ปักกิ่ง--3 ตุลาคม 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
อนุสาวรีย์ขงจื๊อ ณ รีสอร์ตท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหนีซาน ในเมืองชวีฟู่ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน / ภาพโดย CGTN
"ขงจื๊อ" คือหนึ่งในนักปราชญ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ กว่าสองพันปีที่ภูมิปัญญาของขงจื๊อได้รับการสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน และยังคงมีอิทธิพลต่อผู้คนทั่วโลก
แนวคิดของขงจื๊อว่าด้วยการแลกเปลี่ยนและการเสวนา ความอดทนอดกลั้น และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดอารยธรรมจีน ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจในการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือระหว่างอารยธรรมต่าง ๆ
บันทึกมากมายแสดงให้เห็นว่า ผลงานของขงจื๊อได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และหล่อหลอมนักคิดจำนวนมากในยุโรปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เทศกาลวัฒนธรรมขงจื๊อนานาชาติจีน ประจำปี 2565 (2022 China International Confucius Cultural Festival) และงานประชุมหนีซานว่าด้วยอารยธรรมโลก ครั้งที่ 8 (8th Nishan Forum on World Civilizations) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ณ เมืองชวีฟู่ บ้านเกิดของขงจื๊อ ในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน ได้รวบรวมนักวิชาการเกือบ 200 คน และผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรำลึกถึงวันเกิดปีที่ 2,573 ของขงจื๊อ พร้อมทั้งโอบรับภูมิปัญญาของขงจื๊อ และสำรวจคุณค่าร่วมกันของมวลมนุษยชาติในหลากหลายอารยธรรม
ความสำคัญของปรัชญาขงจื๊อในยุคสมัยใหม่
นายเดวิด บาร์ทอช (David Bartosch) นักปรัชญาชาวเยอรมัน แสดงทรรศนะว่า ปรัชญาขงจื๊อมีความโดดเด่นเหนือหลักปรัชญาอื่น ๆ ของหลากหลายอารยธรรม โดยเขากล่าวว่า "ขงจื๊อมีอิทธิพลมากมายมหาศาล ไม่ใช่แค่ในจีนเท่านั้น แต่ยังกระจายไปถึงญี่ปุ่นและเกาหลี รวมถึงในระดับนานาชาติด้วย"
นายบาร์ทอชกล่าวว่า อัจฉริยภาพของขงจื๊อคือ "การมอบเมล็ดพันธุ์ทางปัญญา และทุกคนที่ศึกษาผลงานของขงจื๊อต้องปลูกปัญญาด้วยตัวเอง" ซึ่งแตกต่างจากนักปราชญ์คนอื่นที่มักนำเสนอแต่ "ทฤษฎีที่ตายตัว"
"ขงจื๊อต้องการให้คุณเปิดเผยความคิดในแบบของคุณเอง ในชีวิตของคุณเอง และนำไปสู่ข้อสรุปของคุณเอง" นายบาร์ทอชกล่าวเสริม
เขากล่าวว่า แม้จะมีการขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ปรัชญาขงจื๊อก็ฟื้นคืนกลับมาอยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นรากฐานในการหลอมรวมและดูดซับองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่การสร้างอารยธรรมจีน
"ปรัชญาขงจื๊อเป็นเหมือนต้นไม้ที่กำลังเติบโต มีรากเหง้าที่เก่าแก่มาก แต่ต้นไม้ยังคงเติบโตต่อไป" เขากล่าว
นายแดเนียล เบลล์ (Daniel Bell) คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยซานตง กล่าวว่า ภูมิปัญญาขงจื๊อทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายประเทศและดินแดนที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ และแนวคิดบางส่วนของขงจื๊อก็มีความเป็นสากล เช่น ความคิดเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่และการศึกษา เป็นต้น
"สิ่งเหล่านี้เอื้อต่อการพัฒนาความทันสมัยอย่างมาก" เขากล่าว
นายเบนจามิน โคล (Benjamin Cole) จากภาควิชาปรัชญาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยหวาเฉียว กล่าวว่า คำกล่าวที่มีชื่อเสียงของขงจื๊อ นั่นคือ "บัณฑิตมีความสามัคคีต่อกัน แต่ความคิดกับการกระทำไม่เหมือนกัน" นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า ปรัชญาขงจื๊อไม่ใช่สิ่งที่นักวิจารณ์ชาวตะวันตกหลายคนสามารถทำความเข้าใจได้
เขาอธิบายว่า คำกล่าวข้างต้นเน้นให้เห็นถึงการเคารพความแตกต่างของแต่ละบุคคล แทนที่จะสนับสนุนความคิดเห็นที่เหมือนกันและปฏิบัติตาม ๆ กัน
เขากล่าวเสริมว่า ในยุคสมัยใหม่ คำกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับแนวคิดในเรื่องของการเปิดกว้างในสังคม ความอดทนอดกลั้น รวมถึงการยอมรับงาน วัฒนธรรม และภูมิหลังที่แตกต่างกันเมื่ออยู่ในสังคมเดียวกัน