omniture

ผลวิจัยใหม่แนะนำให้ผู้เป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะแพร่กระจายทานอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน เพื่อเพิ่มอัตราการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและอัตราการอยู่รอดโดยโรคสงบ

United European Gastroenterology (UEG)
2022-10-09 06:01 156

เวียนนา, 9 ตุลาคม 2565 /PRNewswire/ -- ผลการวิจัยใหม่ที่นำเสนอวันนี้ที่งานยูอีจี วีค (UEG Week) ประจำปี 2565 พบว่า การรับประทานอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งอุดมไปด้วยไฟเบอร์ กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และโพลิฟีนอล มีความสัมพันธ์กับอัตราการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและอัตราการอยู่รอดโดยโรคสงบที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะแพร่กระจาย

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า อาหารลักษณะนี้จะมีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของการทำภูมิคุ้มกันบำบัด โดยขณะนี้กำลังขยับขยายการทดลองเพื่อศึกษาผลลัพธ์กับเนื้องอกประเภทต่าง ๆ รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร

อาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนอุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนจากน้ำมันมะกอก ถั่ว และปลา โพลิฟีนอลและไฟเบอร์จากผัก ผลไม้ และโฮลเกรน ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการตอบสนองที่เพิ่มขึ้นต่อยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่เรียกว่าตัวยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitor หรือ ICI) ยากลุ่ม ICI นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับการนำไปรักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมา โดยยับยั้งเช็คพอยต์ในระบบภูมิคุ้มกัน จากนั้นก็สั่งให้ทีเซลล์ของร่างกายเข้าโจมตีมะเร็ง

การวิจัยใหม่นี้ดำเนินการในศูนย์วิจัยหลายแห่งโดยมีนักวิจัยจากสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้เก็บข้อมูลการรับประทานอาหารของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะแพร่กระจายจำนวน 91 คน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาด้วยยา ICI และติดตามความคืบหน้าด้วยการตรวจภาพรังสีตามปกติ

อาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนมีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับอัตราการตอบสนองโดยรวม เช่นเดียวกับอัตราการอยู่รอดโดยโรคสงบในช่วงเวลา 12 เดือน

ลอรา โบลท์ (Laura Bolte) ผู้นิพนธ์งานวิจัยดังกล่าว ซึ่งเป็นนักศึกษาดุษฎีบัณฑิตในการดูแลของศ.รินซ์ เวียร์สมา (Rinse Weersma) จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า "ยา ICI ได้ช่วยพลิกโฉมแนวทางรักษามะเร็งระยะแพร่กระจายประเภทต่าง ๆ งานวิจัยของเราย้ำให้เห็นความสำคัญในการประเมินการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เริ่มรับการรักษาด้วยยา ICI และหนุนบทบาทในการวางแผนรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มผลลัพธ์และการอยู่รอดให้ผู้ป่วย"

งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า การรับประทานโฮลเกรนและพืชตระกูลถั่วยังช่วยลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงที่มีความสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันอันเป็นผลจากยาด้วย เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ และในทางกลับกัน เนื้อแดงและเนื้อที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งมีความเชื่อมโยงกับโอกาสที่มากขึ้นในการเกิดผลข้างเคียงที่มีความสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกัน

คุณลอรา โบลท์ กล่าวเสริมว่า "ความสัมพันธ์ของการตอบสนองจากยา ICI ต่ออาหารและจุลินทรีย์ในลําไส้ แสดงให้เห็นอนาคตที่ทั้งสดใสและน่าตื่นเต้นในการเพิ่มการตอบสนองต่อการรักษา โดยขณะนี้กำลังมีการทดลองทางคลินิกเพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการรับประทานอาหารไฟเบอร์สูง อาหารแบบคีโตเจนิก และเสริมโอเมก้า 3 ทุกวันนี้ การรักษาด้วยยา ICI กำลังขยับขยายให้ครอบคลุมเนื้องอกประเภทต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร การวิจัยเหล่านี้จึงอาจช่วยปลดล็อกสรรพคุณในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากในอนาคต"

 

 

Source: United European Gastroenterology (UEG)
Keywords: Health Care/Hospital Medical/Pharmaceuticals Clinical Trials/Medical Discoveries