omniture

ไฮไลต์จากการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประจำปี 2564

Alzheimer’s Association
2021-08-02 10:57 234

เดนเวอร์--2 สิงหาคม 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ผลวิจัยที่นำเสนอในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประจำปี 2564 หรือ Alzheimer's Association International Conference® (AAIC®) 2021 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโควิด-19 กับความบกพร่องของสมองในระยะยาว รวมถึงการที่อาการและพยาธิวิทยาของโรคอัลไซเมอร์เกิดเร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการค้นพบมากมายที่มีการนำเสนอในการประชุม AAIC 2021

"ข้อมูลใหม่เหล่านี้สะท้อนถึงแนวโน้มที่น่ากังวล โดยแสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อโควิด-19 ก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อมถอยลงในระยะยาวและอาการของโรคอัลไซเมอร์" คุณ Heather M. Snyder, Ph.D. รองประธานฝ่ายความสัมพันธ์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว "โควิด-19 กำลังทำลายล้างทั่วโลก ด้วยยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 190 ล้านราย และผู้เสียชีวิตกว่า 4 ล้านรายทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องเดินหน้าศึกษาผลกระทบของไวรัสที่มีต่อร่างกายและสมองของคนเราต่อไป"

ข้อมูลใหม่อื่น ๆ ที่นำเสนอในการประชุม AAIC 2021 มีดังนี้

  • คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นอาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อม
  • จำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเป็นกว่า 152 ล้านคนภายในปี 2593
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นกลุ่มคนข้ามเพศ หรือทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) และนอนไบนารี่ (Nonbinary) ในสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านความทรงจำและความนึกคิด การทำงานของสมองถูกจำกัด และภาวะซึมเศร้ามากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มเพศตามเพศสภาพ หรือซิสเจนเดอร์ (Cisgender)
  • กลุ่มคนผิวสี ซึ่งไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการวิจัยเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม ต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นหากได้รับเชิญ ต้องการมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการวิจัย หรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อม

หลังจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) เร่งอนุมัติยา aducanumab (Aduhelm, Biogen/Eisai) เพื่อรักษาภาวะบกพร่องทางการรับรู้เล็กน้อย (MCI) และโรคอัลไซเมอร์ที่มีอาการเล็กน้อย หลายฝ่ายจึงให้ความสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับยารักษาโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมตัวอื่น ๆ โดยในการประชุม AAIC 2021 มีการนำเสนอรายงานผลการวิเคราะห์และข้อมูลใหม่เกี่ยวกับความก้าวหน้าในการวิจัยยากลุ่ม anti-amyloid ได้แก่ donanemab (Eli Lilly) และ lecanemab (Biogen/Eisai) รวมถึงแนวทางการรักษาอื่น ๆ เช่น ยาต้านโปรตีนเทา ยาต้านการอักเสบ ยาป้องกันระบบประสาทและฟื้นฟูสภาวะเสื่อม

"ในฐานะองค์กรสุขภาพชั้นนำด้านการวิจัยและการดูแลรักษาโรคอัลไซเมอร์ สมาคมโรคอัลไซเมอร์เชื่อว่าเราอยู่ในยุคใหม่ของความก้าวหน้า ในการประชุม AAIC ปีนี้มีการนำเสนอแนวทางการรักษาใหม่ ๆ หลายสิบแนวทาง ซึ่งกำลังมีความก้าวหน้าในการวิจัยทางคลินิก" คุณ Maria C. Carrillo, Ph.D. ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว "อัลไซเมอร์คือโรคทางสมองที่มีความซับซ้อน และจำเป็นต้องมีแนวทางการรักษาที่หลากหลายเพื่อจัดการกับโรคในหลาย ๆ ทางตลอดระยะเวลาการดำเนินของโรค เมื่อแนวทางการรักษาต่าง ๆ ได้รับการค้นพบและรับรอง ก็อาจกลายเป็นการรักษาแบบผสมผสานที่ทรงพลัง"

AAIC เป็นการประชุมประจำปีครั้งใหญ่เพื่อนำเสนอและพูดคุยเกี่ยวกับความก้าวหน้าล่าสุดในการวิจัยโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม สำหรับการประชุมปีนี้จัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่เมืองเดนเวอร์ โดยดึงดูดผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 11,000 ราย และมีการนำเสนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กว่า 3,000 รายการ

โควิด- 19 มีความสัมพันธ์กับความบกพร่องของสมองในระยะยาวและอาการของโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดเร็วขึ้น
เราได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV-2 นับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เรายังคงมีคำถามเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของไวรัสที่มีต่อร่างกายและสมองของคนเรา ผลการวิจัยใหม่จากประเทศกรีซและอาร์เจนตินาที่นำเสนอในการประชุม AAIC 2021 ระบุว่า ผู้สูงอายุมักเผชิญกับภาวะสมองเสื่อมถอยลงในระยะยาว รวมถึงสูญเสียการได้กลิ่นในระยะยาวหลังหายจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2

ข้อมูลใหม่เหล่านี้คือรายงานแรก ๆ จากกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศของสมาคมโรคอัลไซเมอร์และตัวแทนจากเกือบ 40 ประเทศ ซึ่งกำลังทำการวิจัยผลกระทบระยะยาวของโควิด-19 ที่มีต่อระบบประสาทส่วนกลาง

คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
ผลการศึกษามากมายที่นำเสนอในการประชุม AAIC 2021 แสดงให้เห็นว่า คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นอาจช่วยยกระดับการทำงานของสมองและลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม โดยผลการค้นพบสำคัญมีดังนี้

  • การลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และมลพิษจากการจราจร (NO2) ตลอดระยะเวลา 10 ปี มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมและภาวะสมองเสื่อมถอยที่ลดลง 14% และ 26% ตามลำดับในกลุ่มผู้หญิงสูงวัยในสหรัฐอเมริกา จากการศึกษา Women's Health Initiative Memory Study-Epidemiology of Cognitive Health Outcomes (WHIMS-ECHO)
  • การศึกษาของประเทศฝรั่งเศสพบว่า การลดความเข้มข้นของ PM2.5 ตลอดระยะเวลา 10 ปี มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุที่ลดลง 15% และความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ที่ลดลง 17%
  • การสัมผัสมลพิษทางอากาศในระยะยาวมีความสัมพันธ์กับระดับ beta amyloid ที่สูงขึ้นในกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ทางชีวภาพระหว่างคุณภาพอากาศกับการเปลี่ยนแปลงทางสมองซึ่งบ่งชี้ถึงโรคอัลไซเมอร์ จากการศึกษาของทีมงานจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน     

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในปี 2593
แนวโน้มการเข้าถึงการศึกษามากขึ้นจะช่วยลดความชุกของโรคสมองเสื่อมทั่วโลกราว 6.2 ล้านเคสภายในปี 2593 แต่ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกายสูง และระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะเพิ่มความชุกของโรคสมองเสื่อมในระดับใกล้เคียงกันที่ 6.8 ล้านเคส โดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันได้สร้างแบบจำลองนี้ด้วยข้อมูลจากการศึกษาภาระโรคทั่วโลก หรือ Global Burden of Disease ระหว่างปี 2533-2562 นอกจากนี้ ในการประชุม AAIC 2021 ยังมีการรายงานข้อมูลดังนี้      

  • คณะนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมก่อนวัย (ก่อนอายุ 65 ปี) รายใหม่ราว 350,000 เคสทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มนี้ สมาคมโรคอัลไซเมอร์ได้จัดทำการศึกษาตามยาว Longitudinal Early-Onset Alzheimer's Disease Study (LEADS) เกี่ยวกับการดำเนินของโรคสมองเสื่อมก่อนวัย
  • ระหว่างปี 2542-2562 อัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ในประชากรสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 16 คน เป็น 30 คน ต่อ 100,000 คน หรือพุ่งขึ้นถึง 88% จากการศึกษาของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมอรี โดยพบอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์สูงสุดในพื้นที่ชนบทของภูมิภาค East South-Central โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์อยู่ที่ 274 คน ต่อ 100,000 คน ในกลุ่มประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ขณะที่ภูมิภาค Mid-Atlantic พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ต่ำที่สุด

กลุ่มคนข้ามเพศมีแนวโน้มเกิดภาวะสมองเสื่อมถอยลงและภาวะซึมเศร้ามากกว่า
ผู้ใหญ่ที่เป็นกลุ่มคนข้ามเพศ หรือทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) และนอนไบนารี่ (Nonbinary) ในสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านความทรงจำและความนึกคิด การทำงานของสมองถูกจำกัด และภาวะซึมเศร้ามากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มเพศตามเพศสภาพ หรือซิสเจนเดอร์ (Cisgender) โดยผลการค้นพบสำคัญมีดังนี้

  • ผู้ใหญ่ที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ หรือผู้ที่รู้สึกพึงพอใจกับเพศสภาพที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตน มีแนวโน้มเกิดความสับสนและสูญเสียความทรงจำ (subjective cognitive decline หรือ SCD) มากกว่าเกือบสองเท่า และมีแนวโน้มเกิดภาวะการทำงานของสมองถูกจำกัดอันเนื่องมาจาก SCD มากกว่าสองเท่า ซึ่งรวมถึงความสามารถในการทำงาน ความสมัครใจ และการเข้าสังคมลดลง จากการรายงานของคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเอมอรี
  • ความชุกของโรคซึมเศร้าในกลุ่มทรานส์เจนเดอร์และนอนไบนารี่ (ผู้ที่มีสำนึกทางเพศเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ชายหรือหญิง) (37%) สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับกลุ่มซิสเจนเดอร์ (19.2%) จากการรายงานของคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
  • มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมและภาวะสมองเสื่อมถอยลงในกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ประสบกับความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพมากกว่าเมื่อพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อม ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมถึงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ความไม่เสมอภาคทางสังคมยังอาจมีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมถอยลง

ความหลากหลายในการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์
ในการประชุม AAIC 2021 สถาบันสูงวัยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute on Aging: NIA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (U.S. National Institutes of Health) ได้เปิดตัวเครื่องมือออนไลน์ใหม่ในชื่อ Outreach Pro เพื่อช่วยให้นักวิจัยและแพทย์มีความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้เข้าร่วมการทดลอง โดยผลการค้นพบสำคัญที่รายงานเป็นครั้งแรกในการประชุม AAIC 2021 มีดังนี้

  • กลุ่มคนซึ่งไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการวิจัยทางคลินิก ต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นหากได้รับเชิญ (85%) ต้องการมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการวิจัย (83%) หรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อม (74%) จากการรายงานของคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
  • ผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน ฮิสแปนิก/ลาติโน และอเมริกันอินเดียน มีแนวโน้มอาสาเข้าร่วมการวิจัยมากขึ้นหากได้รับการเชิญชวนจากคนเชื้อชาติเดียวกัน และมีความกังวลมากกว่าคนผิวขาวเรื่องผลกระทบที่มีต่องาน ความรับผิดชอบต่อครอบครัว การเดินทาง และการดูแลบุตร
  • เกณฑ์การคัดออกผู้เข้าร่วมการวิจัย (Exclusion Criteria) ที่มักใช้ในการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ อาจส่งผลกระทบต่อชาวแอฟริกันอเมริกัน และฮิสแปนิก/ลาติโน มากเป็นพิเศษ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้คนกลุ่มนี้เข้าร่วมการวิจัยน้อยลง จากการรายงานของคณะนักวิจัยแห่งสถาบันสูงวัยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์
การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

โฮมเพจของ AAIC 2021: www.alz.org/aaic/
ห้องข่าวของ AAIC 2021: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
แฮชแท็ก AAIC 2021: #AAIC21

เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์
สมาคมโรคอัลไซเมอร์เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งอุทิศตนให้กับการดูแลรักษา การสนับสนุน และการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทรสายด่วน 800.272.3900

โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/1579813/Alzheimers_Association_International_Conference_2021_Logo.jpg?p=medium600 

 

Source: Alzheimer’s Association
Keywords: Health Care/Hospital Medical/Pharmaceuticals Clinical Trials/Medical Discoveries Senior Citizens Survey, Polls & Research