omniture

ไฮไลต์จากการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประจำปี 2565

Alzheimer’s Association
2022-08-04 19:59 214

ซานดิเอโก, 4 สิงหาคม 2565 /พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

งานวิจัยใหม่ในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association International Conference® หรือ AAIC®) ประจำปี 2565 ครอบคลุมงานวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงชีววิทยาพื้นฐานของการแก่ชราและสมอง ปัจจัยเสี่ยงและกลยุทธ์ในการป้องกัน รวมถึงการดูแลและการใช้ชีวิตร่วมกับโรคอย่างถูกต้อง

การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์เป็นการประชุมประจำปีชั้นนำ เพื่อนำเสนอและอภิปรายเกี่ยวกับการวิจัยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม การประชุมแบบไฮบริดในปีนี้จัดขึ้นแบบออนไลน์และแบบออนไซต์ในเมืองซานดิเอโก ดึงดูดผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 9,500 คน และการนำเสนอทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 4,000 รายการ

"การวิจัยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมกำลังอยู่ในช่วงที่น่าตื่นเต้นมาก เมื่อภาครัฐและเอกชนทุ่มทุนวิจัยมากเป็นประวัติการณ์" ดร. ฮีทเธอร์ เอ็ม สไนเดอร์ (Heather M. Snyder) รองประธานฝ่ายความสัมพันธ์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว "นักวิจัยกำลังพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ โดยการสำรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ค้นหาวิธีที่เป็นไปได้ในการลดความเสี่ยง ทำงานเพื่อขับเคลื่อนการรักษาและเครื่องมือวินิจฉัยที่มีแนวโน้มไปสู่การทดสอบทางคลินิก สมาคมโรคอัลไซเมอร์เป็นผู้นำการต่อสู้ผ่านการระดมทุน การประชุม การเผยแพร่ การเป็นหุ้นส่วน การสนับสนุน และบริการ"

ความก้าวหน้าในการรักษา และผลการทดลองทางคลินิก

สมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association) ได้เน้นย้ำผลลัพธ์จากการทดลองทางคลินิกที่หลากหลายในการประชุมปีนี้ การสนับสนุนระบบการรักษาที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ของสมาคมเพื่อนำไปสู่โลกที่ปราศจากโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ ดังตัวอย่างผลการศึกษาทั้ง 2 ดังนี้

โครงการ EXERT เป็นการวิจัยเฟส 3 ที่นานที่สุดเท่าที่เคยศึกษาการออกกำลังกายในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางการจดจำเล็กน้อย (MCI) ผลลัพธ์ซึ่งถูกรายงานครั้งแรกในการประชุมปีนี้เป็นที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ เนื่องจากการทดลองดำเนินการในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า 80% ของผู้เข้าร่วมมีการปฏิบัติตามแบบการออกกำลังกายและบรรลุการทดลองจนเสร็จสิ้น เมื่อผ่านไป 12 เดือนพบว่า ผู้ป่วย MCI ทั้งในฝั่งที่มีการออกกำลังกายแบบแอโรบิกและในฝั่งที่อาศัยการยืดแขนไม่พบว่ามีอัตราการรับรู้ที่ลดลง ขณะที่กลุ่มเปรียบเทียบซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีอาการ MCI กลับมีอัตราการรับรู้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 12 เดือน ผลการวิจัยจาก EXERT ชี้ให้เห็นว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ แม้จะออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยหรือออกแรงน้อย เช่น การยืดกล้ามเนื้อ อาจป้องกันไม่ให้เซลล์สมองเสียหายได้

ด้านทีทรีดี เทอราพิวติกส์ (T3D Therapeutics) ได้รายงานผลระหว่างกาลที่น่าพอใจจากการทดลอง T3D-959 ระยะที่ 2 ซึ่งพยายามเอาชนะการดื้อต่ออินซูลินในสมองและฟื้นฟูเมตะบอลิซึมของสมอง ผลลัพธ์เบื้องต้นเชิงบวกเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี และคาดว่าจะทราบผลลัพธ์ท้ายสุดในปี 2566 แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับรากฐานทางชีววิทยาของโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งมอบโอกาสในการพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ อย่างเช่นการทดลอง T3D-959 นี้

นอกจากนี้ สมาคมโรคอัลไซเมอร์ยังได้ประกาศเปิดตัวเครือข่ายเพื่อการรักษาและการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ (ALZ-NET) ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลทางคลินิกและความปลอดภัยในระยะยาวจากผู้ป่วยที่รักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยวิธีการที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ในสิ่งแวดล้อมทางคลินิกตามความเป็นจริง ALZ-NET เป็นเครือข่ายแรกที่พัฒนาขึ้นสำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ โดยรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงในระยะยาว

ประสบการณ์การเหยียดสีผิวมีความเชื่อมโยงกับการเสื่อมของความจำและอัตราการรับรู้ที่ลดลง

ประสบการณ์ของการเหยียดสีผิวเชิงโครงสร้าง ระหว่างบุคคล และเชิงสถาบันนั้นสัมพันธ์กับคะแนนความจำที่ต่ำลงและการรับรู้ที่แย่ลงในวัยกลางคนและวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนผิวดำ

  • จากการศึกษาผู้ใหญ่วัยกลางคนที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนเกือบ 1,000 คน (55% ละติน; 23% ผิวดำ; 19% ผิวขาว) ประสบการณ์การถูกเหยียดสีผิวระหว่างบุคคลและเชิงสถาบันมีความสัมพันธ์กับคะแนนความจำที่ต่ำลง โดยเห็นได้เด่นชัดที่สุดในหมู่ประชากรผิวดำ ขณะประสบการณ์การเหยียดสีผิวเชิงโครงสร้างสัมพันธ์กับความจำแบบช่วง ๆ ที่ต่ำลงในกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์ทั้งหมดที่รวมอยู่ในการศึกษา
  • จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนเอเชีย คนผิวดำ คนละติน คนผิวขาว และคนหลากเชื้อชาติจำนวน 445 คน ซึ่งมีอายุ 90 ปีขึ้นไปพบว่า ผู้ที่มีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติที่หลากหลายตลอดชีวิต มีความจำระยะยาวที่แย่กว่าในช่วงบั้นปลายชีวิต เมื่อเทียบกับผู้ที่มีประสบการณ์การเลือกปฏิบัติเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

ประวัติโรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้น

โรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ (HDP) ซึ่งเป็นภาวะความดันโลหิตสูงที่ครอบคลุมความดันโลหิตสูงแบบเรื้อรัง/ขณะตั้งครรภ์ และภาวะครรภ์เป็นพิษ มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับโรคหัวใจในช่วงหลังของชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังมีการวิจัยเพียงเล็กน้อยที่เชื่อมโยงความผิดปกติเหล่านี้กับความสามารถในการรับรู้ ประสบการณ์โรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองที่เพิ่มขึ้น และการแก่ของสมองที่รวดเร็วยิ่งขึ้น จากการศึกษาหลายรายการที่เปิดเผยในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ 2565

  • สตรีที่มีประวัติโรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น กล่าวคือมีความสามารถในการนึกคิดลดลงอันเกิดจากสภาวะที่เลือดถูกปิดกั้นหรือถูกชะลอการไหลเวียนไปยังสมองในช่วงบั้นปลายชีวิต เมื่อเทียบกับสตรีที่ไม่มีประวัติโรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์
  • โรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์กับพยาธิสภาพของสารสีขาวในสมอง ซึ่งเป็นตัวทำนายการเสื่อมของการรับรู้ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 15 ปีหลังการตั้งครรภ์
  • สตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงมีระดับเบตาอะไมลอยด์ที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ โดยวัดจากเลือดเมื่อเทียบกับสตรีที่ไม่มีประวัติโรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์

การสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นอย่างต่อเนื่องจากโควิด-19 มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับปัญหาการรับรู้ในระยะยาว และการรักษาในหน่วยผู้ป่วยหนัก (ICU) อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุถึง 2 เท่า

การศึกษาหลายชิ้นที่ถูกเผยแพร่ในการประชุมปีนี้ ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกชิ้นใหม่เกี่ยวกับปัจจัยที่อาจคาดการณ์ เพิ่ม หรือป้องกันผลกระทบของโควิด-19 ต่อความสามารถในการจดจำและทักษะการคิด โดยกลุ่มนักวิจัยจากอาร์เจนตินาค้นพบว่า การสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นตัวทำนายความบกพร่องทางการรับรู้และการทำงานในระยะยาวได้ดีกว่าความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในตอนแรก ส่วนในกลุ่มประชากรที่ถูกศึกษาจำนวนมากจาก 9 ประเทศในลาตินอเมริกานั้น ความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในเชิงบวกในช่วงการระบาดของโควิด-19 เช่น การได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น ลดผลกระทบด้านลบของโรคที่มีต่อความสามารถด้านความจำและทักษะการคิดได้ นอกจากนี้ การรักษาตัวในหน่วยผู้ป่วยหนัก (ICU) ยังมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่มากขึ้นสองเท่า ตามรายงานของศูนย์โรคอัลไซเมอร์รัช (Rush Alzheimer's Disease Center) ในชิคาโก การค้นพบนี้อาจมีความสำคัญเนื่องจากการรักษาตัวในหน่วยผู้ป่วยหนักมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19

อาหารแปรรูปพิเศษอาจทำให้สมองเสื่อมถอยลงเร็วขึ้น

การศึกษาที่นำเสนอในการประชุมนี้พบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารแปรรูปพิเศษจำนวนมากจะมีภาวะเสื่อมของการรับรู้ที่เร็วยิ่งขึ้น ทีมนักวิจัยได้ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 10,775 คนในระยะเวลาแปดปี และพบว่าการบริโภคอาหารแปรรูปสูง (มากกว่า 20% ของการบริโภคในแต่ละวัน) ส่งผลให้คะแนนการรับรู้โดยรวมลดลงเร็วขึ้น 28% ประกอบด้วยความจำ ความคล่องแคล่วทางการพูด และความสามารถในการควบคุมและจัดการตัวเอง อาหารแปรรูปพิเศษเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมจำนวนมาก มีไขมัน น้ำตาล เกลือ สารแต่งกลิ่น/สีสังเคราะห์ สารเพิ่มความคงตัว และ/หรือสารกันบูดในปริมาณมาก ตัวอย่างเช่น น้ำอัดลม ซีเรียลอาหารเช้า ขนมปังขาว มันฝรั่งทอด และอาหาร "ขยะ" แช่แข็ง

สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำลง รายได้ที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง กับความเชื่อมโยงต่อความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมและความจำที่ลดลงเร็วขึ้น

สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ (SES) ซึ่งสะท้อนถึงตัวชี้วัดทางสังคมและเศรษฐกิจของประสบการณ์การทำงานของบุคคล และการเข้าถึงทรัพยากรและตำแหน่งทางสังคมของบุคคลหรือครอบครัว มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพร่างกายและจิตใจรวมถึงความเป็นอยู่ที่ดี ความขัดสนทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งครอบคลุมความเสียเปรียบของชุมชนและค่าแรงระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมที่สูงขึ้น ประสิทธิภาพการรับรู้ที่ลดลง และการเกิดอาการความจำเสื่อมที่เร็วขึ้น โดยการศึกษาหลายชิ้นพบว่า

  • บุคคลที่มีความขัดสนทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับสูง โดยวัดจากรายได้/ความมั่งคั่ง อัตราการว่างงาน ความเป็นเจ้าของรถยนต์/บ้าน และความแออัดของครัวเรือน มีแนวโน้มที่จะพัฒนาภาวะสมองเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับบุคคลที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีกว่า แม้จะมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูง
  • ทรัพยากรในชุมชนละแวกใกล้เคียงที่มีคุณภาพต่ำกว่า และความยากลำบากในการใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการขั้นพื้นฐาน มีความสัมพันธ์กับคะแนนที่ต่ำกว่าในการทดสอบความสามารถในการรับรู้ในกลุ่มประชากรผิวดำและชาวลาติน
  • เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าแล้ว ผู้ที่มีรายได้น้อยในระยะยาวมีประวัติการเสื่อมถอยของความจำที่เร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัดในวัยสูงอายุ
  • สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีของผู้ปกครอง มีความสัมพันธ์กับความทนทานต่อผลกระทบด้านลบจากสารบ่งชี้อัลไซเมอร์ พีเทา-181 ( ptau-181) ทั้งยังสัมพันธ์กับความสามารถในการควบคุมและจัดการที่ดีขึ้น และอัตราการเสื่อมสภาพของการรับรู้ที่ช้าลงเมื่ออายุมากขึ้น

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC®)

การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ( AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
โฮมเพจของ AAIC 2022: www.alz.org/aaic/
ห้องข่าวของ AAIC 2022: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
แฮชแท็ก AAIC 2022: #AAIC22

เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์

สมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association) เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งอุทิศตนให้กับการดูแลรักษา การสนับสนุน และการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทรสายด่วน 800.272.3900

โลโก้https://mma.prnasia.com/media2/1869584/AAIC22_purple_font_rgb_Logo.jpg?p=medium600

 

 

Source: Alzheimer’s Association
Keywords: Health Care/Hospital Medical/Pharmaceuticals Not for profit Senior Citizens Survey, Polls & Research Trade show news