omniture

ประชากรโลก 1.26 พันล้านคนมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเผชิญความขัดแย้งและการพลัดถิ่นเนื่องจากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย

Institute of Economics and Peace
2021-10-21 19:12 258

ลอนดอน

21 ตุลาคม 2564

/PRNewswire/ -- สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute of Economics and Peace: IEP) เผยแพร่รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (Ecological Threat Report: ETR) ฉบับที่สอง

ผลการค้นพบสำคัญ

  • 11 จาก 15 ประเทศที่มีคะแนนภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมย่ำแย่ที่สุดถูกระบุว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ส่วนอีก 4 ประเทศถูกระบุว่ามีความเสี่ยงสูงที่สันติภาพจะเสื่อมถอยลงอย่างมาก นับเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างการเสื่อมถอยของทรัพยากรกับความขัดแย้ง
  • ภายในปี 2593 ประชากรโลกครึ่งหนึ่งจะอยู่ใน 40 ประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านคนจากระดับของปี 2563
  • ผลสำรวจทั่วโลกครั้งใหม่เผยให้เห็นว่า มีประชากรจีนเพียง 23% ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ส่งผลให้จีนรั้งอันดับ 7 ประเทศที่ใส่ใจเรื่องนี้น้อยที่สุด 
  • ความไม่มั่นคงทางอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 44% นับตั้งแต่ปี 2557 โดยส่งผลกระทบต่อประชากรโลก 30.4% ในปี 2563 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก  
  • โควิด-19 ส่งผลให้ความไม่มั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ลี้ภัยไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้
  • เนื่องจากความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563 รายงาน ETR จึงแนะนำว่า COP26 ต้องเพิ่มเงินสนับสนุนในการแก้ปัญหาทางระบบนิเวศ ก่อนที่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น

รายงาน ETR วิเคราะห์ปัจจัยบ่งชี้ความเสี่ยงทางระบบนิเวศหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการมีอาหารและน้ำ การเติบโตของประชากร และความยืดหยุ่นทางสังคม เพื่อทำความเข้าใจประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเผชิญกับการเสื่อมถอยของสันติภาพอย่างรุนแรง

ความขัดแย้งและภัยคุกคามทางระบบนิเวศ

ผลการค้นพบสำคัญจากรายงาน ETR ปี 2564 คือ การเสื่อมถอยของระบบนิเวศกับความขัดแย้งมีความสัมพันธ์แบบวงจรอุบาทว์ โดยการเสื่อมถอยของทรัพยากรนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งนำไปสู่การเสื่อมถอยของทรัพยากรยิ่งขึ้นไปอีก รายงานระบุว่า 11 จาก 15 ประเทศที่มีคะแนน ETR ย่ำแย่ที่สุดกำลังอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ส่วนอีก 4 ประเทศถูกระบุว่ามีความเสี่ยงสูงที่สันติภาพจะเสื่อมถอยลงอย่างมาก และอีกหลายประเทศมีแนวโน้มเข้าสู่สถานการณ์ความขัดแย้งหากไม่มีการเปลี่ยนทิศทางของวงจรนี้

การเปลี่ยนทิศทางของวงจรดังกล่าวต้องอาศัยการยกระดับสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาและความยืดหยุ่นทางสังคม ซึ่งต้องใช้วิธีการที่เป็นระบบ นั่นหมายความว่าต้องมีการทบทวนแนวทางการพัฒนาในปัจจุบัน

ข้อมูลเพิ่มเติมได้ตอกย้ำถึงความรุนแรงของสถานการณ์ โดยจำนวนประชากรโลกที่ขาดสารอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 343 ล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ความไม่มั่นคงทางอาหารก็เพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อประชากรโลก 30.4% จากการรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) [1] ทั้งที่ตลอดหลายสิบปีก่อนหน้านั้น แนวโน้มการขาดสารอาหารดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาวะขาดสารอาหารรุนแรงกว่าในเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา โดยผู้ชายผอมแห้งมีมากกว่าผู้หญิงถึงสองเท่า ขณะเดียวกันก็พบภาวะแคระแกร็นในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง

รายงานยังระบุด้วยว่า สามพื้นที่ของโลกมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดการล่มสลายทางสังคมอันเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางอาหาร การขาดแคลนน้ำ การเติบโตของประชากร และภัยธรรมชาติ โดยพื้นที่เหล่านั้นประกอบด้วยภูมิภาคซาเฮลในแอฟริกา ตั้งแต่มอริเตเนียถึงโซมาเลีย, แถบแอฟริกาตอนใต้ จากแองโกลาถึงมาดากัสการ์, แถบตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ตั้งแต่ซีเรียถึงปากีสถาน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ต้องได้รับความสนใจอย่างเร่งด่วน

ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารามีความชุกของความไม่มั่นคงทางอาหารสูงสุด โดยประชากร 66% ประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหาร และคาดว่าภายในปี 2593 ประชากรในแอฟริกาใต้สะฮาราจะอยู่ที่ราว 2.1 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 90% จากจำนวนประชากรในปัจจุบัน นอกจากนี้ แอฟริกาใต้สะฮารายังมีปัจจัยชี้วัดความยืดหยุ่นทางสังคมต่ำที่สุดอีกด้วย

ภูมิภาคซาเฮลคืออีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการล่มสลายทางสังคม เห็นได้จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง โดยไนเจอร์และบูร์กินาฟาโซติดกลุ่มประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก (วัดโดยดัชนีสันติภาพโลก หรือ GPI) และติดกลุ่มประเทศที่ทำคะแนน ETR ได้ย่ำแย่ที่สุด

ภัยคุกคามทางระบบนิเวศและการอพยพย้ายถิ่น

รายงาน ETR พบว่า ประชากรโลกกว่า 1.26 พันล้านคนอาศัยอยู่ใน 30 ประเทศที่มีปัญหาหนัก โดยเผชิญทั้งความเสี่ยงทางระบบนิเวศขั้นรุนแรงและมีความยืดหยุ่นในระดับต่ำ ประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มต่ำมากที่จะสามารถบรรเทาและปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศใหม่ ๆ ซึ่งมีแนวโน้มก่อให้เกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่

จำนวนประชากรโลกที่ต้องพลัดถิ่นอันเนื่องมาจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 ประชากร 23.1 ล้านคนจากประเทศที่มีปัญหาหนักต้องอาศัยอยู่นอกประเทศบ้านเกิดของตนเอง โดยยุโรปเป็นภูมิภาคที่รับผู้ลี้ภัยมากที่สุดถึง 6.6 ล้านคน และตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นหลายสิบล้านคนอันเป็นผลมาจากการเสื่อมถอยของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Steve Killelea ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ กล่าวว่า

"COP26 เป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้บรรดาผู้นำประเทศตระหนักว่าต้องจัดการกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศก่อนที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ภัยคุกคามดังกล่าวเลวร้ายมากขึ้นไปอีก และจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ในการแก้ปัญหา"

"ทางออกของปัญหาเหล่านี้คือวิธีการที่เป็นระบบมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการตระหนักรู้ร่วมกันของบรรดาหน่วยงานด้านการพัฒนา แท้จริงแล้วปัญหาความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงทางอาหารและน้ำ การพลัดถิ่น การพัฒนาธุรกิจ สุขภาพ การศึกษา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดล้วนมีความเชื่อมโยงกัน และทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงเหล่านี้จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ดีที่สุด"

ทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลสำรวจประชากรกว่า 150,000 คน ใน 142 ประเทศพบว่า ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดคือประเทศที่ประชากรใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด และบางประเทศก็มีประชากรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยผลสำรวจเผยให้เห็นว่ามีประชากรจีนเพียง 23% ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ส่วนอินเดียมีเพียง 35% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 49.8% โดยผู้ชายใส่ใจเรื่องนี้มากกว่าผู้หญิงเล็กน้อยที่ 2% [2]

หากประชากรในประเทศเหล่านี้ไม่เข้ามามีส่วนร่วม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะไม่มีประสิทธิภาพ

ประเทศที่พูดภาษาสเปนและโปรตุเกสทำคะแนนสูงสุดและรั้ง 12 ตำแหน่งในท็อป 20 ส่วนประเทศที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทำคะแนนได้ไม่ดี โดยประเทศที่ทำคะแนนย่ำแย่ที่สุดประกอบด้วยเยเมน เอธิโอเปีย อียิปต์ และเมียนมา

สหรัฐอเมริกาทำคะแนนใกล้กับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 49.2% ด้านสหราชอาณาจักรทำคะแนนได้ค่อนข้างสูงที่ 69.9%

ความแตกต่างระหว่างเพศพบมากที่สุดในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ โดยผู้หญิงทำคะแนนสูงกว่าผู้ชาย 21%, 18% และ 13% ตามลำดับ

ความไม่มั่นคงทางอาหาร

นับตั้งแต่ปี 2557 จำนวนประชากรโลกที่เข้าไม่ถึงอาหารอย่างเพียงพอเพิ่มขึ้น 44% โดยเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งความไม่มั่นคงทางอาหารที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กับความสงบสุขที่ลดลง

ภายในปี 2593 ความต้องการอาหารทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50%

การล็อกดาวน์และการปิดชายแดนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความไม่มั่นคงทางอาหารรุนแรงขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบระยะยาวต่อปัญหาความหิวโหยทั่วโลก อันเนื่องมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซา

ความตึงเครียดเรื่องน้ำ

รายงาน ETR เผยให้เห็นว่า ภายในปี 2583 ประชากรกว่า 5.4 พันล้านคนจะอยู่ในประเทศที่เผชิญกับความตึงเครียดเรื่องน้ำอย่างรุนแรง โดยเลบานอนและจอร์แดนเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด

ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารามีประเทศที่มีความยืดหยุ่นทางสังคมต่ำที่สุดจำนวนมากที่สุด ประกอบกับมีการเติบโตของประชากรสูงสุด ส่งผลให้ประชากร 70% เข้าถึงน้ำสะอาดได้ไม่เพียงพอ ซึ่งสถานการณ์จะแย่กว่าเดิมเพราะอัตราการเติบโตของประชากรในระดับสูง

การสร้างความยืดหยุ่นทางระบบนิเวศ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพได้ทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายแถวหน้า 60 คน เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะด้านนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมความยืดหยุ่นทางระบบนิเวศทั่วโลก ประกอบด้วยข้อเสนอแนะในการผนวกรวมหน่วยงานด้านสุขภาพ อาหาร น้ำ การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การเงิน การเกษตร และการพัฒนาธุรกิจให้เป็นหน่วยงานเดียวในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อจัดการกับปัญหาและหาทางออกอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรวดเร็วขึ้นและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

แม้ว่าการแทรกแซงด้วยกำลังทหารจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ไม่อาจแก้ปัญหาทางระบบนิเวศที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งได้ บทเรียนจากอัฟกานิสถานสอนให้รู้ว่า หากปราศจากการวางแผนที่ดีและงบประมาณด้านการพัฒนาแล้ว การสร้างสันติภาพก็ไม่อาจเป็นจริงได้ การที่อัฟกานิสถานถูกกลุ่มตาลีบันยึดครองตอกย้ำให้เห็นถึงข้อจำกัดของกำลังทหารและกลยุทธ์การใช้งบประมาณที่ล้มเหลว มีการประมาณการว่าสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณไปกับภารกิจในอัฟกานิสถานสูงถึง 2.261 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับ 50,000 ดอลลาร์ต่อประชากรชาวอัฟกันหนึ่งคนที่อยู่ในประเทศในขณะนี้ ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของชาวอัฟกันมากกว่า 100 เท่า

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.economicsandpeace.org

*11 ประเทศที่มีคะแนน ETR ย่ำแย่ที่สุดประกอบด้วยอัฟกานิสถาน ไนเจอร์ มาดากัสการ์ มาลาวี รวันดา บุรุนดี กัวเตมาลา โมซัมบิก ปากีสถาน แองโกลา และเยเมน

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

เกี่ยวกับรายงาน Ecological Threat Report (ETR)

รายงาน Ecological Threat Report (ETR) ฉบับที่สอง เป็นการสำรวจดินแดนและรัฐเอกราช 178 แห่งทั่วโลก รายงานฉบับนี้ผนวกการวัดความยืดหยุ่นกับข้อมูลทางระบบนิเวศที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อระบุประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศอันรุนแรงได้น้อยที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต       

วีธีการจัดทำรายงาน

รายงาน ETR ประกอบด้วยผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่ล่าสุดและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั้งในส่วนของการเติบโตของประชากร ความตึงเครียดเรื่องน้ำ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยแล้ง อุทกภัย พายุไซโคลน และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รายงานยังใช้ Positive Peace Framework ของ IEP ในการระบุประเทศที่มีความยืดหยุ่นไม่มากพอที่จะปรับตัวหรือรับมือกับผลกระทบเหล่านี้ในอนาคต รายงานนี้รวบรวมข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ World Bank, World Resources Institute, Food and Agriculture Organization, United Nations, United Nations Human Rights Council, Internal Displacement Monitoring Centre, The Intergovernmental Panel on Climate Change, International Organization for Migration และ IEP

เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก เฮก เม็กซิโกซิตี้ และฮาราเร

อ้างอิง

[1] Food and Agriculture Organisation of the United Nations

[2] Analysis IEP, source data Lloyds Register Foundation World Risk Poll

 

Source: Institute of Economics and Peace
Keywords: Environmental Products & Services Publishing/Information Service Environmental Issues Not for profit Survey, Polls & Research
Related News