- แม้ว่าการโจมตีของผู้ก่อการร้ายทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,226 ครั้งในปี 2564 แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 1.2%
- ความขัดแย้งในยูเครนมีแนวโน้มทำให้การก่อการร้ายและการก่อการร้ายไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นก่อนหน้านี้
- การก่อการร้ายในโลกตะวันตกลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 68% โดยสหรัฐอเมริกามีคะแนนต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555
- ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารามีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายคิดเป็น 48% ของยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั่วโลก
- ซาเฮล (Sahel) เป็นบริเวณที่มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดและเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในโลก
- เมียนมามีการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นกว่า 20 เท่า แตะ 521 รายในปี 2564
- กลุ่มรัฐอิสลาม หรือกลุ่มไอเอส แซงหน้ากลุ่มตาลีบันขึ้นแท่นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลกในปี 2564 โดยสังหารเหยื่อเฉลี่ย 15 รายต่อการโจมตีหนึ่งครั้งในประเทศไนเจอร์
- การก่อการร้ายมีความกระจุกตัวมากขึ้น โดย 119 ประเทศไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550
- ในโลกตะวันตก การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมืองแซงหน้าการก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางศาสนา ซึ่งลดลงถึง 82% โดยการโจมตีด้วยเหตุผลทางการเมืองมีมากกว่าการโจมตีด้วยเหตุผลทางศาสนาถึง 5 เท่า
- ผู้ก่อการร้ายใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น โดรน ระบบจีพีเอส และการส่งข้อความแบบเข้ารหัส
ลอนดอน, 2 มีนาคม 2565 /PRNewswire/ -- ดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก (Global Terrorism Index: GTI) ประจำปี 2565 เผยให้เห็นว่า แม้ว่าการโจมตีของผู้ก่อการร้ายจะเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบจากการก่อการร้ายยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลง 1.2% แตะ 7,142 ราย แม้ว่าการโจมตีจะเพิ่มขึ้น 17% ก็ตาม ซึ่งตอกย้ำว่าการก่อการร้ายมีความรุนแรงถึงชีวิตน้อยลง ขณะเดียวกัน 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกรายงานว่าไม่มีการโจมตีหรือไม่มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้าย ซึ่งดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 และ 86 ประเทศมีคะแนน GTI ดีขึ้น ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลกตอกย้ำว่าการก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรง โดยภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารามีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายคิดเป็น 48% ของยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั่วโลก ขณะที่ 4 จาก 10 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นมากที่สุดก็อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา ได้แก่ ไนเจอร์ มาลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และบูร์กินาฟาโซ
หลังจากพ่ายแพ้ในสมรภูมิซีเรียและอิรัก กลุ่มไอเอสได้หันเหความสนใจไปที่ซาเฮล จนยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่านับตั้งแต่ปี 2550 ส่งผลให้ซาเฮลกลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของการก่อการร้าย นอกจากนี้ การก่อการร้ายในพื้นที่ยังเพิ่มมากขึ้นเพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก การขาดแคลนน้ำและอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความอ่อนแอของรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ยังมีความซับซ้อนมากขึ้นเพราะมีองค์กรอาชญากรรมอีกหลายกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบชาวมุสลิม
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute of Economics and Peace: IEP) ได้จัดทำดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลกเป็นปีที่ 9 เพื่อให้ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับแนวโน้มการก่อการร้ายทั่วโลก โดยมีการนำปัจจัยต่าง ๆ มาพิจารณาเพื่อคำนวณออกมาเป็นคะแนน ได้แก่ จำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บและถูกจับเป็นตัวประกัน ประกอบกับข้อมูลความขัดแย้งและข้อมูลทางสังคม-เศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอภาพของการก่อการร้ายอย่างครอบคลุม
ดัชนีแสดงให้เห็นว่า การก่อการร้ายมีความกระจุกตัวมากขึ้น โดยเกิดขึ้นในประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรงอยู่แล้ว พื้นที่ที่มีความขัดแย้งมีผู้เสียชีวิตคิดเป็นสัดส่วน 97% ของทั้งหมด และ 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุดล้วนอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ในปี 2564 มีเพียง 44 ประเทศที่รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้าย เทียบกับ 55 ประเทศในปี 2558
เมียนมามีการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้น 23 เท่า จาก 24 ราย เป็น 521 ราย ตามมาด้วยไนเจอร์ ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 257 รายในปี 2563 เป็น 588 รายในปี 2564 ส่วนโมซัมบิกมียอดผู้เสียชีวิตลดลงมากที่สุด 82% แตะที่ 93 ราย อันเป็นผลมาจากปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบของกลุ่มไอเอสโดยกองกำลังโมซัมบิก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรวันดาและประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community)
นอกจากนี้ ปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบยังทำให้การก่อการร้ายของกลุ่มโบโกฮารามลดลงอย่างมาก โดยมีการโจมตีเพียง 64 ครั้งในปี 2564 ส่วนยอดผู้เสียชีวิตก็ลดลง 92% จาก 2,131 รายในปี 2558 เหลือ 178 รายในปี 2564 ซึ่งการก่อการร้ายของกลุ่มโบโกฮารามที่ลดลงเช่นนี้ส่งผลให้ไนจีเรียมียอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในปี 2564 โดยลดลง 47% แตะที่ 448 ราย
อย่างไรก็ตาม ยูเครนมีแนวโน้มว่าจะมีการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับในช่วงวิกฤตปี 2557 ที่มีการโจมตีจากผู้ก่อการร้ายเกิดขึ้น 69 ครั้ง และสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือการก่อการร้ายไซเบอร์ โดยนอกเหนือจากการโจมตีทางไซเบอร์ในยูเครนแล้ว รัสเซียยังทำการโจมตีอีกหลายประเทศด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่าภัยคุกคามจากการก่อการร้ายไซเบอร์จะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น
รัสเซียและยูเรเชีย ตามมาด้วยอเมริกาเหนือ มีคะแนน GTI ดีขึ้นมากที่สุดในปี 2564 แต่สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนอาจทำให้แนวโน้มเปลี่ยนไปในทิศทางตรงกันข้าม ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ก็มีคะแนนดีขึ้นมาก โดยไต่ขึ้น 2 อันดับจากที่เคยเป็นภูมิภาคที่สงบสุขน้อยที่สุดในปี 2561 ส่วนเอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ด้านอเมริกากลางและแคริบเบียนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
สตีฟ คิลเลเลีย (Steve Killelea) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ กล่าวว่า "การก่อการร้ายมีความกระจุกตัวมากขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอยู่แล้ว อันเป็นผลมาจากความอ่อนแอของรัฐบาลและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ส่วนในยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้น การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมืองได้แซงหน้าการก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางศาสนา ในขณะที่ความขัดแย้งในยูเครนกำลังเป็นจุดสนใจของทั่วโลก เราต้องไม่ลดทอนความสำคัญของการต่อสู้กับการก่อการร้ายทั่วโลก อย่างการก่อการร้ายในซาเฮลก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยฝีมือของกองกำลังอิสลาม"
"การก่อการร้ายที่ลดลงในโลกตะวันตกสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ การเดินทาง และภัยคุกคามต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน อาจมีส่วนทำให้การก่อการร้ายลดลง เมื่อใดที่มีการยกเลิกมาตรการฉุกเฉินต่าง ๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่าการก่อการร้ายอาจเพิ่มขึ้น"
เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น กลุ่มก่อการร้ายก็ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งขีปนาวุธและโดรน ซึ่งทำให้โจมตีได้ไกลขึ้นและเสี่ยงชีวิตน้อยลง นอกจากนี้ สมาร์ทโฟนที่ราคาไม่แพง โซเชียลมีเดีย และการเข้ารหัส ก็เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เครือข่ายการก่อการร้ายขยายวงกว้างขึ้น การเผยแพร่แนวคิดและการรับสมาชิกใหม่ก็ทำได้ง่ายกว่าเดิม
รายงานระบุว่า กลุ่มไอเอสและเครือข่ายเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในปี 2564 แม้ว่าเหยื่อที่ถูกกลุ่มนี้สังหารจะลดลงเล็กน้อยจาก 2,100 ราย แตะที่ 2,066 รายก็ตาม โดยการโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดของปี 2564 เกิดขึ้นเมื่อสมาชิกกลุ่มไอเอสจุดระเบิดฆ่าตัวตายสองครั้งซ้อน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงคาบูลในอัฟกานิสถาน ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 170 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 200 ราย
กลุ่มก่อการร้ายจามัต นุสรัต อัล-อิสลาม วัล มุสลิมมีน ซึ่งปฏิบัติการในซาเฮล คือกลุ่มก่อการร้ายที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และสังหารเหยื่อไป 351 รายในปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 69% ส่วนกลุ่มก่อการร้ายที่สังหารเหยื่อมากที่สุดในโลกคือกลุ่มไอเอสในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งสังหารเหยื่อเฉลี่ย 15 รายต่อการโจมตีหนึ่งครั้งในประเทศไนเจอร์
การก่อการร้ายในโลกตะวันตกลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 68% ในปี 2564 จากระดับสูงสุดในปี 2561 โดยมีการโจมตี 113 ครั้งในยุโรป และเพียง 7 ครั้งในสหรัฐอเมริกาในปี 2564 ส่งผลให้สหรัฐอเมริกามีคะแนน GTI ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทำการโจมตีเพียง 3 ครั้งในยุโรป ซึ่งน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แรงจูงใจในการก่อการร้ายในโลกตะวันตกเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยการก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางศาสนาลดลงถึง 82% ในปี 2564 และถูกแซงหน้าโดยการก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งตอนนี้การโจมตีด้วยเหตุผลทางการเมืองมีมากกว่าการโจมตีด้วยเหตุผลทางศาสนาถึง 5 เท่า การโจมตีส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยฝีมือของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลฝ่ายขวาจัดหรือซ้ายจัดที่ไม่ได้เข้าร่วมองค์กรก่อการร้ายใดอย่างเป็นทางการ ส่วนเป้าหมายของการโจมตีมักคล้ายคลึงกัน นั่นคือองค์กรของรัฐบาลหรือนักการเมือง และแรงจูงใจก็คล้ายคลึงกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างรับแนวคิดหัวรุนแรงผ่านทางโลกออนไลน์ และรังเกียจระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
การก่อการร้ายในสหราชอาณาจักรลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 12 ครั้งในปี 2564 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยมีครั้งเดียวที่เกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจทางศาสนา ส่วนสหรัฐอเมริกามีการก่อการร้าย 7 ครั้ง โดยเกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจทางการเมือง 5 ครั้ง ส่วนอีก 2 ครั้งไม่ระบุ ขณะที่ฝรั่งเศสมีการก่อการร้าย 7 ครั้ง ลดลง 72% จาก 25 ครั้งในปี 2563
เงื่อนไขของการก่อการร้ายแตกต่างกันไปตามปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยในประเทศส่วนใหญ่พบว่ามีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับการก่อความรุนแรงทางการเมืองและการขาดการยอมรับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ส่วนในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงการเข้าถึงอาวุธได้ง่ายขึ้นกับการขยายอิทธิพลทางทหารที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนในประเทศอื่น ๆ นั้น ความอ่อนแอของสถาบันต่าง ๆ ความคับข้องใจของกลุ่มบุคคล และการก่อความรุนแรงทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อการร้าย
ดูรายงานการก่อการร้ายทั่วโลกปี 2565 ฉบับเต็ม และแผนที่แบบอินเทอร์แอคทีฟได้ที่ visionofhumanity.org
กรุณาติดตาม: @GlobPeaceIndex
กรุณากดไลก์: facebook.com/globalpeaceindex
ติดต่อ:
สำนักงานสื่อของดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก: H+K Strategies อีเมล: gti2021@hkstrategies.com
ดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก
ดัชนีการก่อการร้ายทั่วโลก (GTI) ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) ให้ข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแนวโน้มและรูปแบบของการก่อการร้ายทั่วโลกตลอด 14 ปีที่ผ่านมา รายงานนี้จัดอันดับ 163 ประเทศ (99.7% ของประชากรโลก) ตามผลกระทบที่ได้รับจากการก่อการร้าย โดยพิจารณาจากจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บและถูกจับเป็นตัวประกัน
รายงาน GTI ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลติดตามการก่อการร้าย Terrorism Tracker และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ โดย Terrorism Tracker บันทึกเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ประกอบด้วยข้อมูลการก่อการร้ายกว่า 60,500 เหตุการณ์ในช่วงปี 2550-2564
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองชั้นนำระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์สันติภาพและคุณค่าที่มีต่อเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาดัชนีระดับชาติและระดับโลกหลายดัชนี เช่น ดัชนีสันติภาพโลก เพื่อคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความรุนแรง และทำความเข้าใจผลเชิงบวกของสันติภาพ ซึ่งเป็นทัศนคติ ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมถึงรากฐานในการสร้างและรักษาความสงบสุขในสังคม
โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/792052/IEP_Logo.jpg?p=medium600