เฉิงตู, จีน, 10 ส.ค. 2566 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 31 "เฉิงตู 2021" ปิดฉากลงแล้วอย่างเป็นทางการ โดยตัวแทนจากสหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก (FISU) และนายกเทศมนตรีนครเฉิงตูได้มอบธงให้กับตัวแทนจากเมืองไรน์-รูห์ร (Rhine-Ruhr) ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งต่อไป ขณะที่ดอกไม้ไฟพุ่งทะยานสู่ท้องฟ้าเหนือสวนดนตรีกลางแจ้งเฉิงตู (Chengdu Open-Air Music Park) เป็นอันจบพิธีการแข่งขันตลอดทั้ง 12 วันที่มีนักกีฬาเข้าร่วม 6,500 คน สมกับธีมของงานที่ว่า "เฉิงตูทำฝันให้เป็นจริง" (Chengdu makes dreams come true.)
"เฉิงตูคือจุดเริ่มต้นของความฝันของผม" อายูมุ คิโนชิตะ (Ayumu Kinoshita) ผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นกล่าวขณะเดินออกจากสังเวียนโปโลน้ำชาย โดยแม้ว่าอายูมุ คิโนชิตะ เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกและไม่ได้เป็นทีมชนะเลิศ แต่เขากับเพื่อนร่วมทีมก็ตระหนักว่า "ทุกทีมล้วนมีจุดแข็งของตัวเอง การแข่งขันครั้งนี้ทำให้ผมเห็นความต่างชั้นในด้านความสามารถและกระตุ้นให้ผมทำตามเป้าหมายต่อไป ผมอยากเป็นโค้ชโปโลน้ำและส่งเสริมกีฬานี้ต่อไปในอนาคต"
ส่วน "น้องเทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองเทควันโดหญิงรุ่น 49 กก. รอบชิงชนะเลิศที่นครเฉิงตูได้สำเร็จ "ความฝันของหนูในการคว้าเหรียญทองเป็นจริงขึ้นแล้วที่เฉิงตู ดีใจสุด ๆ เลยค่ะ ขอขอบคุณทางผู้จัดงานเพราะสิ่งอำนวยความสะดวกที่นี่สุดยอดมาก"
นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ตกเป็นที่จับตามองจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ด้วย "สีสัน" อันงดงามพร้อมเสน่ห์ในแบบจีนและวัฒนธรรมเสฉวนทำให้ผู้คนจากประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกหลงใหล
A foreign athlete learns how to make a kite at the Interactive Experience Centre of the Chengdu FISU Games Village.
ระหว่างการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก "การไปทานหม้อไฟหลังการแข่งขัน" เป็นกิจกรรมแห่งความสุขยอดนิยมในหมู่นักกีฬาหนุ่มสาวจากทั่วโลก ฮุ่ย หลิง แทมมี่ ตัน (Hui Ling Tammy Tan) จากมาเลเซีย เผยความรักที่เธอมีต่ออาหารจานเด็ดของเสฉวน "ฉันชอบหม้อไฟ เช่นเดียวกับความหลงใหลของชาวเฉิงตู"
แพนด้ายักษ์ ซึ่งเป็นสุดยอดสัญลักษณ์ของจีน เป็นตัวแทนของความอ่อนโยน รักสงบ แต่กล้าหาญ สะท้อนถึงความเปิดกว้างและโอบรับความหลากหลาย หลอมรวมความแข็งแกร่งเข้ากับความสง่างามในแบบที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม "ผมโชคดีมากที่ได้มาเห็นแพนด้ายักษ์ตัวจริงด้วยตาของผมเอง พวกมันน่ารักสุด ๆ" พาเวล ชบีบาล (Pavel Schbjbal) นักกีฬายิงปืนชาวเช็กกล่าว แพนด้ายักษ์เป็นสิ่งที่น่าทึ่งและน่าจดจำที่สุดในการเยือนเฉิงตูของเขาจนเขาไม่ได้พูดถึงเหรียญรางวัลที่คว้ามาครองเลยด้วยซ้ำ โดยในบรรดาเส้นทาง "พักผ่อนในเฉิงตู" ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเมือง 11 เส้นทาง ที่ออกแบบโดยแผนกบริการงานในเมืองของคณะกรรมการบริหารการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกนั้น เส้นทางสู่ฐานแพนด้ายักษ์มีคนดูเต็มเกือบตลอดเวลา
"นักกีฬาจากทุกประเทศ (และภูมิภาค) พยายามเต็มที่ในสนามและส่งเสริมการพูดคุยแลกเปลี่ยนนอกสนาม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องราวเหล่านี้ที่ถูกนำกลับไปบอกต่อจะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักนครเฉิงตูและเข้าใจประเทศจีนได้ดีขึ้น นั่นคือความมหัศจรรย์ของกีฬามหาวิทยาลัยโลก" ลีออนซ์ เอเดอร์ (Leonz Eder) รักษาการประธานสหพันธ์กีฬามหาวิทยาลัยโลก กล่าวในการให้สัมภาษณ์