omniture

"คูเหลียง" เรื่องราวมิตรภาพจีน-อเมริกา ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

People's Daily
2023-07-12 17:14 37

ปักกิ่ง--12 กรกฎาคม 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต

รายงานโดยหนังสือพิมพ์ พีเพิลส์ เดลี (People's Daily):

นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1880 หรือราวพ.ศ. 2420 เป็นต้นมา มีชาวต่างชาติจำนวนมากย้ายถิ่นฐานมายังเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยหลายคนใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนที่คูเหลียง (Kuliang) หรือที่รู้จักกันในชื่อกู่หลิง (Guling) ในภาษาจีนกลาง ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการพักผ่อนในช่วงฤดูร้อน โดยตั้งอยู่ชานเมืองฝูโจว

An aerial view of Kuliang. (Photo by Lin Shuangwei)
An aerial view of Kuliang. (Photo by Lin Shuangwei)

ณ สถานที่แห่งนี้ มีการสร้างบ้านพักตากอากาศ โรงพยาบาล สนามเทนนิส สระว่ายน้ำ ที่ทำการไปรษณีย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ชาวต่างชาติยังสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ คูเหลียงได้ให้การต้อนรับเพื่อนเก่าจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกาที่มาร่วมงาน "ผูกพันกับคูเหลียง: การประชุมมิตรภาพระหว่างประชาชนจีน-สหรัฐอเมริกา ประจำปี 2566 (Bond with Kuliang: 2023 China-U.S. People-to-People Friendship Forum) โดยบางคนเคยใช้ชีวิตในวัยเด็กที่คูเหลียงกับพ่อแม่ และบางคนก็มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ผ่านทางครอบครัว โดยคูเหลียงเปรียบเสมือนสายใยที่เชื่อมโยงพวกเขากับประเทศจีน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้ส่งจดหมายแสดงความยินดีกับการประชุมครั้งนี้ โดยระบุว่า "ผมยินดีที่ได้ข่าวจากสมาชิกกลุ่มเพื่อนคูเหลียง (Kuliang Friends) และได้ทราบเรื่องราวอันน่าประทับใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพวกคุณกับคูเหลียง"

ในปี พ.ศ. 2444 คุณมิลตัน การ์ดเนอร์ (Milton Gardner) พลเมืองสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมายังเมืองฝูโจวพร้อมกับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเป็นทารก และอาศัยอยู่จนกระทั่งครอบครัวของเขาย้ายกลับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2454 คุณการ์ดเนอร์ปรารถนาที่จะกลับมาเยี่ยมบ้านในวัยเด็กของเขาอีกครั้ง แต่ก็ไม่อาจทำให้ความปรารถนาเป็นจริงได้ จนกระทั่งจากไป

ในปี พ.ศ. 2535 นายสี จิ้นผิง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเทศบาลเมืองฝูโจว ได้ทราบเรื่องราวอันน่าประทับใจนี้จากบทความ "อาห์! คูเหลียง" (Ah! Kuliang) และได้เชิญคุณเอลิซาเบธ การ์ดเนอร์ (Elizabeth Gardner) ภรรยาม่ายของคุณมิลตัน การ์ดเนอร์ มาเยือนประเทศจีน เพื่อช่วยเติมเต็มความปรารถนาชั่วชีวิตของสามีของเธอ

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรื่องราวของคูเหลียงก็เป็นที่รับรู้ของคนมากมาย

Lee Gardner holds a photo album that records his family's bond with Kuliang. (Photo by Wang Yinxin/People's Daily)
Lee Gardner holds a photo album that records his family's bond with Kuliang. (Photo by Wang Yinxin/People's Daily)

คุณลี การ์ดเนอร์ (Lee Gardner) เหลนของคุณมิลตัน การ์ดเนอร์ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ พีเพิลส์ เดลี ว่า ทั้งครอบครัวของเขารู้สึกขอบคุณประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ทำให้ความฝันของผู้สูงอายุชาวอเมริกันกลายเป็นความจริง และกล่าวเสริมว่าเรื่องราวของคูเหลียงสร้างความประทับใจให้กับชาวอเมริกันจำนวนมาก

คุณลี ผู้เคยไปเยือนคูเหลียง 4 ครั้ง เปิดเผยว่า ทั้งปู่และพ่อของเขาเกิดที่คูเหลียง สถานที่แห่งนี้จึงเป็นบ้านเกิดของทั้งคู่ และยังเป็นบ้านเกิดแห่งที่สองของคุณลีด้วย เขาบอกว่าคำว่ารักมีความเป็นสากล ไม่ว่าจะในภาษาใดก็ตาม

เขาโชว์อัลบัมภาพที่ครอบครัวของเขาเก็บไว้อย่างดี โดยเป็นบันทึกความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างตระกูลการ์ดเนอร์กับคูเหลียง เขาบอกว่าอัลบัมนี้เป็นสมบัติที่มีค่าที่สุดของครอบครัว และจะมอบให้เป็นของขวัญแก่ชาวจีนในโอกาสที่มาเยือนคูเหลียงครั้งนี้

คุณเกล แฮร์ริส (Gail Harris) ซึ่งเคยอาศัยอยู่ที่คูเหลียงสมัยยังเป็นเด็ก กล่าวเป็นภาษาถิ่นของเมืองฝูโจวว่า "ฉันกลับมาบ้านแล้ว" เมื่อเหยียบลงบนแผ่นดินคูเหลียงอีกครั้ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

คุณแฮร์รี รัสเซลล์ คาลด์เวลล์ (Harry Russell Caldwell) คุณปู่ของเธอ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของมณฑลฝูเจี้ยน และเป็นผู้เขียนหนังสือนกจีนตอนใต้ (South China Birds) ที่รวบรวมข้อมูลประชากรนกในคูเหลียง และเป็นผลงานทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ชิ้นแรก ๆ ที่บันทึกข้อมูลสายพันธุ์นกของจีน

คุณเกล แฮร์ริส บอกว่า คุณปู่ของเธอรักประเทศจีนและคนจีน และตอนนี้หลาน ๆ ของเขาก็รักประเทศจีนเช่นกัน พร้อมกับเสริมว่า เธอคิดถึงและรักช่วงเวลาที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศจีนเป็นอย่างมาก

ในครั้งนี้ คุณเกล แฮร์ริส ได้พบกับคุณหลี่ อี้อิง (Li Yiying) เพื่อนสมัยเด็กของเธอ ทั้งสองได้ทักทายกัน จับมือกัน และนั่งคุยกันอย่างช้า ๆ เป็นภาษาถิ่นฝูโจว

คุณเกล แฮร์ริส แสดงความหวังว่าสายสัมพันธ์ในคูเหลียงจะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ความรักและมิตรภาพคงอยู่ตลอดไป

คุณพริสซิลลา บรูว์สเตอร์ กิลล์ (Priscilla Brewster Gill) ในวัย 80 ปีเศษ ได้มาร่วมประชุมพร้อมกับคุณเคที บาร์เบอร์ (Katy Barber) ผู้เป็นหลานสาว เธอได้รำลึกถึงถนนและตรอกซอกซอยเก่า ๆ จากความทรงจำในวัยเยาว์ เธอบอกว่าประเทศจีนคือบ้านเกิดในใจของเธอ

คุณกิลล์เกิดในอำเภอกู่เทียน (Gutian) เมืองฝูโจว โดยคุณฮาโรลด์ บรูว์สเตอร์ (Harold Brewster) พ่อของเธอ เคยเปิดคลินิกในคูเหลียง และเป็นผู้อำนวยการชาวต่างชาติคนสุดท้ายของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เมืองฝูโจว (Fuzhou Medical University Union Hospital)

คุณกิลล์อาศัยอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลา 12 ปี และเคยช่วยพ่อของเธอดูแลผู้ป่วย เธอนึกถึงเรื่องราวในวัยเด็กตอนที่เธอหกล้มได้รับบาดเจ็บ แล้วมีชาวบ้านมาช่วยทำแผลให้ เธอรู้สึกว่าตัวเองกับชาวบ้านเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน

Elyn MacInnis and her daughter use a bucket to draw water from a century-old well in Kuliang. (Photo by Weng Rongfei)
Elyn MacInnis and her daughter use a bucket to draw water from a century-old well in Kuliang. (Photo by Weng Rongfei)

คุณเอลีน แมคอินนิส (Elyn MacInnis) วัย 72 ปี เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของสมาคมวิจัยการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมคูเหลียง สามีของเธอ คุณปีเตอร์ แมคอินนิส (Peter MacInnis) เกิดที่เมืองฝูโจว ขณะที่คุณโดนัลด์ แมคอินนิส (Donald MacInnis) พ่อของสามี เคยเป็นสมาชิกฝูงบิน ฟลายอิง ไทเกอร์ส (Flying Tigers) กลุ่มนักบินอาสาสมัครชาวอเมริกันที่มาร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนจีนในการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น

คุณเอลีน แมคอินนิส มุ่งมั่นที่จะเผยแพร่เรื่องราวของคูเหลียงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ในปี พ.ศ. 2559 เธอได้สร้างเว็บไซต์ภาษาอังกฤษเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคูเหลียง และก่อตั้งกลุ่ม "เพื่อนคูเหลียง" ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิกมากกว่า 50 คน และเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

มิตรภาพระหว่างประชาชนคือกุญแจสำคัญสู่ความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างรัฐ และเรื่องราวของคูเหลียงก็เป็นตัวอย่างที่ดีของมิตรภาพระดับประชาชนระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

แม้ขณะนี้ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

คุณเอลีน แมคอินนิส บอกกับหนังสือพิมพ์ พีเพิลส์ เดลี ว่า คนรุ่นเก่าเคยอาศัยอยู่ในคูเหลียงและเข้ากันได้ดีกับคนในพื้นที่ และประวัติศาสตร์นี้ก็สะท้อนค่านิยมที่ดีของมนุษย์ นั่นคือ ความเข้าอกเข้าใจ ความเคารพ สันติภาพ มิตรภาพ และความรัก

เธอเน้นย้ำว่าคูเหลียงไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวของจีนกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องราวของมนุษยชาติทั้งมวลด้วยเช่นกัน เธอหวังว่าวันหนึ่งเด็ก ๆ จากทั่วโลกจะมารวมตัวกันที่คูเหลียง และสานต่อเรื่องราวของคูเหลียงสืบไป

Source: People's Daily
Keywords: Art Entertainment Publishing/Information Service Trade show news
Related News