omniture

ผลสำรวจของ PwC เผยสถานการณ์โรคระบาดกระตุ้นให้พนักงานเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัล แต่หลายกลุ่มกลับไม่ได้รับโอกาส

PwC
2021-03-16 16:16 257

พนักงาน 40% เผยว่าทักษะดิจิทัลของตนเองพัฒนาขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ แต่ผลสำรวจเผยให้เห็นความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสด้านการทำงานและฝึกฝนทักษะ

ลอนดอน--16 มีนาคม 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

หนึ่งในการสำรวจพนักงานทั่วโลกครั้งใหญ่ที่สุดเผยให้เห็นว่า

  • 2 ใน 5 เชื่อว่างานที่ตนเองทำจะล้าสมัยภายใน 5 ปี
  • ครี่งหนึ่งพลาดโอกาสในหน้าที่การงานเพราะอคติ
  • ผู้ที่ได้รับโอกาสฝึกฝนทักษะ ส่วนใหญ่คือผู้ที่มีทักษะสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
  • คนอายุน้อยให้ความสำคัญกับรายได้สูงสุดมากกว่า "การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่า"
  • ในบรรดาผู้ที่สามารถทำงานจากทางไกลได้นั้น มีไม่ถึง 1 ใน 10 ที่อยากกลับไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานแบบเดิมเต็มเวลา
  • พนักงานฝากอนาคตไว้ในมือของตัวเอง โดย 77% พร้อมเรียนรู้ทักษะใหม่หรือเข้ารับการฝึกฝนซ้ำ และ 49% ต้องการสร้างธุรกิจของตนเอง

ผลสำรวจพนักงานกว่า 32,500 คน ใน 19 ประเทศ แสดงให้เห็นภาพพนักงานทั่วโลกเปลี่ยนไปทำงานจากทางไกลกันมากขึ้น แต่นั่นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เมื่อเจาะลึกลงไปจึงพบความจริงว่า โรคระบาดทำให้ผู้ตอบแบบสำรวจ 60% รู้สึกกังวลว่าระบบอัตโนมัติทำให้คนเสี่ยงตกงาน ขณะที่ 48% เชื่อว่าการจ้างงานแบบเดิมจะไม่มีอีกต่อไปในอนาคต และ 39% คิดว่างานที่ตนเองทำจะล้าสมัยภายใน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่สถานการณ์แห่งความสิ้นหวัง เพราะผู้ตอบแบบสำรวจ 40% ระบุว่าได้พัฒนาทักษะดิจิทัลของตนเองในช่วงล็อกดาวน์อันยาวนาน และจะพัฒนาทักษะและฝึกฝนต่อไป ขณะที่ 77% พร้อมเรียนรู้ทักษะใหม่หรือเข้ารับการฝึกฝนซ้ำ และ 74% มองว่าการฝึกฝนทักษะเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล นอกจากนี้ 80% ยังมั่นใจว่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในอินเดีย (69%) และแอฟริกาใต้ (66%) ที่บอกว่า "มั่นใจมาก"   

ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสำรวจ 49% ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการ โดยสนใจสร้างธุรกิจของตนเอง

พนักงานครี่งหนึ่งพลาดโอกาสในการทำงานหรือฝึกฝนทักษะเพราะอคติ

จากการสำรวจพบว่า พนักงาน 50% เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ซึ่งส่งผลให้พลาดโอกาสในการฝึกฝนทักษะหรือก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รายงานระบุว่า พนักงาน 13% พลาดโอกาสเพราะเชื้อชาติ และ 14% ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเพศ โดยผู้หญิงรายงานว่าถูกเลือกปฏิบัติเพราะเพศมากกว่าผู้ชายสองเท่า นอกจากนี้ 13% ถูกเลือกปฏิบัติเพราะการศึกษา โดยผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือมีคุณสมบัติสูงจะได้รับโอกาสมากกว่า ขณะที่คนอายุน้อยและคนอายุมากต่างก็ถูกเลือกปฏิบัติเพราะอายุ

ผลสำรวจยังพบว่ามีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสการพัฒนาทักษะ โดย 46% ของผู้สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรีเผยว่าได้รับโอกาสมากมายในการพัฒนาทักษะดิจิทัล ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายมีเพียง 28% ที่ตอบเช่นนั้น และในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมากที่สุดอย่างการค้าปลีกและการขนส่ง มีเพียง 25% และ 20% ตามลำดับ ส่วนภาคธนาคารอยู่ที่ 42%

"หากรูปแบบการเข้าถึงการฝึกฝนทักษะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป การพัฒนาทักษะจะยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งที่จริงแล้วควรจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม" Bhushan Sethi ผู้นำร่วมฝ่าย People and Organization Practice ของ PwC กล่าว "รัฐบาลและผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อพยายามสร้างความมั่นใจว่า พนักงานในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงสุดจะได้รับโอกาสที่จำเป็น การเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถควบคุมการจัดการผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นได้"

คนอายุน้อยให้ความสำคัญกับรายได้สูงสุดมากกว่า "การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่า" หากต้องเลือก

พนักงาน 3 ใน 4 ทั่วโลก (75%) ต้องการทำงานกับองค์กรที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในจีน (87%) อินเดีย (90%) และแอฟริกาใต้ (90%)

อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจได้จำกัดความสามารถของผู้คนในการทำงานที่ใฝ่ฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนอายุน้อย โดยถ้าหากต้องเลือก 54% เลือกทำงานที่สามารถ "คว้าทุกโอกาสในการสร้างรายได้สูงสุด" มากกว่างานที่ "สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่า" (46%)

การสำรวจค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนอายุ 18-34 ปี มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับรายได้มากกว่าการทำประโยชน์เพื่อสังคมเมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่น โดย 57% ให้ความสำคัญกับ "รายได้สูงสุด" มากกว่า "การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่า" (43%) โดยนำอยู่ 14 จุด ส่วนคนอายุ 55 ปีขึ้นไปให้ความสำคัญกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่ามากกว่า โดยนำอยู่ 8 จุด และคนอายุ 65 ปีขึ้นไปให้ความสำคัญกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่ามากกว่าเช่นกัน โดยนำอยู่ถึง 22 จุด

"ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสุขภาพและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เราได้เห็นว่าพนักงานมีความคาดหวังกับบริษัทมากขึ้น โดยหวังให้นายจ้างทำประโยชน์ให้กับสังคม" Peter Brown ผู้นำร่วมฝ่าย People and Organization Practice ของ PwC กล่าว "โชคดีที่การทำประโยชน์เพื่อสังคมและการสร้างกำไรสูงสุดสามารถเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยในความเป็นจริงแล้ว การทำธุรกิจเพื่อสังคมสามารถเพิ่มกำไรให้บริษัทได้ด้วย"

การทำงานทางไกลควรเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพนักงาน

ผลสำรวจได้ข้อสรุปว่า การทำงานจากทางไกลจะดำเนินต่อไปหลังคลายล็อกดาวน์ โดยในบรรดาผู้ที่สามารถทำงานจากทางไกลได้นั้น 72% ต้องการทำงานทางไกลควบคู่กับการทำงานแบบเดิม และมีเพียง 9% ที่อยากกลับไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานแบบเดิมเต็มเวลา โดยผู้ประกอบวิชาชีพ พนักงานออฟฟิศ เจ้าของธุรกิจ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยทำงานทางไกลได้ อย่างไรก็ดี 43% ของผู้ใช้แรงงาน และ 45% ของแรงงานกึ่งฝีมือ ระบุว่ามีงานหลายส่วนที่สามารถทำจากทางไกลได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ทัศนคติของพนักงานเกี่ยวกับการทำงานจากที่บ้านแตกต่างกันตามพื้นที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโรคระบาดทำให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยพนักงานในเมืองใหญ่ (66%) มีแนวโน้มทำงานที่สามารถทำจากทางไกลได้มากกว่าพนักงานในชนบท (44%)

พนักงานเห็นต่างเรื่องความเป็นส่วนตัวและเทคโนโลยี

พนักงาน 44% ระบุว่า ยินยอมให้นายจ้างใช้เทคโนโลยีเพื่อสอดส่องประสิทธิภาพการทำงานของตนเอง เช่น เซ็นเซอร์และอุปกรณ์สวมใส่ แต่ 31% ไม่ยินยอม อย่างไรก็ดี หลายคนไม่ได้ยินยอมถึงขั้นอนุญาตให้นายจ้างเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 41% ไม่ยินยอมให้นายจ้างเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เช่น โปรไฟล์โซเชียลมีเดีย และมีเพียง 35% ที่ยินยอม

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

ในระหว่างวันที่ 26 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัท PwC ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 32,517 คน ประกอบด้วยพนักงาน เจ้าของธุรกิจ พนักงานสัญญาจ้าง นักเรียนนักศึกษา คนว่างงานที่กำลังหางานทำ รวมถึงผู้ที่ถูกพักงานหรือเลิกจ้างชั่วคราว ใน 19 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น คูเวต มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ สเปน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

เกี่ยวกับ PwC

PwC มุ่งมั่นสร้างความไว้วางใจในสังคมและแก้ปัญหาที่สำคัญ เราคือเครือข่ายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใน 155 ประเทศ และมีบุคลากรกว่า 284,000 คนที่ทุ่มเทให้บริการรับประกัน ให้คำปรึกษา และให้บริการด้านภาษีที่มีคุณภาพ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและแสดงความคิดเห็นได้ที่ www.pwc.com

PwC หมายถึงเครือข่ายบริษัท PwC และ/หรือ บริษัทสมาชิกหนึ่งบริษัทหรือหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทเป็นนิติบุคคลที่แยกกันชัดเจน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwc.com/structure

© 2564 PwC สงวนลิขสิทธิ์

โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/1121790/PWC_Logo.jpg?p=medium600

Source: PwC
Related Links:
Keywords: Publishing/Information Service Workforce Management/Human Resources Survey, Polls & Research
Related News