omniture

PwC เผย ซีอีโอสามในสี่คาดการณ์เศรษฐกิจกลับมาเติบโตในปี 2564

PwC
2021-03-15 11:59 259

นิวยอร์ก

15 มีนาคม 2564

/PRNewswire/ --

  • ผลสำรวจซีอีโอมากกว่า 5,000 คนทั่วโลกโดย PwC เผยให้เห็นมุมมองเชิงบวกที่แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์
  • 76% ของซีอีโอเชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในปี 2564
  • บรรดาซีอีโอเริ่มกลับมาเชื่อมั่นอีกครั้งว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้น
  • สหรัฐนำห่างจีนมากขึ้น ในฐานะจุดหมายปลายทางการเติบโตอันดับหนึ่งในสายตาของซีอีโอ
  • การประชุม COP26 จะมีขึ้นในปีนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงไม่ได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน
  • การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดเลื่อนขึ้นมาเป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกที่ซีอีโอมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโต

หนึ่งปีหลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ เหล่าซีอีโอต่างแสดงความคิดเห็นเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดย 76% ของผู้นำธุรกิจทั่วโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นในปี 2564

ตัวเลขดังกล่าวมาจากการสำรวจซีอีโอทั่วโลก (Global CEO Survey) ประจำปีครั้งที่ 24 ของ PwC ซึ่งในปีนี้ PwC ได้สำรวจความคิดเห็นของซีอีโอ 5,050 คนใน 100 ประเทศและดินแดนในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2564

อัตราร้อยละของซีอีโอที่แสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะเติบโต เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2563 และ 42% ในปี 2562 และเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการถามคำถามนี้ในการสำรวจเมื่อปี 2555 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก พบว่าซีอีโอมีมุมมองเชิงบวกอย่างมากเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยซีอีโอ 86% ในอเมริกาเหนือ และ 76% ในยุโรปตะวันตกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตดีขึ้นในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า

"หลังจากปีแห่งโศกนาฏกรรมของมวลมนุษย์และภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองทั่วโลก จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นว่าผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจด้านการลงทุนและการจ้างงานค่อนข้างมีความหวังเกี่ยวกับช่วงเวลาหนึ่งปีข้างหน้า ซีอีโอมีความเชื่อว่าการเติบโตจะกลับคืนมา ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการพัฒนาที่รวดเร็วของวัคซีนและการเริ่มฉีดวัคซีนในหลายประเทศ" Bob Moritz ประธาน PwC Network กล่าว

"ในช่วงปีแห่งความวุ่นวายที่ผ่านมา ซีอีโอต้องคิดใหม่ ทำใหม่ พร้อมทั้งจัดการกับงบดุลที่ตึงตัว และให้การสนับสนุนพนักงานที่ต้องเคว้งคว้างท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติเหล่านี้

"ตอนนี้ซีอีโอต้องเผชิญกับความท้าทายพื้นฐาน 2 ประการ ประการแรกคือ จะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้วางใจในขณะที่พวกเขามีความคาดหวังในธุรกิจสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม และประการที่สอง จะทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรที่เข้าใจและรับมือกับความท้าทายเหล่านี้จะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตโรคระบาด พร้อมก้าวเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ สามารถทนต่อเหตุการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในอนาคตได้"

ความเชื่อมั่นของซีอีโอที่มีต่อการเติบโตของรายได้ ดีดตัวกลับสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาว

ซีอีโอมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจของตนเอง โดย 36% ของซีอีโอที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขา "มั่นใจมาก" ว่ารายได้ขององค์กรมีโอกาสที่จะเติบโตในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2563

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ความเชื่อมั่นทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มากในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดที่มีต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในระดับที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม โดยซีอีโอในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและโทรคมนาคมมีความเชื่อมั่นสูงสุดที่ 45% และ 43% ตามลำดับ ในขณะที่ซีอีโอในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ (29%) และภาคบริการและการท่องเที่ยว (27%) เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นน้อยที่สุดเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

สหรัฐนำห่างจีนมากขึ้น ในฐานะจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับการเติบโต

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า สหรัฐยังคงความเป็นผู้นำในฐานะตลาดอันดับหนึ่งที่ซีอีโอแสวงหาการเติบโตในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยอยู่ที่ 35% นำห่างจีนซึ่งอยู่ที่ 28% ออกไป 7% ขณะที่ในปี 2563 สหรัฐนำจีนเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เหตุการณ์ใหม่ ๆ ทางด้านการเมืองและความตึงเครียดที่มีอยู่เดิมส่งผลต่อมุมมองของซีอีโอในสหรัฐ โดยซีอีโอในสหรัฐลดการให้ความสำคัญกับจีน ในแง่ของการเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนการเติบโต และเพิ่มความสนใจไปที่แคนาดาและเม็กซิโก โดยเมื่อเทียบกับปี 2563 ความสนใจของซีอีโอสหรัฐที่มีต่อสองประเทศหลังเพิ่มขึ้น 78% ในขณะเดียวกันซีอีโอของจีนแสดงความสนใจเพิ่มขึ้นในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ เยอรมนี และญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นจุดหมายการส่งออก

เยอรมนียังคงครองอันดับสามในรายชื่อจุดหมายปลายทางการเติบโต ที่ 17% ในขณะที่สหราชอาณาจักร ยุคหลัง Brexit ขยับขึ้นเป็นอันดับสี่ (11%) แซงหน้าอินเดีย (8%) ส่วนญี่ปุ่นไต่อันดับขึ้นเช่นกันมาอยู่ในอันดับที่หก เบียดแซงออสเตรเลียซึ่งครองอันดับดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว

การประชุม COP26 จะมีขึ้นในปีนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงไม่ได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน

อัตราร้อยละของซีอีโอที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2563 เป็น 30% ในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในบริบทของ COP26 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในปีนี้ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ขณะเดียวกัน ผลสำรวจพบว่าซีอีโอมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามเกือบทุกประเภท

ในการรับรู้ของเหล่าซีอีโอเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อการเติบโตนั้น ปรากฏว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ที่เพียงอันดับเก้า ยิ่งไปกว่านั้น ซีอีโออีก 27% ตอบว่า "ไม่กังวลเลย" หรือ "ไม่ค่อยกังวล" เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตในทันทีเมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น โรคระบาด การกำกับดูแลที่มากเกินไป และภัยคุกคามทางไซเบอร์

ในขณะเดียวกัน 39% ของซีอีโอเชื่อว่าองค์กรของพวกเขาจำเป็นต้องทำมากกว่านี้เพื่อ 'ประเมิน' ผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และ 43% เชื่อว่าองค์กรของพวกเขาต้องทำมากกว่านี้เพื่อ 'รายงาน' ผลกระทบดังกล่าว ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าการเปิดเผยข้อมูลด้านอื่น ๆ และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากการที่องค์กรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นและดีขึ้นนั้น จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Economy)

อย่างไรก็ตาม 60% ของซีอีโอยังไม่ได้รวมความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ซึ่งนับว่าน่ากังวล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ โดยในระดับประเทศ พบว่าซีอีโอในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติ เช่น อินเดีย และ จีน กลับมีการเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ในขณะที่โควิด-19 ส่งผลให้ซีอีโอ 23% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในโครงการด้านความยั่งยืน แต่ซีอีโอเกือบหนึ่งในสามกลับไม่ได้วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนดังกล่าวเลย

Bob Moritz กล่าวว่า "เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกของเราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแรงจูงใจใหม่ที่จะผลักดันให้เกิดการตัดสินใจ ซึ่งการที่จะทำได้นั้น ตลาดการเงินจะต้องมีมุมมองที่กว้างขึ้นในเรื่องของคุณค่า โดยไม่จำกัดอยู่แค่เพียงผลตอบแทนทางการเงินและมูลค่าระยะสั้นเท่านั้น เพื่อที่เงินทุนจะได้ไหลไปยังที่ที่เหมาะสม การที่องค์กรรายงานข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน และเป็นการรายงานที่ดีขึ้นและสามารถเปรียบเทียบได้ก็นับว่ามีความสำคัญเช่นกัน เพื่อที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้เห็นว่าบริษัทสร้างคุณค่าแก่สังคมและโลกของเรา ตลอดจนบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินของบริษัทได้อย่างไร บริษัทที่ทำสิ่งนี้ได้จะสามารถยกระดับแบรนด์ และสร้างความไว้วางใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง"

ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ นโยบายภาษี และการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด เป็นประเด็นที่สร้างความกังวลมากขึ้น

ไม่น่าแปลกใจที่สถานการณ์การแพร่ระบาดและวิกฤตด้านสุขภาพ[1] ติดอันดับหนึ่งในการสำรวจภัยคุกคามต่อแนวโน้มการเติบโต แซงหน้าความกังวลเรื่องการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของซีอีโอทั่วโลกอย่างต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ปี 2557

กระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกำลังเพิ่มความเสี่ยงที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เมื่อรวมกับเหตุการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2563 ซึ่งรวมถึงการโจมตีด้วยไวรัสเรียกค่าไถ่ (ransomware) จึงส่งผลให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์กระโดดขึ้นมาเป็นความกังวลอันดับสอง โดยซีอีโอ 47% แสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากระดับ 33% ในปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีอีโอในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก มองว่าความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลยิ่งกว่าโรคระบาด

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความกังวลที่ไต่อันดับขึ้นอย่างรวดเร็วคือ การแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิด (28% เพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2563) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ชื่อเสียง และสาธารณสุข อันจะส่งผลสืบเนื่องให้ความไว้วางใจในสังคมลดลง

ในปี 2563 ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายภาษีไม่ติดสิบอันดับแรกในการสำรวจความกังวลของซีอีโอ โดยมีซีอีโอเพียง 19% เท่านั้นที่กังวลในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวถูกให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยพุ่งขึ้นมาอยู่ในอันดับที่เจ็ด (31%) เนื่องจากซีอีโอต่างจับตาหนี้สาธารณะสะสม และตระหนักดีว่าภาษีธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น

การลงทุนดิจิทัลสำหรับอนาคต

เมื่อถามเกี่ยวกับการใช้จ่ายเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซีอีโอเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) คาดการณ์ว่าจะเพิ่มการใช้จ่าย 10% หรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซีอีโอจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการดำเนินการใด ๆ เพื่อรับมือ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ซีอีโอไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่วางแผนลงทุนดิจิทัลเพิ่มขึ้น กำลังวางแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายอย่างน้อย 10% ในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลด้วย

ในขณะเดียวกัน ซีอีโอจำนวนมากขึ้นที่ 36% วางแผนที่จะใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเพื่อทำให้บุคลากรมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นสองเท่าจากเมื่อปี 2559

Bob Moritz กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของการแพร่ระบาด เรากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนเนื่องจากการฉีดวัคซีนเริ่มต้นขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่ารูปแบบของการฟื้นตัวจะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ เราไม่สามารถย้อนกลับไปสู่วิถีทางแบบเดิม ๆ ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง ซีอีโอจะต้องคิดต่าง และประเมินการตัดสินใจและการกระทำของตนอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคมในวงกว้าง ซึ่งการที่จะทำดังกล่าว ซีอีโอจะเป็นต้องกำหนดแนวทางที่สร้างความไว้วางใจและมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้น สังคมและโลกของเรา"

หมายเหตุ:

ดาวน์โหลดรายงานได้ที่ ceosurvey.pwc

PwC สำรวจความคิดเห็นซีอีโอจำนวน 5,050 คนใน 100 ประเทศและดินแดนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3,501 คนในการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว ตัวเลขระดับโลกและระดับภูมิภาคในรายงานฉบับนี้อ้างอิงจากซีอีโอ 1,779 คน ซึ่งได้จากการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างย่อยให้ได้สัดส่วนกับ GDP ของแต่ละประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าความคิดเห็นของซีอีโอกลุ่มนี้สะท้อนมุมมองของซีอีโอทั่วทุกภูมิภาคหลัก ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นรายภูมิภาค ประเทศและอุตสาหกรรม สามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลได้

ซีอีโอ 1,779 คน ซึ่งให้คำตอบที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวเลขอ้างอิงในระดับโลกและระดับภูมิภาคนั้น ประกอบด้วย

  • 6% มาจากองค์กรที่มีรายได้ตั้งแต่ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป
  • 9% มาจากองค์กรที่มีรายได้ระหว่าง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • 35% มาจากองค์กรที่มีรายได้ระหว่าง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • 34% มาจากองค์กรที่มีรายได้ระหว่าง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • 14% มาจากองค์กรที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • 60% มาจากองค์กรที่เป็นของเอกชน

นอกจากนี้ เรายังได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบตัวต่อตัวกับซีอีโอจากหกภูมิภาค ซึ่งบทสัมภาษณ์บางส่วนถูกอ้างถึงในรายงานฉบับนี้ สามารถอ่านบทสัมภาษณ์เหล่านี้ได้บนเว็บไซต์ของเราที่ https://www.strategy-business.com/inside-the-mind-of-the-ceo 

เกี่ยวกับ PwC

PwC มุ่งมั่นสร้างความไว้วางใจในสังคมและแก้ปัญหาที่สำคัญ เราคือเครือข่ายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใน 155 ประเทศ และมีบุคลากรกว่า 284,000 คนที่ทุ่มเทให้บริการรับประกัน ให้คำปรึกษา และให้บริการด้านภาษีที่มีคุณภาพ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.pwc.com

PwC หมายถึงเครือข่ายบริษัท PwC และ/หรือ บริษัทสมาชิกหนึ่งบริษัทหรือหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทเป็นนิติบุคคลที่แยกกันชัดเจน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwc.com/structure

(C) 2564 PwC ขอสงวนสิทธิ์

[1] ปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ โดยครั้งล่าสุดที่มีปัจจัยนี้คือปี 2558

ติดตาม/รีทวีต: @pwc

โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/1121790/PWC_Logo.jpg?p=medium600

 

 

Source: PwC
Keywords: Banking/Financial Service Computer/Electronics High Tech Security Publishing/Information Service Economic news, trends, analysis
Related News