omniture

หายนะทางทันตกรรม: หนึ่งปีหลังการล็อกดาวน์รอบแรก ทันตแพทย์ทั่วโลกเผชิญกับผลพวงจากโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพช่องปากของคนทั่วโลก โดยพบฟันผุและโรคเหงือกมากขึ้น

FDI World Dental Federation
2021-03-18 21:47 259

พฤติกรรมเปลี่ยนไป: หลายคนไม่ได้แปรงฟันวันละสองครั้งอย่างเคย กินขนมมากขึ้นตอนอยู่บ้าน และไม่ไปพบทันตแพทย์

เจนีวา

18 มีนาคม 2564

/PRNewswire/ -- ก่อนที่จะถึงวันทันตสาธารณสุขโลก (World Oral Health Day) ในวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม และหนึ่งปีหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรดาที่ปรึกษาและสมาชิกของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI World Dental Federation: FDI) ได้เห็นหายนะที่เกิดขึ้นกับสุขภาพฟันและเหงือกของคนทั่วโลก

"เราเรียกมันว่าหายนะทางทันตกรรม" Dr. Gerhard Konrad Seeberger ประธาน FDI กล่าว "มาตรการควบคุมต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความลังเลใจในการดูแลสุขภาพช่องปาก แต่ความจริงทั้งหมดไม่ได้มีแค่นั้น"  

ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดรอบแรก คลินิกทันตกรรมทั่วโลกต้องระงับการให้บริการนาน 2-3 เดือน ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ทันตแพทย์ต้องเลื่อนหรือยกเลิกนัดคนไข้ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า บริการทันตกรรมเป็นหนึ่งในบริการสุขภาพที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโรคโควิด-19 โดย 77% ของประเทศทั่วโลกรายงานว่าบริการทันตกรรมหยุดชะงักบางส่วนหรือทั้งหมด

- ดูภาพประกอบได้ที่ AP Images (http://www.apimages.com) -

หลังการระบาดรอบแรกและก่อนเกิดการระบาดรอบสอง บริการทันตกรรมในหลายประเทศได้กลับมาให้บริการอีกครั้ง โดยทันตแพทย์ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้ออย่างเข้มงวดที่สุด และมีการทบทวนมาตรการด้านสุขอนามัยตามข้อกำหนดของรัฐบาล โดยผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า บุคลากรด้านทันตกรรมมีอัตราการติดเชื้อ SARS-CoV-2 น้อยกว่าบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ อย่างมากในเกือบทุกพื้นที่ทั่วโลก 

ถึงกระนั้น คนจำนวนมากก็ยังหลีกเลี่ยงการตรวจสุขภาพฟันตามกำหนด และยอมพบทันตแพทย์ต่อเมื่อปวดฟันอย่างรุนแรงเท่านั้น หลายคนจึงเกิดฟันผุอย่างรุนแรงและอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การติดเชื้อ ซึ่งทำให้การรักษาซับซ้อนกว่าเดิม

หนึ่งปีหลังการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากเผชิญอุปสรรคครั้งใหญ่ บรรดาทันตแพทย์ต้องเผชิญกับผลพวงอันเลวร้าย โดย Professor Paulo Melo ที่ปรึกษาของ FDI ผู้สอนวิชาทันตกรรมและทำการรักษาในเมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส พบคนไข้หลายสิบคนที่กลัวติดโควิด-19 และเลื่อนนัดทันตแพทย์ โดยปกติแล้ว คนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับคำแนะนำให้ตรวจสุขภาพฟันทุก 3-6 เดือน แต่คนไข้จำนวนมากรอนาน 9 เดือน ถึง 1 ปี หรือนานกว่านั้น จนหลายรายปวดฟันอย่างรุนแรงและเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ส่งผลให้บางรายต้องถอนฟัน และบางรายต้องรักษารากฟัน  

"ในระหว่างที่เกิดโรคระบาด คนไข้ความเสี่ยงสูงมีแนวโน้มเกิดปัญหาสุขภาพฟันมากกว่าหนึ่งอย่าง โดยอาจมี 3-4 ปัญหาพร้อมกัน เนื่องจากปล่อยเวลาให้ผ่านไปนานโดยไม่มาตรวจสุขภาพฟัน" Professor Melo กล่าว "ปัญหาที่พบบ่อยคือรอยโรคฟันผุและโรคเหงือก"

"โรคฟันผุที่ควรรักษาได้ไม่ยาก ลุกลามกลายเป็นโรคเนื้อเยื่อรอบปลายรากอักเสบและฝี ซึ่งต้องใช้วิธีการรักษาที่ซับซ้อนกว่าเดิม" Dr. Vanishree MK ศาสตราจารย์ด้านทันตสาธารณสุขจากเมืองบังคาลอร์ ประเทศอินเดีย กล่าว "คนไข้ควรข่มความกลัว และไม่ควรเลื่อนนัดรักษาฟันที่มีความสำคัญ"

"หนึ่งในผลพวงที่เลวร้ายที่สุดของโรคระบาดคือ ปัญหาสุขภาพช่องปากที่ไม่เร่งด่วนได้กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนเพราะคนไข้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปหลายเดือนจึงมารับการรักษา" Dr. Maria Fernanda Atuesta Mondragon ประธาน Colombian Dental Federation และที่ปรึกษาของ FDI กล่าว "คนไข้บางคนต้องจัดฟันใหม่เพราะสูญเสียช่องว่างที่เว้นไว้ให้ฟันเรียงตัวกัน คนไข้บางคนก็มีปัญหาโรคปริทันต์อักเสบรุนแรงมาก"

"วัยรุ่นมักมีฟันผุ และดิฉันพบฟันผุในคนไข้กลุ่มนี้มากขึ้น" Dr. Nahawand Abdulrahman Thabet ทันตแพทย์จากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และที่ปรึกษาของ FDI กล่าว "คนไข้อายุ 15 ปีคนหนึ่งยอมรับว่าเขากินขนมมากขึ้นตอนอยู่บ้านเพราะโรงเรียนปิด ดิฉันคิดว่าเด็กวัยเดียวกันอีกหลายพันคนก็คงอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน"

การล็อกดาวน์ครั้งแล้วครั้งเล่า การจำกัดการเดินทาง และการทำงานจากบ้าน ล้วนทำให้พฤติกรรมและกิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพช่องปากในที่สุด

การกำหนดกิจวัตรการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี อย่างการแปรงฟันวันละสองครั้งตอนเช้าและก่อนนอน ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง จากการศึกษาวิจัยระดับโลก [1] โดย Unilever พบว่า เด็กเลียนแบบพฤติกรรมหลายอย่างของพ่อแม่ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเอง หากพ่อแม่ไม่แปรงฟันวันละสองครั้ง เด็กก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 7 เท่าที่จะไม่แปรงฟัน ขณะที่ผลสำรวจทันตแพทย์ก็เห็นตรงกันว่า กิจวัตรการดูแลช่องปากของเด็กเปลี่ยนไปเพราะพ่อแม่เปลี่ยนก่อน ดังนั้น แม้ว่าจะยังคงมีความท้าทายมากมายอันเป็นผลมาจากโรคระบาด พ่อแม่ก็ยังต้องให้ความสำคัญกับกิจวัตรการดูแลช่องปากของตนเองและของเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน

Dr. Seeberger ย้ำว่า "คนเราต้องไม่กลัวการไปพบทันตแพทย์ เพราะการรักษาสุขภาพช่องปากมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสุขภาพโดยรวม สุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดี"

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Protect your oral health during the COVID-19 pandemic (Factsheet)

เกี่ยวกับวันทันตสาธารณสุขโลก

วันทันตสาธารณสุขโลก ตรงกับวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี ริเริ่มขึ้นโดยสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักถึงการป้องกันและควบคุมโรคในช่องปาก สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.worldoralhealthday.orghttps://www.instagram.com/worldoralhealthday/ #WOHD21 #MouthProud 

พันธมิตรระดับโลกของวันทันตสาธารณสุขโลกคือ Unilever ส่วนผู้สนับสนุนวันทันตสาธารณสุขโลกประกอบด้วย Wrigley Oral Healthcare Program, 3M, Planmeca

เกี่ยวกับสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก

สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก เป็นตัวแทนของทันตแพทย์กว่า 1 ล้านคนทั่วโลก สมาชิกขององค์กรประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและสมาคมทันตกรรมระดับชาติกว่า 200 แห่ง ในกว่า 130 ประเทศ พันธกิจขององค์กรคือการเป็นผู้นำในการทำให้ประชากรโลกมีสุขภาพช่องปากที่ดี สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fdiworlddental.org/facebook.com/FDIWorldDentalFederationtwitter.com/FDIWorldDentallinkedin.com/company/fdiworlddentalfederation

สื่อมวลชนกรุณาติดต่อ

Michael Kessler
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ FDI
มือถือ: + 34 655 792 699
อีเมล: michael.kessler@intoon-media.com

อ้างอิง

[1] Unilever Global Research Summary Report 2021: Attitudes, Behaviours and Experiences of Oral Health During the COVID-19 Pandemic was conducted in November-December 2020 with 6,734 parents in 8 countries: Bangladesh, Egypt, France, India, Indonesia, Italy, Ghana, and Vietnam (available 19 March 2021).

 

 

Source: FDI World Dental Federation
Keywords: Dentistry Health Care/Hospital Infectious Disease Control Survey, Polls & Research
Related News