกเขายังคงอยู่ในชนบทหรือกลับไปทำงานในชนบท

ความยากของการฟื้นฟูชนบทไม่ได้น้อยไปกว่าการขจัดความยากจนสุดขีด "แต่เราจะยังคงทำงานอย่างหนักและก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง" นายสี จิ้นผิง กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

อ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://news.cgtn.com/news/2021-02-25/How-did-China-achieve-zero-extreme-poverty-10-years-ahead-of-schedule--YabU8v30g8/index.html 

Source: CGTN
Keywords: Publishing/Information Service Economic news, trends, analysis