รายงานฉบับใหม่จาก ETC ระบุจำนวนเงินที่ต้องการและนโยบายที่ต้องมีเพื่อให้เกิดการลงทุนที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
ลอนดอน, 21 มีนาคม 2566 /PRNewswire/ -- คณะกรรมาธิการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transitions Commission - ETC) ระบุว่า เราจำเป็นต้องลงทุนในพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายใน 20 ปีข้างหน้า โดยรายงานล่าสุดของ ETC เรื่อง "การจัดหาเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน: วิธีทำให้เงินหมุนเวียนเพื่อสร้างเศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์" (Financing the Transition: How to make the money flow for a net-zero economy) ETC เน้นว่าเราจำเป็นต้องมีนโยบายที่เข้มแข็งของรัฐบาลทั้งในด้านภาคเศรษฐกิจจริงและระบบการเงิน เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะจัดหาเงินมาลงทุนได้เพียงพอ รายงานยังระบุด้วยว่า เราจำเป็นต้องให้เงินอุดหนุน/เงินช่วยเหลือ เพื่อสนับสนุนการเลิกใช้ถ่านหินในช่วงต้น ยุติการตัดไม้ทำลายป่า และจัดหาเงินทุนในการกำจัดคาร์บอน
เราจำเป็นต้องลงทุนเฉลี่ยปีละ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปี 2593 เพื่อสร้างเศรษฐกิจโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านล้านดอลลาร์ที่เราลงทุนกันอยู่ในแต่ละปี โดย 70% ของเงินจำนวนนี้จำเป็นสำหรับการผลิต การส่งผ่าน และการจำหน่ายไฟฟ้าแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ
นโยบายเศรษฐกิจจริงที่ออกแบบมาดีจะต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในพลังงานสะอาด ตัวอย่างเช่น การตั้งเป้าหมายการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ภายในปี 2573 การตั้งราคาคาร์บอน และการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมหนัก การบิน และการขนส่ง ตลอดจนการสั่งห้ามขายเครื่องยนต์สันดาปภายใน (เช่น ภายในปี 2578 เป็นอย่างช้า)
มาตรการสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การกำกับดูแลทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ การกำหนดเป้าหมายการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในขั้นต้น และพันธกิจจากสถาบันการเงินในด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นอกเหนือจากการจัดหาเงินเพื่อการลงทุน (ซึ่งจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในเชิงบวก) แล้ว เรายังต้องการเงินอุดหนุน/เงินช่วยเหลือ เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนทางเศรษฐกิจของการเลิกใช้ถ่านหินในช่วงแรก เพื่อชดเชยแรงจูงใจในการตัดไม้ทำลายป่า และเพื่อเป็นทุนในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
"การมีกระแสการจัดหาเงินเพียงพอเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุอนาคตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และลดผลกระทบของภาวะโลกรวน เราต้องการการลงทุนจากภาคเอกชน เงินทุนของรัฐบาล และเงินจากองค์กรการกุศล เพื่อจัดหาเงินทุนขนาดใหญ่และกระแสการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะคืบหน้าจากเป้าหมายไปสู่การลงมือทำ และส่งเสริมเศรษฐกิจโลกแบบคาร์บอนต่ำ" คุณอาแดร์ เทิร์นเนอร์ (Adair Turner) ประธานคณะกรรมาธิการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
ต้องเร่งลงทุนเพิ่ม แต่ช่วยให้ประหยัดได้ในระยะยาว
บางส่วนของเงินที่จำเป็นต้องใช้ในการลงทุนในพลังงานสะอาดอาจชดเชยได้ด้วยการลดการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเงินที่ต้องลงทุนต่อปีจาก 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ลงเหลือสุทธิ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 1.3% ของ GDP เฉลี่ยต่อปีทั่วโลกในช่วง 30 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ การลงทุนในพลังงานสะอาดจะสร้างระบบพลังงานที่มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำกว่าในปัจจุบัน ทำให้สามารถประหยัดเงินได้ 2-3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2593 เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทั้งนี้ ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ จำเป็นต้องมีการลงทุนจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ในกรณีที่ไม่มีความท้าทายด้านภาวะโลกรวนก็ตาม
ดังนั้น ต้นทุนส่วนเพิ่มที่แท้จริงของการลงทุนดังกล่าวจึงต่ำกว่าเงินที่จำเป็นต้องใช้ในการลงทุนขั้นต้นมาก อย่างไรก็ตาม ขนาดของการระดมเงินทุนและการจัดสรรใหม่ที่จำเป็นจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีนโยบายเศรษฐกิจจริงที่รัดกุมในทุกประเทศเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาของภาคการเงินในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนั้นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก โดยปริมาณการลงทุนจะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดประมาณปี 2583 เมื่อเราสร้างระบบพลังงานแห่งอนาคต หลังจากนั้น เงินที่ต้องลงทุนจะลดลงสู่อัตราการเปลี่ยนสินทรัพย์ใหม่ ซึ่งก็จะลดน้อยลงเช่นกัน
การลงทุนจากทั่วโลก – แรงจูงใจในการลงทุนแม้จะมีความท้าทาย
มีเงินเพียงพอทั่วโลกที่จะใช้จัดหาเป็นเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน แม้ว่าจะมีปัญหาในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านในระยะสั้น (เช่น อัตราดอกเบี้ยสูง) แต่พลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ในตลาดไฟฟ้าทั่วโลกกว่า 95% และขณะนี้ยังมีแรงกระตุ้นในการลงทุนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและเพื่อการประหยัดพลังงานอีกด้วย
จำนวนเงินที่ต้องใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้นจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มรายได้ของแต่ละประเทศ โดยในประเทศเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงและจีนจำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินมากเป็น 2 เท่าของระดับปัจจุบันภายในปี 2573 ขณะที่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำต้องลงทุนเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในปี 2573
หากมีการวางนโยบายเศรษฐกิจจริงที่ออกแบบมาดี เงินทุนส่วนใหญ่ในทุกประเทศจะมาจากสถาบันการเงินและตลาดเอกชน อย่างไรก็ตาม แม้ในประเทศเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง สถาบันการเงินของรัฐก็ควรมีบทบาทในการจัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนบางประเภท เช่น การปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ร่วมกัน (เช่น เครือข่ายการขนส่งและจัดจำหน่ายไฮโดรเจนและการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน) และการปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัย
ในบางประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ การหาเงินลงทุนจากภาคเอกชนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เนื่องด้วยมีความท้าทายจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาคที่เกิดขึ้นจริงหรือที่รับรู้ได้ในระดับสูง รวมทั้งเงินออมภายในประเทศที่ไม่เพียงพอ ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มต้นทุนและลดการจัดหาเงินทุนจากภาคเอกชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มกระแสการจัดหาเงินระหว่างประเทศเป็นจำนวนมากไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยรายงานของซองเว-สเติร์น (Songwe-Stern) ระบุว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Banks - MDBs) จำเป็นต้องจัดหาเงินให้เพิ่มขึ้น และ MDB ต้องเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์และแนวทางเพื่อช่วยขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
"ความท้าทายทางการเงินคือหัวใจสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ กล่าวคือ เราต้องลงทุนเท่าไร ในภาคส่วนใดและที่ไหน เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจของเราเสียใหม่เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศ รายงาน ETC ฉบับนี้ตอบคำถามเหล่านี้อย่างเคร่งครัดและเป็นระบบ ยิ่งไปกว่านั้นคือให้ความสำคัญกับวิธีการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การลงทุนนี้เป็นไปได้จริง ทั้งนโยบายสำหรับเศรษฐกิจจริง นโยบายที่พุ่งเป้าไปที่ระบบการเงิน ตลอดจนขนาดและบทบาทของเงินอุดหนุน รายงานฉบับนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญในการกำหนดรูปแบบการทำงานของสถาบันต่าง ๆ รวมถึง MDB แบบของดิฉันด้วย"
"ที่ EBRD เราได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลักภายในปี 2568 และรายงานฉบับนี้เน้นย้ำด้านหลัก ๆ ที่เราต้องโฟกัส นั่นก็คือนโยบายเศรษฐกิจจริงที่เราต้องทำงานร่วมกับประเทศที่เราดำเนินธุรกิจด้วยเพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุน และบทบาทที่เราต้องดำเนินการเพื่อระดมทุนในภาคเอกชนควบคู่ไปกับการลงทุนของเราเอง" คุณนันดิตา ปาร์ชาด (Nandita Parshad) กรรมการผู้จัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนของ EBRD กล่าว
การสนับสนุนจากสถาบันการเงินและการกำกับดูแลทางการเงินสามารถเร่งการจัดสรรเงินทุนใหม่ได้ โดยสถาบันการเงินควรจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะสามารถมีบทบาทในการระดมทุนและการจัดสรรเงินทุนใหม่ไปสู่สินทรัพย์และเทคโนโลยีปล่อยคาร์บอนต่ำ ส่วนการกำกับดูแลทางการเงินก็ควรมีการเปิดเผยและการจัดการความเสี่ยงและกลยุทธ์ด้านภาวะโลกรวนอย่างโปร่งใส
บทบาทสำคัญของเงินอุดหนุน/เงินช่วยเหลือ
หากมีนโยบายที่ดี การลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน แต่มาตรการลดการปล่อยมลพิษบางส่วนจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลิกใช้ถ่านหินตั้งแต่เนิ่น ๆ ในขณะที่ยังมีราคาถูกกว่าพลังงานหมุนเวียน การหยุดการตัดไม้ทำลายป่าที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่เจ้าของที่ดินและธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ดังนั้น หากโลกต้องการบรรลุเป้าหมายการคงอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จึงอาจจำเป็นต้องให้เงินอุดหนุน/เงินช่วยเหลือ เพื่อชดเชยต้นทุนเหล่านี้ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ (ไม่นับรวมจีน) และอาจมีมูลค่าประมาณ 0.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว เงินจำนวนนี้อาจมาจากบริษัทต่าง ๆ ผ่านทางตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) องค์กรการกุศล และกลุ่มประเทศรายได้สูง
ภายในปี 2573 เงินช่วยเหลือดังกล่าวอาจรวมถึง
"เราเชื่อว่าการจัดหาเงินทุนจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจโลกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารทำงานร่วมกัน"
"ตามที่รายงานของ ETC ระบุไว้อย่างชัดเจน การเงินจำเป็นต้องมาพร้อมกับความพยายามของรัฐบาลและองค์กรการกุศล เพื่อการลงทุนที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเปลี่ยนผ่าน" คุณโซอี ไนท์ (Zoë Knight) กรรมการผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มศูนย์การเงินที่ยั่งยืนของเอชเอสบีซี (HSBC) กล่าว
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่: https://www.energy-transitions.org/publications/financing-the-transition/
รายงานของ ETC มาพร้อมกับแผ่นงาน 5 ภาคส่วน ซึ่งสรุปความต้องการด้านการลงทุน ความท้าทาย และมาตรการที่จำเป็นสำหรับการลดคาร์บอนในภาคส่วนพลังงาน, อาคาร, การขนส่ง, อุตสาหกรรม และไฮโดรเจน ภายในปี 2593 โดยรายงานดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้ที่: https://www.energy-transitions.org/publications/financing-the-transition/#downloads
คำกล่าวจากสมาชิก
คำกล่าวเพิ่มเติมจากอิเบร์โดรลา (Iberdrola), อิมแพกซ์ แอสเซท เมเนจเมนต์ (Impax Asset Management), เอสเอสอี (SSE) และอาร์เอ็มไอ (RMI) สามารถดูได้ที่นี่
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ
รายงานฉบับนี้แสดงถึงมุมมองโดยรวมของคณะกรรมาธิการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สมาชิกของ ETC สนับสนุนประเด็นหลักโดยทั่วไปของข้อโต้แย้งในรายงานนี้ แต่ไม่ควรถือว่าเห็นด้วยกับข้อค้นพบหรือคำแนะนำทุกประการ สถาบันที่คณะกรรมาธิการสังกัดไม่ได้ถูกขอให้สนับสนุนรายงานอย่างเป็นทางการ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ETC ได้ที่: https://www.energy-transitions.org
ดูรายงานและอินโฟกราฟิกได้ที่: https://www.energy-transitions.org/publications/financing-the-transition/
ดูรายชื่อคณะกรรมาธิการได้ที่นี่
อินโฟกราฟิก - https://mma.prnasia.com/media2/2036392/Financing_the_Transition_Infographic.jpg?p=medium600
โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/1275002/Energy_Transitions_Commission_Logo.jpg?p=medium600