พิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่พูด
- โรงงานผลิตขนาดใหญ่ "Enapter Campus" สามารถผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์ (เครื่องผลิตไฮโดรเจน) ประเภท AEM ในปริมาณมาก และจะเป็นแม่แบบให้กับโรงงานผลิตของ Enapter ทั่วโลก
- เตรียมสร้างโรงงานผลิตเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ โกดัง ออฟฟิศ รวมถึงห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่กว่า 82,000 ตารางเมตรภายในปี 2566
- ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ พร้อมแถลงการณ์ผ่านวิดีโอจาก Prof. Dr. Andreas Pinkwart รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย และ Dr. Tobias Lehberg นายกเทศมนตรีเมืองเซเยอร์เบค
เซเยอร์เบค, เยอรมนี--15 กันยายน 2564--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
Enapter (WKN: A255G0) บริษัทเทคโนโลยีสะอาด ทำพิธีวางศิลาฤกษ์สร้าง "Enapter Campus" โรงงานผลิตเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ในปริมาณมากบนพื้นที่ 82,000 ตารางเมตรในเมืองเซเยอร์เบค รัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย ประเทศเยอรมนี ซึ่งใช้พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในท้องถิ่นทั้งหมด โดยในเบื้องต้น Enapter ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์สู่ระดับ 10,000 เครื่องต่อเดือน เพื่อตอบสนองความต้องการเครื่องผลิตไฮโดรเจนต้นทุนต่ำที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
"เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวอย่างมีนัยสำคัญ และบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในระดับโลก เราจำเป็นต้องยกระดับเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมอย่างรวดเร็ว" Sebastian-Justus Schmidt ซีอีโอของ Enapter กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีวางศิลาฤกษ์ "เราให้ความสำคัญกับการเร่งทำการวิจัย พัฒนา และเข้าสู่ตลาด โดย Enapter Campus จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศภายใต้แนวคิด "ลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่พูด" ซึ่งการผลิตเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ประเภท AEM ที่มีขนาดเล็กในปริมาณมากให้แก่โครงการทุกขนาดจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ"
แผนการในปัจจุบันระบุว่าการสร้าง Enapter Campus จะใช้เงินลงทุนราว 105 ล้านยูโร โดยบริษัทก่อสร้าง Goldbeck จะดำเนินการก่อสร้างอย่างรวดเร็วเพื่อให้สามารถเริ่มการผลิตได้ในไตรมาส 4 ปี 2565 และคาดว่าจะสามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้ากลุ่มแรกได้ในปี 2566 ขณะเดียวกันคาดว่าโครงการนี้จะสร้างงานราว 300 ตำแหน่งในเมืองเซเยอร์เบค
การผลิตเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ในปริมาณมากด้วยระบบอัตโนมัติจะช่วยให้ Enapter สามารถลดต้นทุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ และทำให้ไฮโดรเจนสีเขียวสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงเศรษฐกิจ นวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และพลังงานของรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย ได้ให้เงินทุนสนับสนุนราว 9.36 ล้านยูโรในการพัฒนาเครื่องจักรที่จำเป็นต่อการผลิตในปริมาณมาก
"Enapter เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายปกป้องสภาพภูมิอากาศ และสร้างงานในพื้นที่" Prof. Dr. Andreas Pinkwart รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ นวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และพลังงานของรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย กล่าว
Enapter ส่งมอบเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ประเภท AEM (Anion Exchange Membrane) ที่จดสิทธิบัตรแล้วให้แก่ผู้วางระบบและผู้พัฒนาโครงการกว่า 70 ราย ใน 40 ประเทศ โดยเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ของบริษัทได้มาตรฐานและมีความยืดหยุ่นในการใช้งานหลากหลายรูปแบบ และตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป Enapter จะนำเสนอเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ประเภท AEM ระดับเมกะวัตต์รุ่นแรก นั่นคือ AEM Multicore ซึ่งมี AEM electrolysis รวม 420 สแต็ก
"แนวทางเชิงรุกของ Enapter ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนทำให้เรารู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง" Jan-Hendrik Goldbeck ซีอีโอของบริษัทก่อสร้าง Goldbeck กล่าว "เรารู้สึกภูมิใจและยินดีที่ได้ทำงานเคียงข้างกับพวกเขาในการสร้าง Enapter Campus เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์อย่างรวดเร็ว"
ดาวน์โหลด Press kit ได้ที่นี่
เกี่ยวกับ Enapter
Enapter คือบริษัทเทคโนโลยีพลังงานระดับรางวัลผู้ผลิตเครื่องกำเนิดไฮโดรเจนประสิทธิภาพสูงเพื่อแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเทคโนโลยี Anion Exchange Membrane (AEM) ที่จดสิทธิบัตรและผ่านการพิสูจน์แล้วคือรากฐานของการผลิตเครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ราคาประหยัดที่สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากและพร้อมใช้งานทันที เพื่อรองรับการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวทุกระดับ เครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ของ Enapter มีการนำไปใช้ใน 40 ประเทศทั่วโลกในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน ยานยนต์ อุตสาหกรรม ความร้อน และโทรคมนาคม ทั้งนี้ Enapter มีสำนักงานในอิตาลี เยอรมนี ไทย และรัสเซีย
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.enapter.com/
ติดต่อ
Martin Jendrischik อีเมล: mjendrischik@external.enapter.com โทร: +49 151 2391 5780
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/1625530/Enapter_Campus.jpg?p=medium600
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/1312105/Enapter_Logo.jpg