แกลนด์, สวิตเซอร์แลนด์--16 ต.ค. 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
หัวเว่ย (Huawei) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางกลยุทธ์ เพื่อเปิดตัวโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ (Tech4Nature) ในเฟส 2
โครงการเทคฟอร์เนเจอร์เป็นไปตามโครงการเทคฟอร์ออล (TECH4ALL) ของหัวเว่ย และมาตรฐานบัญชีสีเขียวไอยูซีเอ็น (IUCN Green List) โดยเปิดตัวไปในปี 2563 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่หัวเว่ยและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ผนึกกำลังที่ครอบคลุมภาคส่วนไอซีทีและการอนุรักษ์ธรรมชาติ
ผลลัพธ์สำคัญของเฟส 2 นั้นจะอยู่ที่การอำนวยความสะดวก ในการยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งสองภาคส่วน
"เทคโนโลยีช่วยให้เราเชื่อมช่องว่างระหว่างวิทยาศาสตร์กับการลงมือทำได้" ดร. เกรเทล อากีลาร์ (Grethel Aguilar) รักษาการผู้อำนวยการใหญ่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าว "นักอนุรักษ์สามารถงัดใช้พลังของบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อวิเคราะห์ชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลและแนวโน้มทางนิเวศวิทยาได้ ข้อมูลอันล้ำค่านี้จะช่วยสำรวจหาและปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญ เป็นแนวทางให้กับความพยายามของเรา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อปกป้องสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามได้"
เฟส 2 จะขยายผลกระทบจากโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ไปทั่วโลก พร้อมยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่คุ้มครองและอนุรักษ์ให้มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและหัวเว่ยจะร่วมกันพัฒนาโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยีสำหรับโครงการนำร่องต่าง ๆ ในอย่างน้อย 5 ประเทศ รวมถึงบราซิล เคนยา ตุรกี เม็กซิโก และจีน
โครงการเทคฟอร์เนเจอร์ยังจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย 30x30 ตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Global Biodiversity Framework หรือ GBF) คุนหมิง-มอนทรีออล ซึ่งเรียกร้องให้สร้างพื้นที่คุ้มครองและใช้มาตรการอนุรักษ์ตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองพื้นที่ทางบกและทางทะเลให้ได้ 30% ทั่วโลก ทางพันธมิตรวางแผนที่จะสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกนี้ โดยแบ่งปันความรู้และเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมถึงการสนับสนุนแพลตฟอร์มความรู้ออนไลน์อย่างโกลบอล สปีชีส์ แอ็กชัน แพลน (Global Species Action Plan หรือ GSAP) ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ความรู้ต่าง ๆ
"เราเชื่อว่าโครงการริเริ่มเทคฟอร์เนเจอร์จะเข้ามาสานต่อความสำเร็จในเฟสแรก และขยายผลกระทบไปทั่วโลก" เผิง ซ่ง (Peng Song) รองประธานอาวุโสของหัวเว่ย และประธานฝ่ายกลยุทธ์และการตลาดธุรกิจไอซีที กล่าวระหว่างพิธีลงนามเปิดตัวเฟส 2 "นอกจากนี้เรายังเชื่อว่าโครงการริเริ่มเทคฟอร์เนเจอร์จะมีพันธมิตรเข้าร่วมมากขึ้น พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัล และมีส่วนร่วมในการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน"
เพื่อเป็นการเปิดฉากเฟส 2 ของความร่วมมือนี้ ได้มีการเปิดตัวรายงานเทคฟอร์เนเจอร์ อะ พาร์ทเนอร์ชิป ฟอร์ อาวร์ แพลเน็ต (Tech4Nature - A Partnership for Our Planet) ซึ่งรวบรวมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้จากความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติในเฟสแรก ซึ่งนำร่องการใช้นวัตกรรมไอซีทีในการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครอง 5 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำในการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้พื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ บรรลุมาตรฐานบัญชีเขียวขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมชูบทบาทของเทคโนโลยีในการนำกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกไปใช้