เจดดาห์, ซาอุดีอาระเบีย, 6 กุมภาพันธ์ 2567 /PRNewswire/ -- โครงการเขตประวัติศาสตร์เจดดาห์ (Jeddah Historic District Program) ร่วมกับ คณะกรรมการมรดกชาติ (Heritage Commission) ประกาศค้นพบชิ้นส่วนสิ่งประดิษฐ์จำนวน 25,000 ชิ้น ซึ่งชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุตั้งแต่สองศตวรรษแรกของฮิจเราะห์ศักราช (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8) งานภาคสนามได้ดำเนินการในสถานที่ 4 แห่ง: มัสยิดโอธมาน บิน อัฟฟาน (Othman bin Affan Mosque - ขออัลลอฮ์ทรงเมตตา), อัล-โชนา (Al-Shona), คูเมืองฝั่งตะวันออก (Eastern Moat) และส่วนหนึ่งของกำแพงทางตอนเหนือ (Northern Wall) ภายใต้กรอบของโครงการโบราณคดี (Archeology Project) ซึ่งอยู่ในความดูแลของโครงการเขตประวัติศาสตร์เจดดาห์
การประกาศการค้นพบทางโบราณคดีครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในโครงการฟื้นฟูประวัติศาสตร์เจดดาห์ ซึ่งริเริ่มโดยมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ (Mohammed bin Salman bin Abdulaziz) โครงการโบราณคดีดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะอนุรักษ์โบราณวัตถุและแหล่งโบราณคดีของชาติ เปิดเผยประวัติศาสตร์ที่ฝังอยู่ในดินแดนของราชอาณาจักร และสนับสนุนเมืองเจดดาห์ในฐานะศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อบรรลุนโยบายปฎิรูปประเทศ Saudi Vision (2030)
การสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2563 พบเศษเครื่องปั้นดินเผา 11,405 ชิ้น หนัก 293 กก. กระดูกสัตว์ 11,360 ชิ้น หนัก 107 กก. เปลือกหอย 1,730 ชิ้น หนัก 32 กก. นอกจากนี้ ยังพบวัสดุก่อสร้าง 685 ชิ้นซึ่งมีน้ำหนัก 87 กก. รวมถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากแก้ว 187 ชิ้นซึ่งมีน้ำหนัก 5 กก. และสิ่งประดิษฐ์โลหะ 71 ชิ้น หนัก 7 กก. โดยน้ำหนักรวมของวัตถุทางโบราณคดีที่พบคือ 531 กก. ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการค้นพบทางโบราณคดีของซาอุดีอาระเบีย
การสำรวจทางโบราณคดีในมัสยิดโอธมาน บิน อัฟฟาน - ขออัลลอฮ์ทรงเมตตา - เผยให้เห็นการค้นพบทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสองศตวรรษแรกของฮิจเราะห์ศักราช (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8) ผ่านยุคอิสลามตอนต้น, ยุคอุมัยยะฮ์, ยุคอับบาซียะห์ ต่อด้วยยุคมัมลูก และเข้าสู่ยุคปัจจุบัน (กล่าวคือ ต้นศตวรรษที่ 15 ของฮิจเราะห์ศักราช / คริสต์ศตวรรษที่ 21) นอกจากนี้ การตรวจสอบซึ่งดำเนินการกับเสาไม้มะเกลือที่พบบริเวณด้านข้างของเมียะห์รอบ (Mihrab) โพรงในกำแพงของมัสยิดซึ่งหันไปทางนครมักกะฮ์ เผยให้เห็นว่าเสาไม้เหล่านี้น่าจะมีอายุย้อนกลับไปในช่วงสองศตวรรษแรกของฮิจเราะห์ศักราช (คริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8) โดยแหล่งกำเนิดของไม้มะเกลือได้รับการระบุว่ามาจากเกาะซีลอนในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงทางการค้าอันกว้างขวางของประวัติศาสตร์เจดดาห์
นอกจากนี้ ชิ้นส่วนของสิ่งประดิษฐ์ที่ค้นพบในมัสยิดโอธมาน บิน อัฟฟาน ยังมีภาชนะเซรามิกหลากหลายชิ้น ไปจนถึงชิ้นส่วนเครื่องลายครามคุณภาพสูง ซึ่งในจำนวนนี้มีบางชิ้นที่ผลิตในมณฑลเจียงซีของจีน ซึ่งอาจมีอายุย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 10 และ 13 ของฮิจเราะห์ศักราช (คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19) เช่นเดียวกับเศษเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่บางชิ้นที่มีอายุย้อนกลับไปถึงยุคอับบาซียะห์
ในขณะที่อัล-โชนามีอายุย้อนกลับไปอย่างน้อยถึงศตวรรษที่ 13 ของฮิจเราะห์ศักราช (คริสต์ศตวรรษที่ 19) โดยมีข้อบ่งชี้ของซากทางโบราณคดีที่อาจเก่าแก่เท่ากับศตวรรษที่ 10 ของฮิจเราะห์ศักราช (คริสต์ศตวรรษที่ 16) พบเศษเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากในบริเวณนี้ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องลายครามและเซรามิกอื่น ๆ จากยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่ 13 และ 14 ของฮิจเราะห์ศักราช (คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง 20)
ยิ่งไปกว่านั้น การขุดค้นที่อัล-คิดวาห์ (Al-Kidwah) หรือ "บับมักกะฮ์" – ประตูมักกะฮ์ ("Bab Makkah" - Makkah gate) เผยให้เห็นบางส่วนของคูเมืองฝั่งตะวันออกซึ่งน่าจะมีอายุย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ของฮิจเราะห์ศักราช (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18)
มีการพบศิลาหน้าหลุมฝังศพจากหินแมงกาโนแคลไซต์ (Mangabi), หินอ่อน และหินแกรนิต ณ สถานที่ต่าง ๆ ในเขตประวัติศาสตร์เจดดาห์ ซึ่งมีชื่อ ข้อความรำลึก และโองการต่าง ๆ ของอัลกุรอานจารึกไว้ โดยน่าจะมีอายุย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 2 และ 3 ของฮิจเราะห์ศักราช (คริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9) และยังอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญ
การศึกษาทางโบราณคดีของโบราณสถานทั้งสี่แห่ง ประกอบด้วย การขุดค้น การวิเคราะห์คาร์บอนกัมมันตรังสี การวิเคราะห์ดิน การสำรวจธรณีฟิสิกส์ และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ค้นพบ นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตัวอย่างไม้มากกว่า 250 ตัวอย่างจากอาคาร 52 หลังและย้ายไปศึกษาในห้องปฏิบัติการเฉพาะทางระหว่างประเทศเพื่อระบุแหล่งที่มาและอายุขัย ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยเอกสารสำคัญระดับนานาชาติยังส่งผลให้มีการรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์มากกว่า 984 รายการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เจดดาห์ อันได้แก่ แผนที่ทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ รวมถึงภาพวาดของกำแพงเมืองเจดดาห์ (Jeddah City Wall), อัล-โชนา และส่วนอื่น ๆ ของสถานที่ทางประวัติศาสตร์เจดดาห์ (Historic Jeddah) ซึ่งได้รับการศึกษาอย่างละเอียดและจริงจัง
โครงการเขตประวัติศาสตร์เจดดาห์ ร่วมกับ คณะกรรมการมรดกชาติ ดูแลการจัดทำเอกสาร การลงทะเบียน และการอนุรักษ์วัตถุทางโบราณคดีซึ่งค้นพบในสถานที่ทางประวัติศาสตร์เจดดาห์ และลงรายการการค้นพบไว้ในทะเบียนโบราณคดีแห่งชาติ (National Archaeological Register) นอกจากนี้ ยังมีการสร้างฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อป้องกันและรักษารายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ค้นพบ ทั้งนี้ เอกสารทางโบราณคดีและภาพถ่ายสำหรับจัดเก็บในจดหมายเหตุนั้น ดำเนินการโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับชาติซึ่งชำนาญด้านการอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนชิ้นส่วนทางโบราณคดี
การดำเนินงานของโครงการประวัติศาสตร์เจดดาห์เริ่มต้นในเดือนที่ห้าของปฏิทินอิสลาม หรือ ญุมาดะ อัลเอาวัล (Jumada Al-Awwal) ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม 2563 โดยมีการเตรียมงานด้านการศึกษาเชิงสำรวจและการสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อเปิดเผยประวัติศาสตร์ที่ฝังอยู่ในสถานที่ทั้งสี่แห่ง ได้แก่ มัสยิดโอธมาน บิน อัฟฟาน, อัล-โชนา, ส่วนหนึ่งของกำแพงทางตอนเหนือ และอัล-คิดวาห์
ลิงก์รูปภาพที่แนบมา
https://www.dropbox.com/scl/fo/qvtnekex0tee6izeu76vc/h?rlkey=2tg2710nmee4hchlecezq2fiq&dl=0
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2333785/JHD_Ebony_pillar.jpg?p=medium600
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2333786/Historic_Jeddah.jpg?p=medium600
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2333787/JHD_Chinese_ceramic.jpg?p=medium600
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2333789/JHD_Iron.jpg?p=medium600
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2333790/JHD_Incense_burner.jpg?p=medium600
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2333791/al_Shona.jpg?p=medium600