เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้มอริเชียสกลายเป็นผู้บุกเบิกระดับโลกในด้านการอนุรักษ์ การวิจัย และการศึกษาแนวปะการัง
ฟลัค, มอริเชียส--26 มิถุนายน 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
หัวเว่ย มอริเชียส (Huawei Mauritius), องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) และอีโคโหมด โซไซตี (EcoMode Society) ประกาศเฟสใหม่ของโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ มอริเชียส (Tech4Nature Mauritius) เพื่อศึกษาความสำเร็จของการขยายพันธุ์สิ่งมีชีวิตในพื้นที่ฟื้นฟูแนวปะการัง ประเทศมอริเชียส
โครงการเฟสใหม่นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากที่โครงการบรรลุหมุดหมายสำคัญในเดือนมิถุนายน เมื่อพันธมิตรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่นประสบความสำเร็จในการย้ายปลูกเศษปะการังจำนวน 25,000 ชิ้นที่เพาะเลี้ยงในแปลงอนุบาลปะการังไปยังพื้นที่เสื่อมโทรมของระบบนิเวศแนวปะการังในปวงต์-โอซ์-เฟยล์ (Pointe-aux-Feuilles) ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาด 20 ตารางกิโลเมตรนอกชายฝั่งตะวันออกของมอริเชียส โดยโครงการนี้เป็นโครงการฟื้นฟูปะการังโครงการแรก ๆ ในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก
"ผมขอชื่นชมความสำเร็จของโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ เป้าหมายของเราคือ การทำงานร่วมกันเพื่อสร้างมหาสมุทรที่แข็งแรงพร้อมสนับสนุนธรรมชาติและผู้คนภายในปี 2573" ซูเดียร์ มาวด์ฮู (Honorable Sudheer Maudhoo) รัฐมนตรีเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ทรัพยากรทางทะเล การประมง และการขนส่งของมอริเชียส กล่าว "เราตั้งตารอที่จะได้เดินหน้าฟื้นฟูมหาสมุทรและความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต ด้วยการสนับสนุนของโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ หัวเว่ย และพันธมิตร"
โซลูชันที่ประกอบด้วยกล้องและเครื่องรับ GPS, 4G และระบบคลาวด์ได้ถูกนำมาใช้งานเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิตบริเวณพื้นที่ฟื้นฟูแนวปะการัง และพิจารณาปัจจัยที่รบกวนความสำเร็จของการขยายพันธุ์ สำหรับโครงการในเฟสที่สองนี้จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ AI เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจด้านการอนุรักษ์ ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยของนักชีววิทยาทางทะเล และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการัง
"โครงการนี้จะช่วยให้เรามีข้อมูลเพิ่มเติมในการจัดการและกำกับดูแลการใช้งานสาธารณะ" นาดีม นาซูแรลลี (Nadeem Nazurally) นายกสมาคมอีโคโหมด โซไซตี กล่าว "นอกจากนี้ยังทำให้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพใกล้ชิดกับประชาชนทั่วไปมากขึ้น เนื่องจากมีการวางแผนเผยแพร่วิดีโอและสื่อประชาสัมพันธ์อื่น ๆ ผ่านแอปมือถือ ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือกับ IUCN และหัวเว่ย โครงการนี้ทำให้เราสามารถก้าวกระโดดในเชิงคุณภาพโดยผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับการตรวจสอบและการอนุรักษ์พันธุ์"
ทะเลสาบขนาด 243 ตร.กม. ที่สร้างขึ้นโดยระบบแนวปะการังชายฝั่งยาว 150 กม. เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ได้แก่ สาหร่ายขนาดใหญ่ (macroalgae) 61 ชนิด ปะการัง 110 ชนิด ปลา 132 ชนิด และสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นอีกหลายชนิด อย่างไรก็ตาม ระบบแนวปะการังต้องเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย ซึ่งรวมถึงการทำประมงเกินขนาด มลภาวะ และองค์ประกอบของน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการทำลายป่าชายเลนและหญ้าทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น พายุรุนแรงมากขึ้น และอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูแนวปะการังจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการปกป้องพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะและลดระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS) มอริเชียสพึ่งพาทรัพยากรแนวปะการังอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประมงและการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของจีดีพีของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ และคิดเป็น 10% ของการจ้างงาน การเพาะเลี้ยงปะการังเพื่อซ่อมแซมแนวปะการังที่เสื่อมโทรมได้รับความสนใจมากขึ้นในมอริเชียส โดยใช้เทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก (microfragmentation) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างใหม่ ด้วยการติดชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในแปลงอนุบาลนอกสถานที่โดยใช้บล็อกคอนกรีต โครงสร้างชุบสังกะสี และหินบะซอลต์ตามธรรมชาติเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของปะการัง
จากการตรวจติดตามพื้นที่ฟื้นฟูในช่วงแรก ๆ พบว่า ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และขณะนี้มีเศษปะการังอีก 1,890 ชิ้นกำลังเพาะพันธุ์ในแปลงอนุบาลปะการังเพื่อขยายพื้นที่ฟื้นฟู ทั้งนี้ การกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลโดยสมัครใจ (Voluntary Marine Conservation Area: VMCA) ช่วยเร่งผลักดันความก้าวหน้าในการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศแนวปะการังโดยอาศัยพลังของเทคโนโลยีและความร่วมมือ
"การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีความจำเป็นมากขึ้นในการตัดสินความสำเร็จ ในขณะที่เราเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน" เจมส์ ฮาร์ดคาสเซิล (James Hardcastle) หัวหน้าทีมพื้นที่คุ้มครองและอนุรักษ์ของ IUCN กล่าว "เรามีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และรวมเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับมาตรการอนุรักษ์ระบบนิเวศของเรา โครงการนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าความร่วมมือและการผลักดันเข้าสู่กระแสหลักเป็นหนทางที่นำไปสู่การหยุดยั้งความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ"
"โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่เราลงทุนในมอริเชียส หลังจากประสบความสำเร็จมาแล้วหลายครั้งในการพัฒนาโซลูชันเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ และพื้นที่ธรรมชาติในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น คลาวด์, AI และการเชื่อมต่อ" เจิ้งกุ่ย (Zheng Kui) ซีอีโอของหัวเว่ย มอริเชียส กล่าว "บทบาทของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในการรับมือกับความท้าทายนี้คือกุญแจสำคัญ แต่การร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่มีความมุ่งมั่นเท่านั้นจึงจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง"
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการดำเนินโครงการลักษณะนี้ในพื้นที่อื่น ๆ ของมอริเชียส เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการด้านการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ และเนื่องด้วยยังมีแนวปะการังถึง 50% ของโลกที่ถูกทำลายหรือเสื่อมโทรม ความสำเร็จของโครงการจนถึงปัจจุบันจึงแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการฟื้นฟูแนวปะการังขนาดใหญ่ทั่วโลกเพิ่มเติมต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากเทคโนโลยีดิจิทัล
เกี่ยวกับ หัวเว่ย เทคฟอร์ออล (Huawei TECH4ALL)
เทคฟอร์ออล เป็นโครงการขยายการเข้าถึงบริการดิจิทัลในระยะยาวของหัวเว่ยที่มีเป้าหมายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในโลกดิจิทัล โดยมุ่งเน้นไปที่สี่ขอบข่าย ได้แก่ การสนับสนุนความเสมอภาคและคุณภาพการศึกษา การอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี การสนับสนุนการบริการสุขภาพที่ทั่วถึง และการพัฒนา
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าชมที่เว็บไซต์ https://www.huawei.com/en/tech4all
ติดตามเราทางทวิตเตอร์ที่ https://twitter.com/HUAWEI_TECH4ALL