omniture

ไทย-จีนจับมือร่วมกันวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล สร้างสมดุลให้กับการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการขยายตัวของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

China Oceanic Development Foundation
2021-10-20 13:56 62

ปักกิ่ง--20 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเลหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การทำประมง และการขนส่ง ขณะที่การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการขยายตัวของ "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" ก็ได้รับความสนใจและการยอมรับมากขึ้นจากไทย

ไทยได้เริ่มความร่วมมือกับจีนในเรื่องการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในปี 2560 เพื่อปรับปรุงการสังเกตข้อมูล การฝึกอบรมบุคลากร และความสามารถในการบริหารจัดการให้ดีขึ้น และเพื่อส่งเสริมการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน สถาบันสมุทรศาสตร์แห่งแรกของจีน ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนามหาสมุทรของจีน จึงได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกันแบบต่อเนื่องในเรื่องการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลสำหรับเกาะ 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่ เกาะล้าน และเกาะสีชัง

เกาะล้าน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 5 ล้านคนในแต่ละปี แต่เนื่องจากขาดการบริหารจัดการในทางวิทยาศาสตร์ และมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ เกาะล้านจึงเต็มไปด้วยปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาอย่างต่อเนื่องมานาน เช่น การเสื่อมถอยของคุณภาพน้ำ และการเสื่อมโทรมของปะการังชายฝั่ง ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ร้ายแรงต่อการพัฒนาทั้งระบบนิเวศ และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

Zhang Zhiwei หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์แห่งแรกของจีน กล่าวว่า "ในระหว่างความร่วมมือของเรา เราได้นำวิธีการแบบใช้ปัญหาเป็นฐานเพื่อสร้างสมดุลให้กับความสัมพันธ์ของการปกป้องและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล การบูรณาการองค์ประกอบเชิงพื้นที่ทางทะเล และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นที่ทางทะเลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด"

เนื่องด้วยเกาะล้านได้รับผลกระทบอย่างมากจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เข้มข้น ทีมวิจัยจึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวผ่านแบบสอบถาม และได้ทำการวิจัยวิธีการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงการวางผังเชิงพื้นที่ของเกาะล้านในมุมมองของนักท่องเที่ยว พวกเขายังได้ทำการสังเกตการณ์ในพื้นที่ และทำการตรวจสอบอุทกพลศาสตร์ทางทะเลและสังคมพืชของเกาะ ด้วยความรู้ดังกล่าว พวกเขาจึงได้วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมลภาวะที่ถูกปล่อยออกมาต่อปะการังชายฝั่ง และได้ทำการประเมินนิเวศวิทยาทางทะเลรอบเกาะล้านด้วย

ด้วยข้อมูลจำนวนมากที่รวบรวมมาได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายจากการสำรวจระยะไกลที่มีความละเอียดสูง ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา แผนที่เดินเรือ ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงปริมาณ (vectorized) และการปกคลุมของพืช คณะนักวิจัยจึงเข้าใจลักษณะพื้นฐานของทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมของมนุษย์ในเกาะล้าน และได้พัฒนาโครงการในการระบุและประเมินความสอดคล้องกันของพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางนิเวศวิทยา และความต้องการด้านการใช้ประโยชน์ทางทะเลในภูมิภาค ด้วยการใช้เทคนิคการสำรวจจากระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)

ด้วยความสนับสนุนขององค์กรท้องถิ่นของพัทยา การจัดเวิร์คชอป 6 ครั้ง และการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 10 ครั้ง โครงการการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลของเกาะล้านจึงถูกเสนอให้แก่สภาจังหวัดชลบุรีในที่สุดในปี 2562 และถูกรวมลงในระบบทางเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมายของการบริหารจัดการทะเลท้องถิ่นอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้แก่การบริหารจัดการเกาะล้านในอนาคต

สำหรับการวิจัยร่วมกันในเรื่องการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลของจีนและไทยในระยะที่สองนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ทำการวิจัยในเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งการท่องเที่ยว การทำประมง และการขนส่งทางเรือในเกาะนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อพิจารณาลักษณะของเกาะ อาทิ เส้นทางเดินเรือทางทะเล ที่ทอดสมอหลายแห่ง และสถานการณ์ที่ซับซ้อนในการใช้ประโยชน์ทางทะเล ทีมวิจัยจึงได้รวบรวมภาพถ่ายจากการสำรวจระยะไกล แผนที่เดินเรือ และข้อมูลเชิงสถิติทางสังคม-เศรษฐกิจ และเบื้องต้นได้จัดทำระบบบริหารจัดการในการวางแผนเชิงพื้นที่ทะเลแบบครบวงจร

เนื่องจากเผชิญกับโรคระบาด ทีมนักวิจัยจากทั้งสองประเทศจึงได้ประสานงานกันผ่านการประชุมทางไกล ในเรื่องการตรวจสอบภาคสนามเพื่อดูสภาพทางอุทกวิทยา คุณภาพน้ำ ระบบนิเวศเกาะ-บก และองค์ประกอบอื่น ๆ รอบเกาะสีชัง

"นั่นจะเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีให้แก่การวิเคราะห์การพัฒนาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในเชิงระบบ ซึ่งจะช่วยให้เราจัดทำโครงการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในเชิงวิทยาศาสตร์และเชิงปฏิบัติได้มากขึ้น ในกรณีที่มีข้อมูลไม่เพียงพอในช่วงหลายปีข้างหน้า" Zhang Zhiwei กล่าว

ในเดือนมิถุนายน 2562 ได้มีการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมครั้งแรกเกี่ยวกับการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลขึ้นที่พัทยา โดยมีผู้เข้าร่วม 40 คนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จากจีนได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับการปกป้องและการบริหารจัดการทางทะเล กฎหมายและกฎระเบียบ เทคโนโลยีเชิงพื้นที่ การสร้างแบบจำลองเชิงตัวเลข เป็นต้น และต่อมาก็ได้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง อาทิ การสนทนากลุ่ม การแสดงบทบาทสมมติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการตรวจสอบพื้นที่จริงในท่าเรือแหลมฉบัง

กิจกรรมเหล่านี้ได้เพิ่มฐานกำลังคนให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อความร่วมมือด้านการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลที่จะเกิดขึ้นระหว่างจีนและไทย และส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์และการถ่ายโอนเทคโนโลยีเกี่ยวกับการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล

Zhang Zhiwei และคณะนักวิจัยกำลังร่างแนวทางเกี่ยวกับการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล ซึ่งจะให้แนวคิดทั่วไปสำหรับหลักธรรมาภิบาลระดับโลก ซึ่งเป็นการสนองตอบการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลโลกปี 2573 ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล (IOC) ขององค์การยูเนสโก้ในปี 2562

 "ด้วยแนวทางนี้ เราหวังว่า การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลสามารถนำไปใช้ทั่วโลก และได้รับการบรรจุลงในการบริหารจัดการทางทะเลในระดับภูมิภาคในฐานะเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ" Zhang Zhiwei กล่าว

Source: China Oceanic Development Foundation
Keywords: Banking/Financial Service Maritime/Shipbuilding Transportation
Related News