นักวิทยาศาสตร์กว่า 80 คนจากทั่วโลกตบเท้าเข้าร่วมกลุ่ม โดยมุ่งมั่นใช้เทคโนโลยีทรานสคริปโตมิกส์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยการศึกษาแรกเป็นการใช้เทคโนโลยี Stereo-seq ของบีจีไอ-รีเสิร์ช ในการสร้างแผนที่เซลล์เชิงพื้นที่และเวลาของหนู แมลงหวี่ ปลาม้าลาย และต้นอะราบิดอพซิส
เซินเจิ้น, จีน--5 พฤษภาคม 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
นักวิทยาศาสตร์จาก 16 ประเทศประกาศจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ สเปชิโอเทมโพรัล โอมิกส์ คอนซอร์เทียม (SpatioTemporal Omics Consortium หรือ STOC) ซึ่งเป็นชุมชนวิทยาศาสตร์แบบเปิดที่มุ่งใช้เทคโนโลยีโอมิกส์แสดงความละเอียดของเซลล์เชิงพื้นที่ เพื่อทำแผนที่เซลล์และทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิต โดยการศึกษาแรกของกลุ่มได้ผลออกมาเป็นแผนที่เชิงพื้นที่มุมกว้างของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเผยแพร่ในวารสารเซลล์ แอนด์ เดเวลอปเมนทัล เซลล์ (Cell and Developmental Cell) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม
นักวิทยาศาสตร์กว่า 80 ชีวิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สถาบันเอ็มไอที มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สถาบันแคโรลินสกา มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย สถาบันจีโนมแห่งสิงคโปร์ สถาบันวิจัยบีจีไอ-รีเสิร์ช (BGI-Research) ฯลฯ ได้เข้าร่วมกลุ่ม STOC โดยสมาชิกของกลุ่มวิจัยซึ่งทำแผนที่มุมกว้าง ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง Stereo-seq ซึ่งพัฒนาโดยบีจีไอ-รีเสิร์ช ในการสร้างแผนที่เซลล์เชิงพื้นที่และเวลาที่ละเอียดที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยแผนที่เซลล์ของหนู แมลงหวี่ ปลาม้าลาย และต้นอะราบิดอพซิส นับเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ในด้านความละเอียดและความกว้างของมุมมอง ซึ่งช่วยให้สามารถทำการวิเคราะห์ตำแหน่งและการกระจายตัวของเซลล์และโมเลกุลในแต่ละช่วงเวลาได้
การระบุลักษณะเฉพาะของเซลล์ในเนื้อเยื่อมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจสรีรวิทยา การเติบโตของสิ่งมีชีวิต รวมถึงการระบุว่าเซลล์ใดเป็นสาเหตุหรือเป็นตัวบ่งชี้โรค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยโรคในมนุษย์ในอนาคต นอกจากนั้นยังเป็นรากฐานสำคัญของโครงการวิจัยของ STOC ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสร้างแผนที่เซลล์เชิงพื้นที่และเวลาที่มีความหลากหลาย เพื่อขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรค โครงสร้างอวัยวะ การเจริญเติบโตและการสูงวัย ตลอดจนยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางชีววิทยา
คุณเบอร์โทลด์ กอตต์เจนส์ (Berthold Gottgens) ผู้อำนวยการสถาบันสเต็มเซลล์เวลล์คัม-เอ็มอาร์ซี เคมบริดจ์ (Wellcome-MRC Cambridge Stem Cell Institute) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสมาชิกของกลุ่ม STOC กล่าวว่า "ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีความก้าวหน้ามากมายในการทำแผนที่จีโนมและทรานสคริปโตมในเซลล์เดียว แต่ไม่ครอบคลุมถึงบริบทเชิงพื้นที่ของเซลล์ใกล้เคียงและระบบนิเวศเซลล์โดยรวม ดังนั้นจึงมีข้อมูลอีกมากที่ขาดหายไป ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้สามารถเข้าถึงได้แล้ว และจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งต่อการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยต่อยอด"
คุณเว่ยปิน หลิว สมาชิกคณะกรรมการจัดตั้งกลุ่ม STOC เปิดเผยว่า การนำเทคโนโลยีโอมิกส์เชิงพื้นที่และเวลามาประยุกต์ใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์คือเป้าหมายสำคัญของกลุ่ม STOC
"แผนที่มุมกว้างที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ถือเป็นก้าวแรกของการบรรลุวิสัยทัศน์ของกลุ่มในการปฏิวัติความเข้าใจที่มนุษยชาติมีต่อจิตใจและร่างกาย ความอ่อนเยาว์และความชรา สุขภาพและการเจ็บป่วย ต้นกำเนิดและอนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตทั่วโลก โดยถือเป็นรากฐานของแผนที่อีกมากมายที่ทางกลุ่มจะร่วมกันสร้างขึ้นในอนาคต และเป็นเครื่องรับรองแนวทางปฏิบัติในการสร้างแผนที่เชิงพื้นที่และเวลาอื่น ๆ"
"ความพยายามครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก จึงต้องอาศัยความพยายามร่วมกันของทั่วโลก รวมถึงองค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชา ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ไปจนถึงคณิตศาสตร์ ตลอดจนความร่วมมือของหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่แวดวงการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงผู้สนับสนุนเงินทุน เมื่อผนึกกำลังกับนักวิทยาศาสตร์กว่า 80 คนในตอนนี้ เราจะบุกเบิกหนทางข้างหน้าร่วมกัน เพื่อสร้างเครื่องมือและความสามารถใหม่ ๆ เพื่อแบ่งปันทรัพยากรและผลลัพธ์ เพื่อทำแผนที่และคลายข้อสงสัยต่าง ๆ"
สเปชิโอเทมโพรัล โอมิกส์ คอนซอร์เทียม หรือ STOC คือกลุ่มความร่วมมือด้านการวิจัยที่เปิดกว้าง โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อผนึกกำลัง สร้างสรรค์ พัฒนา และแบ่งปันความพยายามทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกในด้านเทคโนโลยีโอมิกส์เชิงพื้นที่และเวลา เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่ม STOC ได้ที่ www.sto-consortium.org