omniture

ผลวิจัยใหม่พบบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกยังมีชาวเอเชียดำรงตำแหน่งผู้นำน้อยมาก

The Center for Creative Leadership (CCL®)
2022-09-15 09:00 206

รายงานดังกล่าวศึกษาข้อมูลย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 เพื่อหาการกระทำของแต่ละบุคคลและการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่จำเป็นในการทำลายเพดานไม้ไผ่

สิงคโปร์—15 ก.ย.—พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ศูนย์ส่งเสริมภาวะผู้นำอย่างสร้างสรรค์ (Center for Creative Leadership หรือ CCL) ผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านหลักสูตรผู้บริหาร ประกาศเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ในหัวข้อ "Global Asian Leader: From Asia, For The World" (ผู้นำเอเชียระดับโลก: จากเอเชีย สำหรับทั้งโลก) ซึ่งเป็นรายงานที่ต่อยอดรายงานเมื่อปี 2561 ในหัวข้อ "The Global Asian Leader: From Local Star to Global CXO" (ผู้นำเอเชียระดับโลก: จากดาวเด่นในท้องถิ่น สู่ CXO ระดับโลก)[1] รายงานดังกล่าวได้สัมภาษณ์ผู้นำรวมทั้งสิ้น 75 ราย เพื่อค้นหาปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้นำเชื้อสายเอเชียเติบโตช้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังได้ประเมินผลกระทบจากแนวโน้มสำคัญต่าง ๆ ทีเกิดขึ้น เช่น การระบาดใหญ่และกระแสชาตินิยมด้วย

เพดานไม้ไผ่ยังคงปรากฏให้เห็น แม้เอเชียก้าวขึ้นเป็น 'ศูนย์กลางของโลก'

เศรษฐกิจกลุ่มกำลังพัฒนาในเอเชียนั้นคาดว่าจะขยายตัว 5.2% ในปี 2566 แม้ทั่วโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและเศรษฐกิจส่งสัญญาณซบเซา ทุกวันนี้องค์กรระดับโลกจำเป็นต้อง 'มองตะวันออก' เพื่อให้ธุรกิจของตนเติบโตต่อได้ โดยดึงผู้นำในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เข้าใจบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตในระดับภูมิภาค

แม้จะมีเหตุผลทางธุรกิจมากมายให้ปั้นผู้นำเชื้อสายเอเชียขึ้นมา แต่สัดส่วนชาวเอเชียในตำแหน่งผู้นำนั้นกลับลดลงจากปี 2560 โดยในองค์กรชั้นนำ 200 อันดับแรกนั้น มีชาวเอเชียที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ในปี 2565 ลดลงจาก 8% ในปี 2560

เอลิซา มาลลิส (Elisa Mallis) กรรมการผู้จัดการและรองประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ CCL กล่าวว่า "บุคคลผู้มีความสามารถในเอเชียได้พัฒนาขึ้นอย่างมากในแง่ของความเป็นผู้นำตลอดทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี รายงานวิจัยล่าสุดของเราพบแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงในช่วงไม่กี่ปีนี้ จากการที่บริษัทข้ามชาติชั้นนำหลายแห่งมีผู้นำเชื้อสายเอเชียจำนวนน้อยลง จึงไม่มีเวลาใดที่จะสำคัญไปกว่านี้แล้วในการทำลายเพดานไม้ไผ่ และเปิดโอกาสให้ชาวเอเชียเข้ามาเป็นผู้นำในระดับสากล เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ เอาชนะปัญหาท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ได้"

ผลักดันผู้นำชาวเอเชียสู่ความสำเร็จในระดับสากล

ในการก้าวข้ามกรอบจำกัดทางวัฒนธรรมและประสบความสำเร็จในระดับสากล CCL ได้สรุป 5 คุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำชาวเอเชียต้องมี ได้แก่ ความกล้าหาญ ความอยากรู้ ความมั่นใจ ความสามารถในการส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจ และการคิดในเชิงกลยุทธ์ ผู้นำชาวเอเชียได้พัฒนาตัวเองขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในขอบข่ายทั้งหมดเหล่านี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่นการคิดเชิงกลยุทธ์ ซึ่งผู้นำชาวเอเชียมีพัฒนาการขึ้นมาก โดยทำคะแนนได้ 3.82 จากเดิมที่เคยทำคะแนนได้ 3.74 เมื่อปี 2560

อย่างไรก็ดี แม้จะมีเรื่องราวความสำเร็จของผู้นำเชื้อสายเอเชียในการดำรงตำแหน่งระดับภูมิภาคหรือระดับโลกปรากฏให้เห็นอยู่มากมาย แต่องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องยกระดับความพยายามในการพัฒนาผู้นำชาวเอเชียอย่างเป็นระบบ โดยรายงานดังกล่าวได้นำเสนอแผนดำเนินการ 5 ขั้นตอนสำหรับผู้นำชาวเอเชียที่หวังก้าวไกลในระดับโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับองค์กรที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้นำที่หลากหลาย

พอล เมอร์เรย์ (Paul Murray) ประธานระดับภูมิภาคและซีอีโอธุรกิจประกันภัยต่อประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัทสวิส รี (Swiss Re) กล่าวว่า "ภาคธุรกิจในเอเชียมีความคึกคัก รวดเร็ว และดุเดือด เหล่าผู้นำจำเป็นต้องตัดสินใจภายใต้แรงกดดันอยู่ตลอดเวลา และพร้อมปรับเปลี่ยน โดยกำหนดเส้นทางขององค์กรให้มีความลงตัวทั้งในเรื่องการคิดเชิงกลยุทธ์ ความกล้าหาญ มั่นใจ และตระหนักเรื่องความเสี่ยง ซึ่งที่สวิส รี เราเชื่อในการลงทุนกับผู้นำของเราอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเห็นว่าคุณสมบัติเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลี่อนองค์กรให้เติบโตทั้งในเอเชียและทั่วโลก"

ดูข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานได้ที่ลิงก์นี้

ระเบียบวิธีวิจัย

ผู้จัดทำรายงานได้สัมภาษณ์ผู้นำระดับภูมิภาคหรือระดับโลกรวม 75 คนจากบริษัท 50 แห่งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน 2565 บทสัมภาษณ์เหล่านี้นำข้อมูลจากผลการสัมภาษณ์ 119 รายการเมื่อปี 2560 มาต่อยอด ผู้ให้สัมภาษณ์นั้นมาจากหลายอุตสาหกรรม ซึ่ง 75% ดำรงตำแหน่งทางธุรกิจ และ 25% ดำรงตำแหน่งอาวุโสในแผนกทรัพยากรบุคคล และในจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดในรายงานฉบับนี้ 70% มีเชื้อสายเอเชีย และ 25% ขององค์กรในการสำรวจมีสำนักงานใหญ่ในเอเชีย

เกี่ยวกับศูนย์ส่งเสริมภาวะผู้นำอย่างสร้างสรรค์

ศูนย์ส่งเสริมภาวะผู้นำอย่างสร้างสรรค์ (Center for Creative Leadership® หรือ CCL) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรชั้นนำระดับโลกเพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำ โดยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับองค์กรทั้งเล็กและใหญ่ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงบริษัทระดับฟอร์จูน 1000 (Fortune 1000) กว่าสองในสาม โซลูชันที่มีความล้ำหน้าของเราเป็นผลจากการศึกษาอย่างครอบคลุมและการทำงานกับผู้นำในทุกระดับกว่าหลายแสนคน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ccl.org


[1] ข้อมูลที่รวบรวมเมื่อปี 2560

Source: The Center for Creative Leadership (CCL®)
Keywords: Banking/Financial Service Education Workforce Management/Human Resources Survey, Polls & Research
Related News