omniture

CGTN: จีนเสริมสร้างความร่วมมือด้านวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโควิด-19

CGTN
2022-12-15 13:50 98

ปักกิ่ง--15 ธันวาคม 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นานาประเทศต่างต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดที่สร้างความหายนะไปทั่วโลก ซึ่งการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับไวรัส

ในช่วงเวลาเกือบสามปีที่ผ่านมา จีนมีความก้าวหน้าในการวิจัยวัคซีนโควิด-19 และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมตามพันธสัญญาในการทำให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะของโลก

จีนเป็นผู้นำด้านการวิจัยวัคซีน

ในเดือนมกราคม 2563 นักวิจัยชาวจีนได้เปิดเผยลำดับจีโนมทั้งหมดของไวรัสอย่างรวดเร็วหลังจากเกิดโรคระบาดครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างชื่นชมการตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

เจเรมี ฟาร์ราร์ (Jeremy Farrar) นักวิจัยทางการแพทย์และผู้อำนวยการมูลนิธิเวลคัม ทรัสต์ (Wellcome Trust) องค์กรการกุศลที่สนับสนุนการวิจัยด้านสุขภาพในกรุงลอนดอน ทวีตข้อความว่า "นี่เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งในแวดวงสาธารณสุขโลก และต้องได้รับการเฉลิมฉลอง"

ในเดือนมีนาคม 2563 วัคซีนอะดีโนไวรัสเวกเตอร์ซึ่งพัฒนาโดยทีมงานภายใต้การนำของเฉิน เว่ย (Chen Wei) นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของจีน กลายเป็นวัคซีนตัวแรกในจีนที่ได้รับการอนุมัติให้ทำการทดลองทางคลินิก

หลังจากการทดลองระยะแรกเสร็จสิ้น การทดลองระยะที่สองก็เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ในเวลานั้น วัคซีนโควิด-19 ของจีนเป็นวัคซีนตัวแรกในโลกที่เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่สอง ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO)

การวิจัยวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่น ๆ ก็ดำเนินการไปพร้อมกัน ซึ่งรวมถึงวัคซีนเชื้อตายที่พัฒนาโดยบริษัท ไชน่า เนชันแนล ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป หรือ ซิโนฟาร์ม (China National Pharmaceutical Group หรือ Sinopharm) และวัคซีนเชื้อตายของบริษัทซิโนแวค (Sinovac) ในปักกิ่ง

ในขณะที่ไวรัสยังคงมีการกลายพันธุ์ จีนก็ยกระดับการวิจัยวัคซีนอย่างต่อเนื่องในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดย ณ เดือนตุลาคม 2565 มีการทดสอบวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 46 ตัว โดยเป็นการทดลองในมนุษย์ในประเทศ และอีกกว่า 20 ตัวมีการทดลองทางคลินิกในต่างประเทศ

ในจำนวนนี้ วัคซีนโมโนวาเลนต์ชนิดเชื้อตาย 3 ตัวสำหรับรับมือโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้รับการทดสอบเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ความพยายามในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านวัคซีนทั่วโลก

วัคซีนของจีนมีบทบาทสำคัญต่อทั่วโลกในการรับมือกับโรคระบาด โดยช่วยให้นานาประเทศมีทางเลือกมากขึ้นในขณะที่มีความเห็นต่างเรื่องวัคซีนเกิดขึ้นทั่วโลก

ในเดือนพฤษภาคม 2564 องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นบัญชีวัคซีนโควิด-19 ของซิโนฟาร์มสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน ถือเป็นวัคซีนจีนตัวแรกที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก และเป็นวัคซีนตัวที่ 6 ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินทั่วโลก

องค์การอนามัยโลกขึ้นบัญชีวัคซีนของซิโนฟาร์มสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินเนื่องจากเห็นถึง "ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพ" นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวในการแถลงข่าว

ในเดือนถัดมา วัคซีนเชื้อตายอีกตัวที่ผลิตโดยซิโนแวคก็ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน

เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนอื่นที่ผลิตโดยโมเดอร์นา (Moderna) และไฟเซอร์ (Pfizer) ในช่วงเวลานั้น วัคซีนเชื้อตายจากจีนมีข้อได้เปรียบมากกว่า นั่นคือ สามารถจัดเก็บและขนส่งในตู้เย็นมาตรฐานที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนไม่เพียงพอต่อการจัดเก็บวัคซีนจำนวนมากในอุณหภูมิต่ำ

ในเดือนพฤษภาคม 2565 วัคซีนคอนวิดีเซียที่พัฒนาโดยบริษัท แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics) ได้รับไฟเขียวจากองค์การอนามัยโลกสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน นับเป็นวัคซีนจีนตัวที่ 3 ต่อจากซิโนฟาร์มและซิโนแวคที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน

"ทั่วโลกต้องการวัคซีนโควิด-19 หลายตัวเพื่อรับมือกับความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนทั่วโลก" ดร.มารีแองเจลา ซีเมา (Mariangela Simao) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกด้านการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2564

ดร.ซีเมายังเรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตวัคซีนเข้าร่วมในโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก หรือ โคแวกซ์ (COVID-19 Vaccines Global Access หรือ COVAX) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทั้งสำหรับประเทศที่ร่ำรวยและยากจน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

นับตั้งแต่จีนเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ในเดือนตุลาคม 2563 จีนได้ให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนอย่างต่อเนื่องแก่ประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า และในเดือนสิงหาคม 2564 จีนให้คำมั่นว่าจะจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 พันล้านโดสให้กับทั่วโลกตลอดปี 2564 และมอบเงิน 100 ล้านดอลลาร์แก่โครงการโคแวกซ์

"เราน้อมรับการสนับสนุนจากจีน ซึ่งจะช่วยให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่สุดในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้มากขึ้น" ดร.เซธ เบิร์กลีย์ (Seth Berkley) ซีอีโอขององค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) กล่าว

นอกจากนี้ จีนยังมีมาตรการอื่น ๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 และการสร้างกลไกความร่วมมือของโรงพยาบาลในจีนเพื่อจับคู่กับโรงพยาบาลในแอฟริกา 30 แห่ง

ณ เดือนพฤษภาคม 2565 จีนได้จัดหาวัสดุป้องกันการแพร่ระบาดให้แก่ 153 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 15 แห่ง ซึ่งรวมถึงวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2.2 พันล้านโดส ตลอดจนส่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ไปยัง 34 ประเทศ และแบ่งปันประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดกับกว่า 180 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ

"ประชาชนต้องมาก่อน" ยุทธศาสตร์ต่อสู้โรคระบาดของจีน

นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด จีนถือว่าการปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชาชนมีความสำคัญสูงสุด ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม

ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2565 มีการฉีดวัคซีนราว 3.45 พันล้านโดสทั่วประเทศ ขณะที่ประชากรอายุมากกว่า 60 ปีจำนวนกว่า 228 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว คิดเป็น 86% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มอายุดังกล่าว

ด้านชาวจีนโพ้นทะเลก็ได้รับวัคซีนโควิด-19 เช่นเดียวกัน ภายในสามเดือนหลังจากที่จีนเปิดตัวโครงการฉีดวัคซีน "สปริง สเปราต์" (Spring Sprout) ในเดือนมีนาคม 2564 ชาวจีนโพ้นทะเลมากกว่า 1.18 ล้านคนในกว่า 150 ประเทศก็ได้รับการฉีดวัคซีนจากจีนหรือต่างประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้ขยายความครอบคลุมของโครงการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน ด้วยการฉีดวัคซีนของจีนให้แก่ชาวต่างชาติที่มีอายุเข้าเกณฑ์ และให้การรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจีนด้วย

https://news.cgtn.com/news/2022-12-14/How-China-strengthens-vaccine-cooperation-to-battle-COVID-19-1fL8JwjK6Ri/index.html 

Source: CGTN
Keywords: Biotechnology Computer/Electronics Health Care/Hospital Infectious Disease Control Medical/Pharmaceuticals Multimedia/Online/Internet Publishing/Information Service Advocacy Group Opinion Clinical Trials/Medical Discoveries