omniture

CGTN: "แนวทางใหม่" ของโรงพยาบาลจีน เน้นให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโควิด-19

CGTN
2022-12-14 20:03 114

ปักกิ่ง--14 ธันวาคม 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

เพื่อขานรับแนวทางใหม่ของจีนในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 รัฐบาลท้องถิ่นและโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์และการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์เพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตลอดจนดูแลผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน จีนได้ประกาศ 20 มาตรการใหม่ในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 และประกาศเพิ่มเติมอีก 10 มาตรการใหม่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายควบคุมโควิด-19 ให้ดียิ่งขึ้น

มาตรการดังกล่าวครอบคลุมการเพิ่มทรัพยากรทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19

เนื่องจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีความสามารถในการแพร่เชื้อที่รุนแรง โรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และอู่ฮั่น จึงมีประชาชนเข้าแถวรอนานหลายชั่วโมงเพื่อเข้ารับการรักษาในคลินิกไข้ (Fever Clinic)

เพื่อหลีกเลี่ยงความตื่นตระหนกและการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ รัฐบาลท้องถิ่นและโรงพยาบาลทั่วประเทศกำลังปรับปรุงโรงพยาบาลชั่วคราวที่มีอยู่เดิม เพิ่มเตียงผู้ป่วยหนัก และกระจายทรัพยากรทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น

จีนสร้างโรงพยาบาลชั่วคราวเพื่อรับและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงและตัดวงจรการแพร่ระบาดของไวรัส ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19 โรงพยาบาลชั่วคราวจำนวนมากได้รับการยกระดับและปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลรองระดับเมือง ตามขนาดของประชากรในแต่ละเมือง

คุณเจียว เอียฮุย (Jiao Yahui) ผู้อำนวยการสำนักบริหารการแพทย์ สังกัดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน แถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมว่า โรงพยาบาลรองจะรักษาผู้ป่วย ไม่ใช่แค่กักตัวผู้ป่วยแบบโรงพยาบาลเคลื่อนที่ และเปิดเผยว่า 10% ของเตียงในโรงพยาบาลเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นเตียงผู้ป่วยหนัก (ไอซียู)

"มีเตียงไอซียู 138,100 เตียงในประเทศจีน ซึ่ง 106,500 เตียงในจำนวนนี้อยู่ในสถานพยาบาลชั้นนำ โดยเฉลี่ยแล้วมีเตียงไอซียู 10 เตียงต่อประชากร 100,000 คน" คุณเจียวกล่าว

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อมูลความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับโควิด พร้อมกับขอให้ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลหรือกดหมายเลขฉุกเฉิน 120 เพื่อให้มีทรัพยากรทางการแพทย์เพียงพอสำหรับกรณีร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น

โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศเริ่มเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานแล้ว

คุณลวี่ เว่ย (Lu Wei) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะของโรงพยาบาลระดับเขตแห่งหนึ่งในนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) ว่า โรงพยาบาลชั่วคราวที่โรงพยาบาลระดับเขตสร้างขึ้นเพื่อแยกและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 คาดว่าจะเลิกใช้งานเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับประเทศ

"ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หลายร้อยคนต้องถูกจำกัดให้อยู่ในโรงพยาบาลชั่วคราวซึ่งสร้างขึ้นในย่านชานเมืองที่ห่างไกลจากครอบครัว" คุณลวี่กล่าว "และยากเป็นพิเศษเมื่อต้องอยู่เป็นเวลานาน"

คุณลวี่กล่าวว่า แทนที่จะเปิดโรงพยาบาลชั่วคราวต่อไป โรงพยาบาลระดับเขตจะขยายแผนกรักษาไข้ที่มีอยู่แล้วให้เป็นแผนกรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะเดียวกัน แพทย์จากแผนกอื่นสามารถมารักษาผู้ป่วยในแผนกนี้ และไม่จำเป็นต้องกักบริเวณมากเกินไป

ผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกต่อไป เฉพาะผู้ป่วยสูงอายุเท่านั้นที่จะได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัส และหากผลออกมาเป็นบวกก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ คุณลวี่กล่าว

กรุงปักกิ่งได้จัดตั้งคลินิกไข้และห้องให้คำปรึกษาใหม่ หรือขยายของเดิมที่มีอยู่ โดยกำหนดให้โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและสถาบันการแพทย์ปฐมภูมิหรือสูงกว่าที่มีคุณสมบัติ ต้องจัดตั้งคลินิกไข้

ในหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงปักกิ่งและมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน โรงพยาบาลหลายแห่งได้เปิดบริการออนไลน์พิเศษสำหรับรักษาโควิด-19 เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการสามารถสอบถามข้อมูลทางออนไลน์ได้

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลในนครเซี่ยงไฮ้ได้เปิดช่องทางพิเศษเพื่อรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจกรดนิวคลีอิกหรือผลตรวจแอนติเจนผิดปกติ

"เราจัดตั้งในหลายพื้นที่และเปิดช่องทางที่แตกต่างกันสำหรับผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ส่วนผู้ป่วยหนักจะได้รับการรักษาทันทีไม่ว่าจะมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบหรือไม่ก็ตาม" คุณหม่า ซิน (Ma Xin) รองประธานโรงพยาบาลหัวซานแห่งมหาวิทยาลัยฟูตันในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวกับเซี่ยงไฮ้ มีเดีย กรุ๊ป (Shanghai Media Group)

https://news.cgtn.com/news/2022-12-13/-New-Approaches-Hospitals-gear-up-to-prioritize-COVID-19-patients-1fJokZulTY4/index.html

Source: CGTN
Keywords: Computer/Electronics Health Care/Hospital Infectious Disease Control Medical/Pharmaceuticals Multimedia/Online/Internet Publishing/Information Service Public Safety