ปักกิ่ง--16 พฤศจิกายน 2566--พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2566 ได้เปิดฉากขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยทั่วโลกต่างจับตาการพบกันระหว่างผู้นำจีนและผู้นำสหรัฐอเมริกาในการประชุมครั้งนี้
บรรดาเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ รวมถึงสหรัฐอเมริกาเอง ต่างเห็นพ้องกันว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอเมริกาที่เป็นไปในทิศทางบวกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน และการหารือระดับทวิภาคีก็มีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งบรรยากาศและโอกาสอันดีสำหรับทั่วโลก
การพบกันของสีจิ้นผิง-ไบเดน มีแนวโน้มสร้าง "บรรยากาศที่เป็นบวกอย่างยิ่ง"
คุณรีเบกกา ฟาติมา สตา มาเรีย (Rebecca Fatima Sta Maria) กรรมการบริหารของสำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) กล่าวว่า "การที่ผู้นำจากสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกมาที่นี่เพื่อหารือในประเด็นที่สำคัญยิ่งในเวลานี้ ถือเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสอื่น ๆ สำหรับทั่วโลกอย่างแท้จริง"
"ความเคลื่อนไหวนี้สร้างบรรยากาศที่เป็นบวกอย่างยิ่งสำหรับช่วงสิ้นปี อันเป็นรอยต่อของการเริ่มต้นศักราชใหม่ในปีหน้า"
คุณมาเรียกล่าวเสริมด้วยว่า นานาประเทศควรคำนึงถึงผลประโยชน์ในภาพรวมมากขึ้น ซึ่งสามารถกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากมิติที่กว้างขึ้นได้
คุณโรแบร์โต อาเซเวโด (Roberto Azevedo) อดีตผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น (CGTN) โดยแสดงความคาดหวังว่า สหรัฐอเมริกาและจีนจะสามารถหาหนทางเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันผ่านการพบกันครั้งนี้ เนื่องจากบรรยากาศระหว่างสองมหาอำนาจที่มีทิศทางเป็นบวกมากขึ้นถือเป็น "พื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้โลกรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และรู้สึกว่าเรากำลังมาถูกทางแล้ว"
เขาแนะนำว่าทั้งสองฝ่ายควรเปิดใจพูดคุยกัน และยอมรับฟังสิ่งที่แต่ละฝ่ายอาจไม่ต้องการได้ยิน
คุณคีตา โฆปินาถ (Gita Gopinath) รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็นว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ในการทำงานที่ดี ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับจีนและสหรัฐอเมริกา รวมถึงกับเศรษฐกิจโลกด้วย พร้อมกับระบุว่า "จะต้องมีวิธีที่ทั้งสองประเทศสามารถทำงานร่วมกันได้"
คุณสตีเวน ฉู่ (Steven Chu) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็นว่า "การแบ่งขั้ว" ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเป็น "ความคิดที่ไม่ดี" พร้อมเสริมด้วยว่าหากทำเช่นนั้น ความไว้วางใจระหว่างกันที่มีอยู่น้อยนิดก็จะเลือนหายไป
นอกจากนี้ เนื่องจากจีนเป็นผู้เล่นรายสำคัญและเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ฉะนั้น สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป จำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์
จุดเริ่มต้นใหม่สำหรับการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน
วงดนตรี ฟิลาเดลเฟีย ออร์เคสตรา (Philadelphia Orchestra) ได้กลับมาเยือนแผ่นดินจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี หลังจากที่เคยสร้างทริปประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2516 ในฐานะวงออร์เคสตราสัญชาติอเมริกันวงแรกที่มาเปิดการแสดงในจีน
ในระหว่างวันที่ 9-18 พฤศจิกายน ฟิลาเดลเฟีย ออร์เคสตรา ได้จัดแสดงคอนเสิร์ตพร้อมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในย่านที่อยู่อาศัยของปักกิ่ง เทียนจิน ซูโจว และเซี่ยงไฮ้
ในการสัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็น คุณทริสตัน ไรส์-เชอร์แมน (Tristan Rais-Sherman) ผู้ช่วยวาทยกรของฟิลาเดลเฟีย ออร์เคสตรา กล่าวว่า "เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เฉลิมฉลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้"
ขณะเดียวกัน เขาแสดงความหวังว่าการมาเยือนครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และวงออร์เคสตราสัญชาติอเมริกันวงอื่น ๆ จะได้กลับมาบรรเลงดนตรีขับกล่อมชาวจีนสืบต่อไป
หลังจบคอนเสิร์ตในกรุงปักกิ่ง คุณนิโคลัส เบิร์นส์ (Nicholas Burns) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีน ได้กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีจีทีเอ็นว่า ดนตรีช่วยประสานให้สองประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน "ย้อนกลับไปเมื่อปี 2516 วงออร์เคสตราได้มาที่เมืองจีน และรวมสองประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกัน บัดนี้ เรากำลังอยู่ในอีกห้วงเวลาหนึ่งซึ่งทั้งสองประเทศกำลังสานสัมพันธ์กันอีกครั้ง รวมถึงผู้นำของเรา รัฐบาลของเรา และประชาชนของเราด้วยเช่นกัน"
นอกจากนี้ เที่ยวบินตรงระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกายังกลับมาให้บริการมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศมากขึ้น
ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคครั้งนี้ พร้อมที่จะดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกด้วยความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเห็นได้จากย่านไชน่าทาวน์อันเก่าแก่ และข้อเท็จจริงที่ว่าผู้อยู่อาศัยถึง 1 ใน 3 ของนครแห่งนี้มีเชื้อสายเอเชียหรือประเทศเกาะแปซิฟิก
คุณลอนดอน บรีด (London Breed) นายกเทศมนตรีคนที่ 45 ของซานฟรานซิสโก กล่าวว่า นครแห่งนี้เป็นประตูสู่เอเชียแปซิฟิก โดยซานฟรานซิสโกตั้งตารอที่จะสร้างสะพานและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วยความเต็มใจ
คุณบรีดยังรับประกันด้วยว่า โคมไฟที่แขวนอยู่ตามย่านไชน่าทาวน์ของซานฟรานซิสโกตลอดทั้งปีจะ "ส่องสว่างยิ่งกว่าที่เคยในช่วงการประชุมเอเปค"