ปักกิ่ง--30 มิ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ตลอด 25 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่หวนคืนสู่มาตุภูมิ ฮ่องกงในฐานะเขตบริหารพิเศษของจีน ยังคงเป็นหนึ่งในเมืองที่มีพลวัตที่สุดในโลก ขณะที่การขับเคลื่อนของจีนที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ เพื่อการปฏิรูปและการเปิดประเทศก็ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2561 ว่า เมื่อจีนเปิดประตูกว้างขึ้น ฮ่องกงก็จะมีตำแหน่งและบทบาทที่แข็งแกร่งขึ้น หาใช่ว่าจะน้อยลง
ปธน.สี กล่าวว่า ด้านหนึ่งฮ่องกงควรใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับต่างประเทศและบริการระดับมืออาชีพ ขณะที่อีกด้านก็ควรอาศัยตลาดขนาดใหญ่ของจีนแผ่นดินใหญ่ ระบบอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ และความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยี พร้อมเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นหัวหาดในการเปิดประเทศแบบสองทาง
จุดแข็งของฮ่องกง
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 จีนได้กลับมามีอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงอีกครั้ง และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (HKSAR) ก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมาจีนก็ปกครองภายใต้หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" โดยจีนแผ่นดินใหญ่ยึดมั่นในระบบสังคมนิยม ขณะที่ยังคงรักษาระบบทุนนิยมไว้ในเขตบริหารพิเศษ
ในการประชุมเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีการหวนคืนสู่มาตุภูมิของฮ่องกงเมื่อปี 2560 ปธน.สี กล่าวว่า "หนึ่งประเทศเปรียบเสมือนรากของต้นไม้ ต้นไม้จะเติบโตสูงใหญ่และงอกงามได้ รากของมันจะต้องหยั่งลึกและแข็งแรง"
บนพื้นฐานของ "หนึ่งประเทศ" นั้น "สองระบบ" จึงควรและมีเหตุผลทุกประการที่จะอยู่อย่างสามัคคีและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เขากล่าวเสริมว่า "เราทั้งคู่ต้องยึดมั่นในหลักการหนึ่งประเทศ และเคารพในความแตกต่างของสองระบบ"
ถัดมาในปี 2561 ในการกล่าวสุนทรพจน์เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบ 40 ปีของการปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน ซึ่งถือเป็น "ความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้จีนเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" ปธน.สี กล่าวว่า หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" คือ "จุดแข็งที่ใหญ่ที่สุด" ของฮ่องกง และการปฏิรูป กับการเปิดประเทศคือเวทีสำหรับการพัฒนาของฮ่องกง
ประการหนึ่ง แผ่นดินใหญ่สนับสนุนฮ่องกงมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเผชิญวิกฤตจากภายนอก อีกประการหนึ่ง กฎหมายพื้นฐานของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะคุ้มครองทรัพย์สินส่วนตัวและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยที่ฮ่องกงจะต้องไม่ถูกควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ยังคงสถานะการเป็นท่าเรือปลอดภาษี และให้สิทธิในการเคลื่อนย้ายสินค้า ทรัพย์สิน และทุนในฮ่องกงได้โดยเสรี
ตามข้อมูลของสถาบันเฟรเซอร์ (Fraser Institute) ฮ่องกงเป็นเขตเศรษฐกิจที่เสรีที่สุดในโลก และหลังปี 2540 ก็ยังคงรักษาเกียรตินี้ไว้ได้ โดยในรายงานประเมินเสรีภาพทางเศรษฐกิจประจำปี 2564 ของสถาบันเฟรเซอร์นั้น ฮ่องกงยังคงครองอันดับหนึ่งด้าน "เสรีภาพทางการค้าระหว่างประเทศ" (Freedom to Trade Internationally) และ "ระเบียบข้อบังคับ" (Regulation) จากการประเมินใน 5 ด้าน
บทบาทของฮ่องกงในการทำให้เงินหยวนเป็นสากลและโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ในเดือนกรกฎาคม 2562 จีนได้ออก 11 มาตรการในภาคการเงิน เพื่อมุ่งเดินหน้าเปิดกว้างต่อไป ภายใต้หลักการ "ทำเร็วดีกว่าทำช้า และทำก่อนดีกว่าทำทีหลัง"
ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ และสะพานของการเปิดประเทศสองทางในการนำพาการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาและนำพาจีนขึ้นสู่ระดับโลกนั้น บทบาทของฮ่องกงในการเป็นฐานทดสอบการเปิดเสรีทางการเงินของจีน ถือว่าโดดเด่นขึ้นเรื่อย ๆ ตามรายงานของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในฮ่องกง
ในรายงานการวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Exchanges and Clearing Limited) ระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฮ่องกงได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เช่นการใช้ระบบใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธนาคารจากทั่วทุกมุมโลกในการชำระด้วยเงินหยวนผ่านแพลตฟอร์มฮ่องกง
ฮ่องกงเป็นศูนย์ธุรกิจเงินหยวนที่ใหญ่ที่สุดในโลกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารกลางฮ่องกง ชี้ว่า ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 ยอดเงินฝากเงินหยวนในฮ่องกงอยู่ที่ 8.419 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.2585 แสนล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นเกือบ 133 เท่าจากเดือนพฤษภาคม 2547 ขณะที่กว่า 70% ของการชำระด้วยเงินหยวนนอกจีนแผ่นดินใหญ่มีขึ้นในฮ่องกง
นอกจากนี้ จีนยังระบุในโครงร่างแผนห้าปี ฉบับที่ 14 (2564-2568) ว่าจะสนับสนุนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในการเสริมสร้างสถานะศูนย์กลางธุรกิจเงินหยวนนอกจีนแผ่นดินใหญ่ และสนับสนุนให้ฮ่องกงเข้าร่วมในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในรูปแบบใหม่ของการเปิดประเทศแบบรอบด้านของจีน
อี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน กล่าวในเดือนธันวาคม 2564 ว่า ฮ่องกงสามารถสนับสนุนการเชื่อมต่อทางการเงินได้มากขึ้นภายใต้ BRI
"ในฐานะประตูสำหรับบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ในการบุกตลาดโลก ฮ่องกงสามารถปรับปรุงบริการทางการเงิน เพื่อช่วยให้บริษัทเหล่านี้มีส่วนร่วมกับ BRI ได้ดีขึ้น" เขากล่าว "ในฐานะศูนย์กลางการจัดการสินทรัพย์ระดับโลก ฮ่องกงสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาร่วมพัฒนา BRI ได้มากขึ้นเช่นกัน"