omniture

โควิด-19 มีความสัมพันธ์กับความบกพร่องของสมองในระยะยาว-อาการของโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดเร็วขึ้น

Alzheimer’s Association
2021-07-30 03:00 176

เดนเวอร์--29 กรกฎาคม 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

เราได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ SARS-CoV-2 นับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เรายังคงมีคำถามเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของไวรัสที่มีต่อร่างกายและสมองของคนเรา ผลการวิจัยใหม่ที่ได้รับการเผยแพร่ในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประจำปี 2564 หรือ Alzheimer's Association International Conference® (AAIC®) 2021 ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา และถ่ายทอดผ่านทางออนไลน์ ได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างโควิด-19 กับความบกพร่องของสมองในระยะยาว รวมถึงการที่อาการและพยาธิวิทยาของโรคอัลไซเมอร์เกิดเร็วขึ้น

นอกเหนือจากอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารแล้ว ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากยังมีอาการทางจิตประสาทในระยะสั้นและ/หรือระยะยาว ตลอดจนสูญเสียการได้กลิ่นและรับรส รวมถึงมีความบกพร่องของสมองและสมาธิที่เรียกว่า "ภาวะสมองล้า" (brain fog) โดยในบางรายนั้น อาการทางระบบประสาทเหล่านี้คงอยู่ในระยะยาว นักวิจัยจึงพยายามทำความเข้าใจกลไกการเกิดความบกพร่องของสมองและผลกระทบต่อสุขภาพสมองในระยะยาว

บรรดาผู้นำทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงสมาคมโรคอัลไซเมอร์และตัวแทนจากเกือบ 40 ประเทศ ซึ่งได้รับคำแนะนำทางเทคนิคจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลและประเมินผลพวงระยะยาวของโควิด-19 ที่มีต่อระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงความแตกต่างในแต่ละประเทศ โดยผลการค้นพบเบื้องต้นจากประเทศกรีซและอาร์เจนตินาที่นำเสนอในการประชุม AAIC 2021 ระบุว่า ผู้สูงอายุมักเผชิญกับภาวะสมองเสื่อมถอยลงในระยะยาว รวมถึงสูญเสียการได้กลิ่นในระยะยาวหลังหายจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2

ผลการค้นพบสำคัญที่รายงานในการประชุม AAIC 2021 มีดังนี้  

- ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของการบาดเจ็บที่สมอง การอักเสบในระบบประสาท และโรคอัลไซเมอร์ มีความสัมพันธ์อย่างมากกับการเกิดอาการทางระบบประสาทในผู้ป่วยโควิด-19

- ผู้ที่ประสบกับภาวะสมองเสื่อมถอยลงหลังติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะมีออกซิเจนในเลือดต่ำหลังการออกแรงในระยะเวลาสั้น ๆ รวมทั้งมีสภาพร่างกายโดยรวมอ่อนแอ

"ข้อมูลใหม่เหล่านี้สะท้อนถึงแนวโน้มที่น่ากังวล โดยแสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อโควิด-19 ก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อมถอยลงในระยะยาวและอาการของโรคอัลไซเมอร์" คุณ Heather M. Snyder, PhD รองประธานฝ่ายความสัมพันธ์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว "โควิด-19 กำลังทำลายล้างทั่วโลก ด้วยยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 190 ล้านราย และผู้เสียชีวิตกว่า 4 ล้านรายทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องเดินหน้าศึกษาผลกระทบของไวรัสที่มีต่อร่างกายและสมองของคนเรา สมาคมโรคอัลไซเมอร์และพันธมิตรได้เริ่มต้นแล้ว แต่ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป"

ภาวะสมองเสื่อมถอยลงมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียการได้กลิ่นในระยะยาวในผู้ป่วยโควิด -19 ที่หายแล้ว
คุณ Gabriel de Erausquin, MD, PhD, MSc จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ซานอันโตนิโอ มหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas Health Science Center at San Antonio Long School of Medicine) และทีมงานจากกลุ่มความร่วมมือ SARS-CoV-2 ซึ่งนำโดยสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสมองและประสาทสัมผัสการรับกลิ่นในกลุ่มผู้สูงอายุชาวอเมริกันอินเดียนเกือบ 300 คนจากอาร์เจนตินาซึ่งติดเชื้อโควิด-19

การศึกษาทำในกลุ่มตัวอย่างหลังจากติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 3-6 เดือน โดยมากกว่าครึ่งของทั้งหมดพบปัญหาระยะยาวเกี่ยวกับการหลงลืม และราว 1 ใน 4 มีปัญหาทางสมองเพิ่มเติม เช่น ความบกพร่องทางภาษาและการบริหารจัดการตนเอง ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับปัญหาการรับกลิ่นในระยะยาว แต่ไม่รุนแรงเท่ากับตอนที่ติดเชื้อโควิด-19 

"เราเริ่มมองเห็นภาพความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างโควิด-19 กับปัญหาทางสมองหลังติดเชื้อนานหลายเดือน" คุณ Erausquin กล่าว "เราจำเป็นต้องเดินหน้าศึกษาประชากรกลุ่มนี้และกลุ่มอื่นทั่วโลกในระยะยาวกว่านี้ เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อระบบประสาทในระยะยาว"

การติดเชื้อโควิด -19 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคอัลไซเมอร์
ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือด ได้แก่ total tau (t-tau), neurofilament light (NfL), glial fibrillary acid protein (GFAP), ubiquitin carboxyl-terminal hydrolase L1 (UCH-L1), amyloid beta (Aβ40, Aβ42) และ phosphorylated tau (pTau-181) ล้วนเป็นตัวบ่งชี้การบาดเจ็บที่สมอง การอักเสบในระบบประสาท และโรคอัลไซเมอร์

เพื่อศึกษาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือด การเสื่อมของระบบประสาท และการอักเสบในระบบประสาท ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล คุณ Thomas Wisniewski, MD ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา พยาธิวิทยา และจิตเวช จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรอสแมน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University Grossman School of Medicine) และทีมงาน ได้เก็บตัวอย่างพลาสมาจากผู้ป่วย 310 คนที่ติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาในศูนย์การแพทย์ New York University Langone Health โดยพบว่าผู้ป่วย 158 คนมีผลตรวจเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นบวกและมีอาการทางระบบประสาท ส่วนอีก 152 คนมีผลตรวจเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นบวกแต่ไม่มีอาการทางระบบประสาท โดยอาการทางระบบประสาทที่พบมากที่สุดคือความสับสน อันเนื่องมาจากภาวะสมองเสื่อม toxic-metabolic encephalopathy (TME)

ในการศึกษาผู้ป่วยที่เคยมีภาวะสมองปกติ ทั้งกลุ่มที่มีและไม่มีภาวะ TME หลังติดเชื้อโควิด-19 คณะนักวิจัยพบว่า t-tau, NfL, GFAP, pTau 181 และ UCH-L1 ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะ TME มีระดับสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะ TME ส่วนระดับ Aβ1-40 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่สัดส่วน pTau/Aβ42 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่มีภาวะ TME นอกจากนี้ ระดับ tau, NfL, UCHL1 และ GFAP ยังมีความสัมพันธ์อย่างมากกับตัวบ่งชี้อาการอักเสบอย่าง C-reactive peptide ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงปัญหาเกี่ยวกับแนวกั้นเลือดกับสมองที่เกี่ยวเนื่องกับการอักเสบ ซึ่งมาพร้อมกับการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทและเซลล์เกลีย

"ผลการค้นพบเหล่านี้บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 อาจมีอาการและพยาธิวิทยาของโรคอัลไซเมอร์เกิดเร็วขึ้น" คุณ Wisniewski กล่าว "อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยระยะยาวเพิ่มเติมเพื่อศึกษาว่าตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเหล่านี้ส่งผลระยะยาวต่อสมองของผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่"

ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมถอยลงหลังหายจากโควิด -19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะมีสภาพร่างกายอ่อนแอและระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ
George Vavougios, MD, PhD นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเทสซาลี (University of Thessaly) และทีมงาน ได้ทำการศึกษาภาวะสมองเสื่อมถอยลงและปัจจัยชี้วัดด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องในผู้ป่วยโควิด-19 ระดับเล็กน้อยถึงปานกลางจำนวน 32 คน สองเดือนหลังออกจากโรงพยาบาล และพบว่า 56.2% ประสบภาวะสมองเสื่อมถอยลง โดยอาการที่พบมากที่สุดคือความจำบกพร่องในระยะสั้น และความบกพร่องทางสมองหลายด้านโดยไม่มีความจำบกพร่องในระยะสั้น

จากการศึกษายังพบด้วยว่า คะแนนทดสอบการทำงานของสมองที่แย่กว่า มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากกว่า รอบเอวที่มากกว่า และอัตราส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพกที่มากกว่า นอกจากนี้ หลังจากปรับข้อมูลอายุและเพศแล้ว พบว่าคะแนนทดสอบความจำและความคิดที่แย่กว่า มีความสัมพันธ์กับระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ จากการทดสอบเดิน 6 นาที ซึ่งปกติใช้ในการประเมินความสามารถในการทำกิจกรรมของผู้ป่วยโรคหัวใจและปอด

"สมองที่ขาดออกซิเจนไม่ดีต่อสุขภาพ และการขาดออกซิเจนในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสมอง" คุณ Vavougios กล่าว "ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกลไกทางชีวภาพระหว่างภาวะสมองเสื่อมถอยลงอันเป็นผลมาจากโควิด-19 กับความอ่อนล้าหลังติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการรายงานเพียงเล็กน้อยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา"

การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความร่วมมือ SARS-CoV-2 

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์
การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
- โฮมเพจของ AAIC 2021: www.alz.org/aaic/
- ห้องข่าวของ AAIC 2021: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
- แฮชแท็ก AAIC 2021: #AAIC21

 

เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์

สมาคมโรคอัลไซเมอร์มีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทรสายด่วน 800.272.3900 ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด

อ้างอิง

- Gabriel de Erausquin, MD, PhD, MSc, et al. Olfactory dysfunction and chronic cognitive impairment following SARS-CoV-2 infection in a sample of older adults from the Andes mountains of Argentina. (Funder(s): Alzheimer's Association; Fundación de Lucha contra los Trastornos Neurológicos y Psiquiátricos en Minorías (FULTRA); Zachry Foundation Distinguished Chair of Alzheimer's Clinical Care and Research; Greehey Family Foundation Distinguished University Chair of Alzheimer's Research)

- Thomas Wisniewski, PhD, et al. Plasma Biomarkers of Neurodegeneration and Neuroinflammation in Hospitalized COVID-19 Patients with and without New Neurological Symptoms (Funder(s): National Institutes of Health/National Institute on Aging)

- George Vavougios, MD, PhD, et al. Investigating the prevalence of cognitive impairment in mild and moderate COVID-19 patients two months post-discharge: associations with physical fitness and respiratory function. (Funder(s): 2020 National Strategic Reference Framework (NSRF) Scholarship)

โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/1579813/Alzheimers_Association_International_Conference_2021_Logo.jpg?p=medium600

 

 

Source: Alzheimer’s Association
Keywords: Health Care/Hospital Medical/Pharmaceuticals Mental Health Senior Citizens Survey, Polls & Research
Related News