omniture

สิงคโปร์สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ มุ่งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน สะท้อนการบรรจบกันของพระอาทิตย์และผืนน้ำ

Huawei
2021-07-07 13:01 362

เซินเจิ้น, จีน—7 ก.ค.—พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์กำลังร้อนแรงทั่วโลก โดยมีประเทศต่าง ๆ หันมาแข่งขันเพื่อลดคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ "Race to Zero" กันมากขึ้น ซึ่งสหประชาชาติระบุไว้ว่าเป็น "แคมเปญระดับโลกในการรณรงค์หาผู้นำและการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ เมือง ภูมิภาค และนักลงทุน เพื่อการฟื้นตัวแบบคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างเข้มแข็งและยืดหยุ่น" นับว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจระดับโลกเพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน ประเทศเล็ก ๆ ที่มีทรัพยากรไม่มากนักอย่างสิงคโปร์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น โดยสิงคโปร์ได้สร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) นอกฝั่งแบบลอยน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งเป็นโครงการที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 5 MW ในช่องแคบยะโฮร์

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำนี้พัฒนาขึ้นโดยผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ในสิงคโปร์อย่าง Sunseap Group โดยมีขนาด 5 เฮกตาร์ เทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 5 ผืน ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้มีแผงโซลาร์รวมกัน 13,312 แผง, อินเวอร์เตอร์ 40 ตัว และทุ่นกว่า 30,000 ตัว คาดว่าจะผลิตพลังงานได้ปีละ 6,022,500 kWh ผลิตไฟฟ้าป้อนแฟลตการเคหะของรัฐขนาด 4 ห้องได้ 1250 ชุดในสิงคโปร์ และชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 4258 ตัน


พลังงานแสงอาทิตย์: ก้าวต่อไปของสิงคโปร์ในการรับมือปัญหาโลกร้อน

ในปี 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศแผน Singapore Green Plan 2030 ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อนวาระแห่งชาติของสิงคโปร์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สืบเนื่องจากที่เคยประกาศไว้เมื่อปี 2563 ว่าสิงคโปร์จะตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจากระดับสูงสุดให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2593 วิสัยทัศน์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2593 และสิงคโปร์จะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลลงได้อย่างมีนัยสำคัญ การหาแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าทางเลือกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสิงคโปร์ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนมากถึง 97% ของทั้งหมด

สิงคโปร์มีข้อจำกัดจากการเป็นประเทศเล็ก ๆ จึงขาดการเข้าถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ เช่น พลังงานลมและไฟฟ้ากำลังน้ำ อย่างไรก็ดี การที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรนั้นทำให้สิงคโปร์มีความเข้มของแสงอาทิตย์สูง หรือว่ากันง่าย ๆ คือมีแดดมาก ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งในแผน Green Plan 2030 คือการเพิ่มการวางระบบพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นเป็นสี่เท่าตัวให้มีกำลังผลิตได้สูงสุด 1.5 GW ภายในปี 2568 ด้วยแผนการต่อเนื่องเพื่อให้ถึง 2 GW ภายในปี 2573

อย่างไรก็ดี สิงคโปร์จะบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่และปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงของพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ก็ต่อเมื่อหันไปใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเท่านั้น

สภาวะไม่เอื้ออำนวยต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ยกระดับไปอีกขั้น

การที่สิงคโปร์มีพื้นที่จำกัดทำให้ Sunseap มองออกไปนอกฝั่งในทะเลเปิด เพื่อหาทางเลือกพลังงานหมุนเวียนที่ใช้การได้จริง จนนำไปสู่การวางระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในน่านน้ำใกล้ชายฝั่ง การดำเนินการดังกล่าวยังทำให้ Sunseap บรรลุหลักไมล์สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือการสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำที่เชื่อมโยงแพลตฟอร์มลอยน้ำนี้เข้ากับแผ่นดินใหญ่ โดยได้สร้างเครือข่ายจ่ายกำลังไฟฟ้าระดับ 22 KV ขึ้น

ทะเลเปิดไม่เหมือนแหล่งน้ำภายในแผ่นดิน เพราะมีสภาวะหลากหลายและเปลี่ยนแปลงง่าย ทั้งอุณหภูมิผันผวน น้ำกระเพื่อมขึ้น ๆ ลง ๆ ขณะที่น้ำเค็มยังมีคุณสมบัติกัดกร่อน สภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ เมื่อประกอบกับการเกิดสิ่งปนเปื้อนจากจุลชีพ (biofouling) ที่พบเห็นได้ทั่วไปในน่านน้ำเขตร้อน ซึ่งจุลชีพ พืช สาหร่าย และสัตว์เล็กสัตว์น้อยเกิดสะสมขึ้นบนพื้นผิวแล้ว ก็อาจทำให้องค์ประกอบของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น อินเวอร์เตอร์ เสื่อมสภาพเร็วกว่าเดิม

หัวเว่ย ได้นำความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับระบบคลาวด์ เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ใหม่ล่าสุดในอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อยกระดับการผลิตไฟฟ้า โดย Sunseap ได้เลือกหัวเว่ยเป็นผู้จัดหาอินเวอร์เตอร์สตริงอัจฉริยะที่ผ่านการทดสอบจริงมาแล้วอย่าง Huawei SUN2000-90KTL-H2 เพื่อให้ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำแห่งนี้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และน่าเชื่อถือมากขึ้น


"เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกจากผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ของสิงคโปร์อย่าง Sunseap เพื่อเข้ามาจัดหาอินเวอร์เตอร์แสงอาทิตย์ระดับชั้นนำของอุตสาหกรรม ให้กับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำนอกฝั่งที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก" Bruce Li กรรมการผู้จัดการประจำ Huawei Asia-Pacific Enterprise Digital Power Business กล่าว "ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการผนวกรวมเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง หัวเว่ยจึงมีความมุ่งมั่นในการช่วยให้ผู้คนและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ได้รับประโยชน์จากพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ด้วยโซลูชัน Smart PV สุดล้ำ เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน เราหวังที่จะร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับ Sunseap และช่วยสิงคโปร์เดินหน้าตามแผน Green Plan 2030"

ขับเคลื่อน "แผนสีเขียว" ของสิงคโปร์ด้วยโซลูชัน Smart PV

อินเวอร์เตอร์ของหัวเว่ยมีส่วนช่วยในการผลิตไฟฟ้าระดับกิกะวัตต์จากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานทุกขนาดและทุกเงื่อนไข นอกจากนี้ อินเวอร์เตอร์ยังผ่านการทดสอบการกัดกร่อนของเกลือและการกระจายความร้อนหลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในสภาพแวดล้อมที่หฤโหดและอุณหภูมิตั้งแต่ -55°C ถึง 80°C ด้วยการนำอินเวอร์เตอร์ของหัวเว่ยมาใช้งาน Sunseap จึงสามารถปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการและบำรุงรักษา (O&M) ของแพลตฟอร์มแบบลอยตัวได้ ตลอดจนป้องกันสนิมและการสึกหรอของวัสดุทั่วไป

นอกจากคุณประโยชน์ด้านประสิทธิภาพแล้ว การออกแบบในลักษณะแยกส่วนยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าสามารถนำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยในสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งคุณสมบัติที่นำไปใช้งานได้ง่ายของหัวเว่ยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกต่างจนทำให้ Sunseap เลือกหัวเว่ยเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยี

Shawn Tan รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของ Sunseap กล่าวว่า "คุณสมบัติเคลื่อนย้ายได้อย่างง่ายดายของสตริงอินเวอร์เตอร์จากหัวเว่ย ถือเป็นฟีเจอร์สำคัญที่ช่วยเปิดทางให้เราติดตั้งอินเวอร์เตอร์โดยตรงบนแพลตฟอร์มแบบลอยตัวได้ ถัดจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ท่อร้อยสายไฟฟ้ากระแสตรง (DC) และกล่องรวม DC จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการใช้งาน ด้วยการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของอินเวอร์เตอร์ ความร้อนจึงกระจายตัวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในภาพรวม" 

ด้วยการใช้งานสตริงอินเวอร์เตอร์ของหัวเว่ย กระบวนการ O&M ของ Sunseap จึงมีความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมเปิดทางให้วิศวกรของบริษัทตรวจสอบการทำงานแต่ละวันจากระยะไกลได้อย่างสะดวกสบาย Wilson Tsen ผู้จัดการฝ่ายการพัฒนาธุรกิจและการจัดการโครงการของ Sunseap กล่าวว่า "โซลูชัน Smart PV ของหัวเว่ย และแพลตฟอร์ม O&M อัจฉริยะ ทำให้เราดำเนินการตรวจสอบและให้บริการอุปกรณ์โรงงาน ทุ่นลอยน้ำ และเชือกโยงได้สะดวกสบายมากขึ้น เทคโนโลยีของหัวเว่ยถือเป็นตัวพลิกเกม โดยไม่เพียงแต่เปิดทางให้เราวินิจฉัยปัญหาโรงงานจากระยะไกลได้เท่านั้น แต่ยังตรวจสอบปัญหาได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปหน้างานด้วย"

เราหวังว่าความสมบูรณ์ของโครงการนี้และระยะเวลาที่ใช้ในการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า จะกลายเป็นแม่แบบสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ขาดแคลนที่ดินและมีประชากรหนาแน่นในภูมิภาค เพื่อเปิดตัวโครงการที่คล้ายคลึงกัน

Frank Phuan ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Sunseap กล่าวว่า "แผนสีเขียวของรัฐบาลสิงคโปร์คือความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรงงานที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 5 MW นอกชายฝั่งของเรา ถือเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ บนเส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ผมหวังว่าในอนาคต Sunseap และหัวเว่ยจะยังคงรวมพลังกันในด้านภูมิทัศน์พลังงานสะอาดในสิงคโปร์ต่อไป"

Source: Huawei
Related Links:
Keywords: Electrical Utilities Environmental Products & Services Green Technology Oil/Energy Utilities