omniture

ดร. ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ และศ.หย่งซิน จู คว้า "อีตานไพรซ์" รางวัลเชิดชูเกียรติด้านการศึกษาระดับสูงสุดของโลก ประจำปี 2565

Yidan Prize Foundation
2022-09-29 09:01 180

เขตบริหารพิเศษฮ่องกง--29 ก.ย. 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

มูลนิธิอีตานไพรซ์ (Yidan Prize Foundation) มอบรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2565 (2022 Yidan Prize) เพื่อเชิดชูเกียรติด้านการศึกษาระดับสูงสุดของโลกแก่ ดร. ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ (Dr Linda Darling-Hammond) และศาสตราจารย์หย่งซิน จู (Professor Yongxin Zhu) เพื่อยกย่องผลงานแห่งนวัตกรรมในด้านการยกระดับผู้สอน และส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและไม่กีดกัน เพื่อรับประกันว่าผู้เรียนทุกคนจะได้พัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่

ดร. ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ (ซ้าย) ผู้ชนะรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการวิจัยด้านการศึกษา ประจำปี 2565 และศาสตราจารย์หย่งซิน จู (ขวา) ผู้ชนะรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการพัฒนาการศึกษา ประจำปี 2565
ดร. ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ (ซ้าย) ผู้ชนะรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการวิจัยด้านการศึกษา ประจำปี 2565 และศาสตราจารย์หย่งซิน จู (ขวา) ผู้ชนะรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการพัฒนาการศึกษา ประจำปี 2565

มูลนิธิอีตานไพรซ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยมีภารกิจเพื่อการสร้างโลกที่ดีขึ้นผ่านการศึกษา หลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาตัดสินอย่างอิสระที่มีความเข้มงวด ทางมูลนิธิได้ตัดสินใจมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ อีตานไพรซ์ สาขาการวิจัยด้านการศึกษา (Education Research) ประจำปี 2565 ให้แก่ดร. ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ และสาขาการพัฒนาการศึกษา (Education Development) แก่ศาสตราจารย์หย่งซิน จู

"เราขอแสดงความยินดีอย่างสุดซึ้งแก่ ดร. ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ และศาสตราจารย์หย่งซิน จู ผู้ที่ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2565 ทั้งสองท่านมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมครูและเยาวชนในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ผลงานของพวกเขาเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงผลกระทบสำคัญยิ่งของครูที่มีต่อผู้เรียน และเมื่อนักเรียนมีครูที่ยอดเยี่ยม พวกเขาก็มีโอกาสในการพัฒนาที่เยี่ยมยอด" คุณเอ็ดเวิร์ด หม่า (Mr Edward Ma) เลขาธิการมูลนิธิอีตานไพรซ์ กล่าว

ตระหนักถึงความเป็นเลิศเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาเป็นวงกว้างได้อย่างแท้จริง

ดร. ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านการศึกษา ชาร์ลส์ อี ดูคอมมัน (Charles E. Ducommun Professor of Education Emeritus) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และประธานและซีอีโอของสถานบันนโยบายการเรียนรู้ (Learning Policy Institute) คว้ารางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการวิจัยด้านการศึกษา ประจำปี 2565 จากผลงานด้านการกำหนดทิศทางนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านการศึกษาต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพและความเท่าเทียมเพื่อการจัดการเรียนการสอน งานวิจัยของเธอแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายของเด็กและวิธีการสอนที่เหมาะสมที่สุดให้กับพวกเขา และนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ให้แก่ผู้สอนผ่านโครงการพัฒนาผู้สอนที่เข้มข้น และพลิกโฉมโรงเรียนที่สนับสนุนครูแบบองค์รวมในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็ก ๆ

คุณแอนเดรียส์ ชไลเชอร์ (Mr Andreas Schleicher) หัวหน้าคณะกรรมการการตัดสินรางวัลอีตานไพรซ์สาขาการวิจัยด้านการศึกษา และผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า "ด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่ต้องการเห็นผู้เรียนทุกคนบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเอง โดยไม่เกี่ยงว่าจะมีพื้นฐานทางสังคม, เพศ หรือสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เป็นเช่นไร ลินดาได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อพัฒนาเครื่องมือวิจัยที่ช่วยสนับสนุนนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ดีและเท่าเทียมยิ่งขึ้น อิทธิพลด้านนโยบายสาธารณะของเธอได้ช่วยให้เหล่าผู้ออกแบบนโยบายกำหนดทิศทางการศึกษาในเชิงบวกให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นวงกว้าง"

คุณลินดาเตรียมใช้ทุนสนับสนุนจากอีตานไพรซ์เพื่อขยายสเกลงานของเธอที่ห้องปฏิบัติการเตรียมความพร้อมผู้สอน (Educator Preparation Laboratory หรือ EdPrepLab) ซึ่งเป็นโครงการเครือข่ายเพื่อเตรียมความพร้อมครูที่มุ่งเน้นด้านความเท่าเทียมโดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีพื้นฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์แห่งการเรียนรู้และการพัฒนาและฝึกครูให้พร้อมช่วยให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเธอจะขยายขอบเขตการเข้าถึง EdPrepLab จัดทำโครงการใหม่ ๆ ลงทุนในการวิจัยใหม่เกี่ยวกับโครงการที่มีประสิทธิภาพ และสร้างพื้นที่ที่ผู้สอน, นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบายสามารถแบ่งปันและเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้โดยง่าย

ศาสตราจารย์หย่งซิน จู (Yongxin Zhu) ผู้ก่อตั้งโครงการนิว เอดูเคชั่น อินนิชิเอทีฟ (New Education Initiative) หรือ NEI และศาสตราจารย์ด้านศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยซูโจว ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการพัฒนาการศึกษา ประจำปี 2565 จากผลงานด้านการพัฒนาคุณภาพการสอนและการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์การเรียนรู้ในประเทศจีน โครงการ NEI ของเขายังส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและการพัฒนาบุคลากรครู โดยเข้าถึงโรงเรียนกว่า 8,300 แห่ง ครูกว่า 500,000 ราย และนักเรียน 8 ล้านรายทั่วประเทศ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล โครงการ NEI พลิกโฉมสภาพแวดล้อมของบ้านให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เชิงบวกและบ่มเพาะแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อการเรียนรู้โดยนำชุมชนของผู้เรียนทั้งหมดมารวมกัน ทั้งครู, นักเรียน และครอบครัวต่างร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน เพิ่มพูนผลลัพธ์ทางการศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น มากกว่าแค่มุ่งเน้นการสอนเพื่อสอบเพียงอย่างเดียว

คุณโดโรธี เค. กอร์ดอน (Dorothy K. Gordon) ประธานกรรมการผู้ตัดสินรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการพัฒนาการศึกษา ประจำปี 2565 และสมาชิกคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของยูเนสโก (UNESCO) ระบุว่า "ศาสตราจารย์จูประสบความสำเร็จในการจัดการกับหนึ่งในความท้าทายที่ยากที่สุดในด้านการศึกษา นั่นคือ การยกระดับความเท่าเทียมและลดการกีดกัน ผลงานของเขาส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าของการเรียนรู้เพื่อการเติบโตผ่านการพัฒนาการอ่าน การเขียน และการสื่อสาร เขาประสบความสำเร็จในการค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงวิธีที่ครูเข้าถึงการพัฒนาทางวิชาชีพ และวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนในห้องเรียนและที่บ้าน และเรื่องที่อาจจะสำคัญที่สุดก็คือ เขาย้ำเตือนเราถึงความสำคัญของความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียนทุกคน"

ศาสตราจารย์หย่งซิน จู วางแผนที่จะนำเงินทุนรางวัลอีตานไพรซ์มาใช้เพื่อขยายการเข้าถึงโครงการ NEI ในพื้นที่ห่างไกลในชนบทของจีน และพัฒนาฮับการเรียนรู้บนคลาวด์ ยกระดับคุณภาพการศึกษา และทำให้การศึกษาสามารถเข้าถึงผู้เรียนทุกคนอย่างครอบคลุมและเสมอภาค

ดร.โคอิชิโร มัทซูอาระ (Koichiro Matsuura) ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลอีตานไพรซ์ และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกระบุว่า "รางวัลอีตานไพรซ์สนับสนุนไอเดียที่สร้างสรรค์ที่สุดในด้านการศึกษา และช่วยขยายสเกลของไอเดียเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมากที่สุด ดังนั้น ผู้ที่ได้รับรางวัลจึงมีความสำคัญต่อเป้าหมายของเราในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั่วโลก เพื่อปลดล็อกอนาคตที่สดใสสำหรับผู้เรียนทุกคน"

มูลนิธิอีตานไพรซ์สนับสนุนผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา

รางวัลอีตานไพรซ์ยกย่องบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อทฤษฎีและการปฏิบัติด้านการศึกษา แต่ละบุคคลหรือแต่ละทีมที่ได้รับรางวัลจะได้รับเงิน 30 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำมาแบ่งคนละเท่า ๆ กันในกรณีทีม) โดยจำนวนเงินครึ่งหนึ่งจะใช้เป็นกองทุนโครงการเพื่อช่วยขยายโครงการการศึกษาและส่งเสริมผู้เรียนทั่วโลกมากขึ้น

ศาสตราจารย์อีริก เอ. ฮานูเช็ก (Eric A. Hanushek) ผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการวิจัยด้านการศึกษา ประจำปี 2564 ใช้เงินรางวัลเพื่อก่อตั้งโครงการอีตาน แอฟริกัน เฟลโลวส์ (Yidan African Fellows) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่นในด้านนโยบายการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการตัดสินใจด้านการศึกษาทั่วภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา ส่วนในอินเดีย ดร.รุกมีนี บาเนอร์จี (Rukmini Banerji)  ผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ สาขาการพัฒนาเพื่อการศึกษา ประจำปี 2564 กำลังร่วมงานกับองค์กรประถม (Pratham) เพื่อพัฒนา ทดสอบ และปรับปรุงโครงการสำหรับปีแรก ๆ และขยายความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่น โครงการเหล่านี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก 35,000 คนใน 650 ชุมชน

เปิดรับการเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 ในเดือนตุลาคม

รางวัลอีตานไพรซ์ยังคงยินดีเปิดรับการเสนอชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เปลี่ยนแปลงในวงการศึกษา ซึ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้เรียนทั่วโลกผ่านโซลูชันการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง ปรับสเกลได้ และมีความยั่งยืน

เกี่ยวกับมูลนิธิอีตาน

มูลนิธิอีตานไพรซ์ (Yidan Prize Foundation) เป็นมูลนิธิการกุศลระดับโลก มีพันธกิจในการสร้างโลกที่ดีกว่าด้วยการศึกษา ด้วยรางวัลและเครือข่ายนักนวัตกรรม มูลนิธิอีตานไพรซ์ สนับสนุนแนวคิดและการปฏิบัติทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่ชีวิตและสังคม

อีตานไพรซ์ เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติด้านการศึกษา เพื่อยกย่องบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อทฤษฎีและการปฏิบัติด้านการศึกษา

https://yidanprize.org

สองรางวัลนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชิดชูผลกระทบในเชิงบวก โดยผู้ชนะจะได้รับเหรียญทองและเงิน 30 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (แบ่งคนละเท่า ๆ กันในกรณีทีม) ซึ่งจำนวนเงินครึ่งหนึ่งหรือ 15 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง จะใช้เป็นกองทุนโครงการเพื่อช่วยขยายโครงการการศึกษาของผู้ชนะ
สองรางวัลนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชิดชูผลกระทบในเชิงบวก โดยผู้ชนะจะได้รับเหรียญทองและเงิน 30 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (แบ่งคนละเท่า ๆ กันในกรณีทีม) ซึ่งจำนวนเงินครึ่งหนึ่งหรือ 15 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง จะใช้เป็นกองทุนโครงการเพื่อช่วยขยายโครงการการศึกษาของผู้ชนะ

Source: Yidan Prize Foundation
Keywords: Education Higher Education Awards