omniture

ชิปเซ็ต SDR ของ "ซานคยา แล็บส์" ใช้ในดีไซน์ผลิตภัณฑ์เน็กซ์เจน ATSC จาก ADTH

Saankhya Labs
2022-10-21 13:37 174

เกตเวย์, กล่องแปลงสัญญาณ, อุปกรณ์ HDMI และหัวเสียบ USB ใช้ชิปเซ็ต SL3000

บังกาลอร์, อินเดีย, 21 ตุลาคม 2565 /PRNewswire/ -- ซานคยา แล็บส์ (Saankhya Labs) บริษัทย่อยของเตจัสท์ เน็ตเวิร์คส์ (Tejas Networks) (BSE: 540595) (NSE: TEJASNET) ประกาศว่า ADTH ผู้ให้บริการโซลูชั่นการสื่อสารชั้นนำซึ่งมีสำนักงานในแอตแลนตา, เซี่ยงไฮ้, โซล และไทเป ได้เปิดตัวดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ เน็กซ์เจน ATSC (NEXTGEN ATSC) ซึ่งใช้ SL3000 ชิปเซ็ตถอดสัญญาณ (demodulator) 3.0/1.0 แบบ SDR (Software Defined Radio หรือ สัญญาณวิทยุกำหนดด้วยซอฟต์แวร์) ของซานคยา ดีไซน์พร้อมผลิตเหล่านี้จะช่วยให้ผู้รับจ้างผลิต (OEM) และผู้รับจ้างออกแบบและผลิต (ODM) สามารถผลิตโซลูชั่นอัปเกรดเพื่อให้ผู้บริโภคหลายล้านคนในอเมริกาเหนือและเกาหลีใต้ได้สัมผัสประสบการณ์การถ่ายทอดสัญญาณ ATSC 3.0 รุ่นใหม่บนทีวีความละเอียดสูง (HDTV) และอุปกรณ์สมาร์ทดิสเพลย์ที่มีอยู่แล้ว

เน็กซ์เจน ทีวี (NEXTGEN TV) เป็นการอัปเกรดเทคโนโลยีการถ่ายทอดสัญญาณทีวีที่สำคัญที่สุดที่เคยมีมา ซึ่งให้ประสบการณ์สมจริงกว่าเดิมด้วยภาพวิดีโอที่น่าทึ่งและระบบเสียงที่ดีขึ้น เน็กซ์เจน ทีวีให้ทางเลือกเพิ่มขึ้นในการรับชมการถ่ายทอดสดกีฬา, ข่าว, อีเวนท์ และอื่น ๆ ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2565 ATSC 3.0 มีการส่งสัญญาณออกอากาศใน 68 ตลาด ครอบคลุมราว 51% ของครัวเรือนทั้งหมดในสหรัฐ ส่วนในเกาหลีใต้นั้น ATSC 3.0 มีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากการออกอากาศภาพคมชัดระดับ 4K-UHD ในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ปี 2561 โดยครอบคลุมกว่า 70% ของประชากร นอกจากนี้อินเดียยังอยู่ระหว่างการพิจารณาใช้ ATSC 3.0 สำหรับบริการถ่ายทอดสัญญาณทีวีถึงอุปกรณ์มือถือโดยตรง (Direct-to-Mobile) และบริการออฟโหลดวิดีโอ

โซลูชั่นหลายรูปแบบของ ADTH มุ่งเป้าไปที่แพลตฟอร์มทั้งแบบติดตั้งอยู่กับที่และแบบเคลื่อนที่

  • ดีไซน์เกตเวย์สำหรับใช้ในบ้านแบบสองตัวปรับจูน (dual tuner) ของ ADTH เป็นกล่องสตรีมมิ่งทีวีดิจิทัลโดยใช้ Wi-Fi ซึ่งสามารถวางที่ใดก็ได้ในบ้านเพื่อให้มีการรับสัญญาณ ATSC 3.0/1.0 ครอบคลุมทั้งบ้าน ไปยังอุปกรณ์มือถือที่มีแอปทีวีโดยเฉพาะที่พัฒนาขึ้นโดยโทลก้าดอททีวี (Tolka.tv) โดยสามารถปรับและรับชมช่องด้วยความคมชัดระดับ UHD ได้สองช่องพร้อมกันบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านเดียวกัน
  • ดีไซน์ HDMI แบบหัวเสียบแบบดองเกิล (dongle) หรือ STB ของ ADTH ช่วยให้สามารถรับสัญญาณ ATSC 3.0 บนทีวีและหน้าจอ HDMI รุ่นเก่าได้หลายล้านรุ่น หัวเสียบดังกล่าวใช้ชิปเซ็ตถอดสัญญาณรุ่น SL3000 ของซานคยา และต่อประสานเข้ากับซอฟต์แวร์มีเดีย ดีโคดเดอร์ เอสโอซี (Media Decoder SoC) ที่พัฒนาขึ้นโดยโทลก้าดอททีวี ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นของโทลก้าดอททีวีรับสัญญาณ ATSC 3.0 ผ่านทางอากาศ จากนั้นจึงถอดสัญญาณ (demodulate) และถอดรหัส (decode) ภาพวิดีโอคมชัดระดับ UHD และเสียง AC-4 ก่อนที่จะส่งสัญญาณ HDMI เพื่อการรับชมบนทีวีหรือหน้าจอที่เชื่อมต่อกับ HDMI
  • ดีไซน์หัวเสียบ USB ของ ADTH ช่วยให้มีการรับสัญญาณทีวี ATSC 3.0/1.0 บนกล่องมีเดีย แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์โดยใช้แอปทีวีโดยเฉพาะที่พัฒนาโดยโทลก้าดอททีวี ในการนี้ วิศวกรของ ADTH และซานคยา แล็บส์ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับจูนผลิตภัณฑ์เพื่อการรับสัญญาณที่ดีที่สุด ดีไซน์ขนาดเล็ก กินไฟต่ำ ตลอดจนสแกนช่องและเปลี่ยนช่องได้อย่างรวดเร็ว

คุณวิเวก คิมบาฮูน (Vivek Kimbahune) รองประธานบริหารฝ่ายการขายและการพัฒนาธุรกิจของซานคยา แล็บส์ กล่าวว่า "โซลูชั่นพร้อมผลิตของ ADTH อยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่จะได้ประโยชน์จากโอกาสอันมหาศาลที่เกิดขึ้นจาก ATSC 3.0 ในการนี้ ชิปเซ็ต SL3000 เป็นความพยายามในการพัฒนาร่วมกันระหว่างวัน มีเดีย (One Media) (บริษัทย่อยของซินแคลร์ บรอดแคสต์ กรุ๊ป (Sinclair Broadcast Group)) กับซานคยา แล็บส์ โดยสมรรถนะ การรองรับการตั้งค่า และประสิทธิภาพด้านพลังงานของ SL3000 ทำให้ชิปเซ็ตรุ่นนี้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการใช้ในตัวรับสัญญาณทีวีดิจิทัล เรายินดีที่ ADTH เลือกที่จะเป็นคู่ค้ากับเราในผลิตภัณฑ์ซีรีส์เน็กซ์เจนของพวกเขา ถือเป็นหมุดหมายความสำเร็จที่สำคัญสำหรับซานคยา แล็บส์ที่ได้ผลิตชิปเซ็ตถอดสัญญาณหลายมาตรฐานที่ก้าวหน้าที่สุดให้กับผู้ออกแบบชั้นนำอันดับต้น ๆ ของไต้หวันสำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ระดับโลก"

ชิปเซ็ต SDR ถอดสัญญาณชนิดเบสแบนด์ (baseband) รุ่นที่ 3 ของซานคยารองรับสัญญาณ ATSC 3.0/1.0 และสัญญาณเคลียร์ QAM (Clear QAM) ทำให้มีระบบหน้าบ้านแบบครบวงจรสำหรับตลาดทีวีถ่ายทอดสัญญาณ โดย SL3000 เป็นชิปถอดสัญญาณเบสแบนด์เต็มรูปแบบที่ผนวกรวม ADC, FEC ดีโคดเดอร์ (FEC decoder), ดีอินเทอร์ลีฟเวอร์ (de-interleaver) และหน่วยความจำในหนึ่งแพ็คเกจ QFN ชนิด 68 พินขนาด 8x8 มม. ที่ปราศจากสารตะกั่วและมีคุณสมบัติตามมาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม ROHS ชิปเซ็ตดังกล่าวนี้รองรับ ALP หรือส่งแพ็คเก็ตสัญญาณจากตัวถอดสัญญาณด้วยเฟิร์มแวร์ที่สามารถอัปเกรดได้ในการใช้งาน

"เทคโนโลยี SDR ของซานคยา แล็บส์ คือรากฐานเชิงหลักการสำหรับโครงการพัฒนาตัวรับสัญญาณ ATSC 3.0 ของเรา ซึ่งช่วยให้เราสามารถให้บริการคุณภาพอย่างเต็มรูปแบบของการถ่ายทอดสัญญาณทีวีด้วยความคมชัดระดับ UHD และ HDR ผ่านอุปกรณ์ที่กะทัดรัดและเป็นมิตรต่อผู้ใช้ ขณะที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งการรองรับความคมชัดระดับ HD กับ SD ผ่านสัญญาณ ATSC 1.0" คุณอเล็กซ์ เดย์ (Alex Day) รองประธานโทลก้าดอททีวี กล่าว "เราประทับใจในความเป็นเลิศด้านเอกสารประกอบของซานคยา แล็บส์ และการสนับสนุนที่มีมาตรฐานสูงจากทีมวิศวกรของพวกเขาทุกครั้งที่เรียกใช้งานระหว่างกระบวนการพัฒนา"

นอกจากนี้ ซานคยา แล็บส์ยังมีชิปอีกรุ่น คือชิป SL4000 ซึ่งออกแบบมาเพื่ออุปกรณ์มือถือโดยเฉพาะ ชิป SL4000 ผนวกรวมจูนเนอร์และตัวถอดสัญญาณไว้ในแพ็คเกจเดียวและเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในแพลตฟอร์มอุปกรณ์มือถือ อย่างเช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และพีซี ซึ่งช่วยให้แพลตฟอร์มอุปกรณ์เคลื่อนที่สามารถใช้งานบริการแคสต์ข้อมูล (datacasting) และบริการถ่ายทอดสัญญาณทีวีดิจิทัลถึงอุปกรณ์มือถือโดยตรง

ในงานอินเดีย โมบายล์ คองเกรส (India Mobile Congress) ที่เพิ่งจัดขึ้น ซานคยา แล็บส์ได้จัดแสดงสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ 4G/LTE รุ่นแรกที่มาพร้อมกับสมรรถนะการรับสัญญาณทีวีดิจิทัล ATSC 3.0 ในตัว สมาร์ทโฟนรุ่นนี้ซึ่งใช้ชิปเซ็ต SL4000 ของซานคยาช่วยให้ผู้บริโภคสามารถรับชมการถ่ายทอดทีวีดิจิทัลคมชัดระดับฟูลเอชดี (Full HD) โดยไม่จำเป็นต้องมีการใช้งานแพ็คเกจสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือเชื่อมต่อกับ Wi-Fi หรืออินเทอร์เน็ตใด ๆ

ขณะนี้ในสหรัฐ, เกาหลีใต้, แคนาดา, บราซิล, เม็กซิโก และจาเมกา กำลังดำเนินการเพื่อใช้ ATSC 3.0 ในแอปพลิเคชั่นที่หลากหลาย ตั้งแต่การส่งข้อความฉุกเฉินที่ก้าวหน้าไปจนถึงการแคสต์ข้อมูล (การเรียนรู้ทางไกล, IoT, ระบบยานยนต์ ฯลฯ) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใหม่ ๆ เหล่านี้ในตลาด ซานคยา แล็บส์มุ่งที่จะนำโซลูชั่นนวัตกรรมมาสู่ตลาดร่วมกับลูกค้าของบริษัท

เกี่ยวกับซานคยา แล็บส์

ซานคยา แล็บส์ บริษัทย่อยของเตจัสท์ เน็ตเวิร์คส์ เป็นผู้ดิสรัปท์วงการ 5G ด้วยความเชี่ยวชาญที่กว้างขวางในด้านระบบการสื่อสารไร้สาย ซานคยาให้บริการผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นการสื่อสารหลากหลายชนิดสำหรับแอปพลิเคชั่นด้านวิทยุใหม่ 5G (5G NR), การถ่ายทอดออกอากาศ และการสื่อสารผ่านดาวเทียม ด้วยสิทธิบัตรเทคโนโลยีระดับสากลหลายรายการและความเชี่ยวชาญ 'จากชิปสู่ระบบ' ที่ไม่เหมือนใคร โซลูชั่นของซานคยาประกอบด้วย SDR การผลิตตัวแรกของโลก, โซลูชั่น RAN แบบเปิดรุ่นใหม่สำหรับเครือข่าย 5G, โซลูชั่นถ่ายทอดสัญญาณทีวีดิจิทัลถึงอุปกรณ์มือถือโดยตรงแบบหลายมาตรฐาน (ATSC 3.0) และผลิตภัณฑ์ดาวเทียม-IoT ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.saankhyalabs.com

เกี่ยวกับ ADTH

ADTH เป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำสำหรับโซลูชั่นการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์และผู้พัฒนานวัตกรรมสำหรับระบบโทรคมนาคมที่ก้าวหน้าสำหรับ IPTV (ทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต), OTT (สตรีมมิ่งทีวี), DTT (ทีวีภาคพื้นดินดิจิทัล) ตลอดจนการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับสื่อประเภทอื่น ๆ ADTH มีสำนักงานใหญ่ในเมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.adth.com

เกี่ยวกับโทลก้า

โทลก้าเป็นผู้ผลิตที่เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จในด้านแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับสื่อการถ่ายทอดทีวี โทลก้ามอบเครื่องมือที่ต้องใช้ในการขยายและพัฒนาตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ, เจ้าของ และผู้ให้บริการการถ่ายทอดทีวีออนไลน์ โทลก้าให้ความสำคัญกับการบรรจบกันของการถ่ายทอด OTT และวิดีโอดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดการเล่นคอนเทนต์ที่ปลอดภัยและการโฆษณาเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบอัจฉริยะ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tolka.tv/

โลโก้: https://mma.prnasia.com/media2/1924700/Saankhya_Logo.jpg?p=medium600

Source: Saankhya Labs
Related Stocks:
Bombay:540595 Bombay:TEJASNET.BO India:TEJASNET India:TEJASNET.NS
Keywords: Broadcast Technology Computer Hardware Computer/Electronics Electronic Components Entertainment Mobile Entertainment Multimedia/Online/Internet Television Licensing/marketing agreements New products/services