omniture

อ็อคตาฟาร์มา นำเสนอการสานต่อความมุ่งมั่นที่จะยกระดับชีวิตผู้มีภาวะเลือดออกผิดปกติที่หายาก ในงาน ISTH ประจำปี 2567

Octapharma AG
2024-06-11 05:03 43
  • อ็อคตาฟาร์มา (Octapharma) เตรียมนำเสนอข้อค้นพบใหม่ทางคลินิกและทางวิทยาศาสตร์สำหรับ wilate® และ Nuwiq® ในงานประชุม ISTH ประจำปี 2567 ที่กำลังจะจัดขึ้น
  • ข้อมูลใหม่และการพัฒนาจากการศึกษาวิจัยทางคลินิกจะนำเสนอในเจ็ดการบรรยาย สองโปสเตอร์ภาคนิทัศน์ และการประชุมวิชาการย่อยสองกลุ่ม

ลาเคิน สวิตเซอร์แลนด์, 10 มิถุนายน 2567 /PRNewswire/ -- การพัฒนาล่าสุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหิตวิทยาของอ็อคตาฟาร์มา (Octapharma) จะนำเสนอในการประชุมสมาคมนานาชาติว่าด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (Congress of the International Society on Thrombosis and Haemostasis หรือ ISTH) ครั้งที่ 32 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายน 2567 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยข้อมูลจะนำเสนอในเจ็ดการบรรยาย สองโปสเตอร์ภาคนิทัศน์ และการประชุมวิชาการย่อย (Supported Symposia) สองกลุ่มระหว่างการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญนี้ ทั้งนี้ อ็อคตาฟาร์มาภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้สนับสนุนระดับเงิน (Silver Supporter) ของการประชุม ISTH ประจำปี 2567 อีกทั้งยังจะจัดแสดงโซลูชันสมัยใหม่สำหรับการจัดการกับภาวะเลือดออกเฉียบพลันและการแข็งตัวของเลือดในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตและผู้ป่วยหนัก

ภาวะเลือดออกผิดปกติ อย่างเช่น โรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก ชนิดเอ (hemophilia A) และโรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand disease หรือ VWD) มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกซ้ำและยาวนาน ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ยังก่อผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของผู้ป่วย

การนำเสนอในงาน ISTH ประจำปี 2567 สะท้อนพันธกิจระยะยาวของอ็อคตาฟาร์มาที่จะยกระดับการดูแลผู้ป่วย และจัดการกับความต้องการทางคลินิกที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

"อ็อคตาฟาร์มาตื่นเต้นที่จะได้นำเสนอข้อค้นพบและผลการศึกษาล่าสุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหิตวิทยาและการดูแลผู้ป่วยวิกฤตในงาน ISTH ประจำปี 2567" คุณ Olaf Walter สมาชิกคณะกรรมการของอ็อคตาฟาร์มา กล่าว "ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติและการแข็งตัวของเลือดผิดปกติยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมายในการดูแลประจำวันและการจัดการกับภาวะเลือดออก ในแง่นี้ ที่อ็อคตาฟาร์มา เรายังคงมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อการวิจัยระดับแนวหน้าที่จะยกระดับชีวิตผู้ป่วย"

การบรรยายนำเสนอ

แม้ว่าการป้องกันโรค (prophylaxis) จะเป็นการดูแลมาตรฐานสำหรับโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอขั้นรุนแรง แต่ก็ยังมีการใช้น้อยเกินไปในโรควอนวิลลิแบรนด์ ในแง่นี้ WIL-31 ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการป้องกันโรคในโรค VWD แสดงความปลอดภัยและประสิทธิศักย์ของการป้องกันโรคด้วยวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์และแฟคเตอร์แปด (factor VIII) เข้มข้นจากพลาสมา (wilate®) ในผู้ป่วยโรค VWD ในการนี้ หัวหน้าคณะวิจัย Dr Robert F. Sidonio Jr. จะนำเสนอการวิเคราะห์ย่อยของข้อมูลจากการศึกษาซึ่งสำรวจความแตกต่างในบริเวณที่มีเลือดออกในโรค VWD ทุกชนิดและทุกกลุ่มอายุ โดยการป้องกันโรคมีการทนต่อผลข้างเคียงได้ดีในทุกกลุ่มอายุในผู้ป่วยโรค VWD ชนิด 3 ทั้ง 22 รายซึ่งรวมอยู่ประชากรการวิเคราะห์

MOTIVATE เป็นการศึกษาวิจัยระดับนานาชาติซึ่งริเริ่มโดยผู้วิจัย ที่กำลังดำเนินอยู่โดยได้รับการสนับสนุนจากอ็อคตาฟาร์มา เอจี (Octapharma AG) เพื่อประเมินการจัดการกับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอที่มีสารต้าน ในการนี้ Dr Carmen Escuriola-Ettingshausen หนึ่งในผู้วิจัยประสานงานของการศึกษาครั้งนี้ จะนำเสนอการวิเคราะห์ผลก่อนสิ้นสุดของการศึกษา

ภาวะข้อเสื่อมจากฮีโมฟีเลียเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอ และการวินิจฉัยพบแต่เนิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการลดผลกระทบระยะยาว การศึกษาเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ได้ระบุลักษณะเฉพาะของไมโครอาร์เอ็นเอ (microRNAs) ที่ไม่มีการแปลรหัสขนาดเล็กที่ไหลเวียนอยู่หลายตัว ซึ่งอาจสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะข้อเสื่อมจากฮีโมฟีเลีย งานในอนาคตจะสำรวจไมโครอาร์เอ็นเอที่เกี่ยวข้องกับระยะแรกเริ่มของภาวะดังกล่าวนี้ในการศึกษาย่อยของการทดลองทางคลินิก PROVE

มีการสังเกตพบการทำงานของเนื้อเยื่อบุโพรงหลอดเลือดขนาดเล็กที่เปลี่ยนแปลงไปในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอ โดยมีการสังเกตพบทิวบูโลเจเนซิส (tubulogenesis) บกพร่อง ซึ่งคือการเคลื่อนที่และสภาวะการซึมผ่านได้ของเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงหลอดเลือดจากผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอ เมื่อเทียบกับจากผู้ป่วยที่มีสุขภาพดี ข้อมูลใหม่จะนำเสนอโดยแสดงว่า Nuwiq® สามารถจับตัวเข้ากับพื้นผิวเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงหลอดเลือด เพื่อทำให้ทำงานได้ดีขึ้น

แฟคเตอร์แปดมีปฏิกิริยาทางกายภาพกับเกล็ดเลือดหลังเกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือดเพื่อให้การก่อตัวของลิ่มเลือดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การดัดแปลงแฟคเตอร์แปดที่แตกต่างกันอาจส่งผลกระทบต่อการจับตัวกับเกล็ดเลือดและการถ่ายโอนสัญญาณภายในเซลล์ ข้อมูลจะนำเสนอโดยชี้ว่า Nuwiq® แสดงการจับตัวกับเกล็ดเลือดที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์เทียบเคียง และความแตกต่างเหล่านี้ในการจับตัวกับเกล็ดเลือดอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิศักย์ของผลิตภัณฑ์แฟคเตอร์แปดสายผสม (rFVIII) ในการรักษาโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอ

การบรรยายนำเสนอมีกำหนดการตามเวลาดังต่อไปนี้

วันอาทิตย์ ที่ 23 มิถุนายน

•  OC 27.5: ผลกระทบของความแตกต่างในการจับกันของแฟคเตอร์แปดสายผสมเข้มข้นกับเกล็ดเลือด ต่อการทำงานของการแข็งตัวของเกล็ดเลือด (Impact of differential binding of recombinant factor VIII concentrates to platelets on platelet clotting functionality.)
ผู้นิพนธ์ผู้นำเสนอ: Viola Vogel 15:45–16:00 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้อง 210 A-D

วันจันทร์ ที่ 24 มิถุนายน

•  OC 35.1: แฟคเตอร์แปดกำกับโปรตีนเคลือบเซลล์เพื่อกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่และความคงตัวของหลอดเลือด (Factor VIII regulates extracellular matrix proteins to stimulate angiogenesis and vessel stability.)
ผู้นิพนธ์ผู้นำเสนอ: Alessia Cucci 9:30–9:45 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้อง 110 A-C

•  OC 36.4: แบบแผนการแสดงออกของไมโครอาร์เอ็นเอมีศักยภาพเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของสุขภาพข้อต่อและกระดูกในโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอ (miRNA expression profiles as a potential biomarker of joint and bone health in haemophilia A.)
ผู้นิพนธ์ผู้นำเสนอ: Yesim Dargaud 10:15–10:30 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้อง 111 A-C

•  OC 36.5: แฟคเตอร์แปดเป็นตัวกำกับการสร้างหลอดเลือดใหม่และตัวส่งเสริมความคงตัวของตัวกั้นผนังหลอดเลือด (Factor VIII is a regulator of angiogenesis and a promoter of endothelial barrier stability.)
ผู้นิพนธ์ผู้นำเสนอ: Antonia Follenzi 10:30–10:45 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้อง 111 A-C

วันอังคาร ที่ 25 มิถุนายน

•  OC 63.4: บริเวณที่เลือดออกในผู้ป่วยโรควอนวิลลิแบรนด์กับการป้องกันโรคด้วยวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์และแฟคเตอร์แปด (factor VIII) เข้มข้นที่ได้จากพลาสมา – การวิเคราะห์ย่อยกับข้อมูลจากการศึกษาวิจัย WIL-31 (Bleeding Sites in von Willebrand Disease Patients on Prophylaxis with a Plasma-derived von Willebrand Factor/Factor VIII Concentrate – A Sub-Analysis of Data from the WIL-31 Study.)
ผู้นิพนธ์ผู้นำเสนอ: Robert F Sidonio Jr. 15:30–15:45 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้อง Ballroom B3

•  OC 61.4: กลยุทธ์ Immune tolerance induction (ITI) ในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอที่มีสารต้าน – การวิเคราะห์ก่อนสิ้นสุดจากการศึกษาวิจัย MOTIVATE (Immune tolerance induction (ITI) strategies in haemophilia A patients with inhibitors – Interim analysis from the MOTIVATE study.)
ผู้นิพนธ์ผู้นำเสนอ: Carmen Escuriola-Ettingshausen. 15:45–16:00 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้อง Ballroom B1

วันพุธ ที่ 26 มิถุนายน

•  OC 73.5: ประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการป้องกันโรคด้วยวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์และแฟคเตอร์แปดเข้มข้นในผู้ป่วยโรควอนวิลลิแบรนด์ชนิด 3 – การวิเคราะห์ย่อยกับข้อมูลจากการศึกษาวิจัย WIL-31 (Efficacy and Safety of Prophylaxis with a Plasma-derived von Willebrand Factor/Factor VIII Concentrate in Type 3 Patients with von Willebrand Disease – A Sub-Analysis of Data from the WIL-31 Study.)
ผู้นิพนธ์ผู้นำเสนอ: Robert F Sidonio Jr. 11:15–11:30 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้อง Ballroom B4

การนำเสนอโปสเตอร์ภาคนิทัศน์

การนำเสนอโปสเตอร์ภาคนิทัศน์มีกำหนดการตามเวลาดังต่อไปนี้

วันอาทิตย์ ที่ 23 มิถุนายน

•  PB 0251 - การเปรียบเทียบโดยอ้อมสำหรับประสิทธิศักย์ของการป้องกันโรคระหว่าง simoctocog alfa กับ efanesoctocog alfa ในโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอและราคาในสหรัฐอเมริกา (Indirect comparison of prophylaxis efficacy between simoctocog alfa and efanesoctocog alfa in severe hemophilia A and their cost in the United States.)
ผู้นิพนธ์ผู้นำเสนอ: Craig M. Kessler. 13:45–14:45 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้องโถงนิทรรศการ (Exhibition Hall)

วันอังคาร ที่ 25 มิถุนายน

•  PB 1102 - สารประกอบเชิงซ้อนโควาเลนต์ของแฟคเตอร์แปดในการแข็งตัวของเลือดและชิ้นส่วนวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์แสดงความคงตัวและครึ่งชีวิตที่เพิ่มขึ้นในแบบจำลองสัตว์และรักษาการทำงานของแฟคเตอร์ (Covalently linked complexes of coagulation factor VIII and von Willebrand factor fragment display increased stability and half-life in animal models and retain their function.)
ผู้นิพนธ์ผู้นำเสนอ: Barbara Solecka-Witulska. 13:45–14:45 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้องโถงนิทรรศการ (Exhibition Hall)

การประชุมวิชาการย่อย

การประชุมวิชาการย่อยสองกลุ่มในงานประชุมครั้งนี้จะเผยแพร่ข้อมูลทางคลินิกและทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยที่ดำเนินอยู่และการศึกษาวิจัยใหม่เกี่ยวกับโรคฮีโมฟีเลียเอและโรควอนวิลลิแบรนด์

•  รู้ความก้าวหน้าของวันพรุ่งนี้ในวันนี้ – การค้นพบครั้งสำคัญในการป้องกันเลือดออกแบบรอบด้าน (Learn About Tomorrow's Advances Today – Breakthrough in All-Round Bleed Protection)  วันอาทิตย์ 23 มิถุนายน 12:15–13:30 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้อง 208
ประธาน: Guy Young โรงพยาบาลเด็กลอสแอนเจลิส (Children's Hospital Los Angeles) และโรงเรียนแพทย์เค็ก (Keck School of Medicine) ลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

การประชุมวิชาการของอ็อคตาฟาร์มาเกี่ยวกับโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอปีนี้มุ่งเน้นงานวิจัยที่ก้าวหน้าล้ำสมัยซึ่งให้ความสำคัญกับการป้องกันเลือดออก โดยวิทยากรจะนำเสนอผลลัพธ์แรกจากการวิเคราะห์ก่อนสิ้นสุดของการศึกษาวิจัย MOTIVATE และแนะนำการศึกษาวิจัย PROVE ซึ่งสำรวจสุขภาพกระดูกและข้อต่อ การประชุมวิชาการนี้ยังจะสำรวจบทบาทสำคัญของการจับตัวของแฟคเตอร์แปดกับเกล็ดเลือดและเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงหลอดเลือดในโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอ

•  ยกระดับมุมมองเชิงลึกว่าด้วยการป้องกันโรคในโรควอนวิลลิแบรนด์ – คุณตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยอยู่หรือไม่? (Next Level Insights on Prophylaxis in von Willebrand Disease – Are You Addressing Your Patient's Needs?) วันจันทร์ 24 มิถุนายน 12:15–13:30 เขตเวลาอินโดจีน (ICT) ห้อง 210
ประธาน: Craig Kessler ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University Medical Center) วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา

การประชุมวิชาการนี้จะสำรวจบทบาทสำคัญของการป้องกันโรคในโรควอนวิลลิแบรนด์ขั้นรุนแรง หัวข้อที่นำเสนอจะประกอบด้วยความสำคัญของการป้องกันโรคและวิธีการระบุผู้ป่วยที่อาจได้รับประโยชน์จากการรักษาเชิงป้องกัน จะมีการนำเสนอบทเรียนสำคัญจากการศึกษาวิจัย WIL-31 ว่าด้วยการป้องกันโรคในโรค VWD ตลอดจนบทบาทสำคัญของการป้องกันโรคในการจัดการกับภาวะประจำเดือนออกมากผิดปกติในสตรีที่เป็นโรค VWD นอกจากนี้ยังจะมีการอภิปรายเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ อีกทั้งจะมีการแนะนำการศึกษาวิจัย VIP และ EMPOWER

การประชุมวิชาการทั้งสองกลุ่มนี้จะเปิดให้เข้าร่วมโดยผู้เข้าร่วมงานประชุมในกรุงเทพฯ และจะถ่ายทอดสดสำหรับผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้มายังงานประชุมโดยตรง โดยจะเปิดโอกาสให้ถามคำถามสำหรับการประชุมวิชาการทั้งสองกลุ่ม

ในการนี้ คุณ Larisa Belyanskaya รองประธานอาวุโสและหัวหน้าแผนกธุรกิจโลหิตวิทยาระหว่างประเทศของอ็อคตาฟาร์มา กล่าวแสดงความเห็นว่า

"เราตื่นเต้นที่ได้นำเสนอมุมมองเชิงลึกใหม่ ๆ จากข้อมูลการศึกษาวิจัย WIL-31 และจะสำรวจความสำคัญของการป้องกันโรคสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่จำเพาะในเชิงลึก ตลอดจนอภิปรายคำถามทางคลินิกและทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรควอนวิลลิแบรนด์และฮีโมฟีเลียชนิดเอ"

เกี่ยวกับ Nuwiq®

Nuwiq® (simoctocog alfa) เป็นโปรตีนแฟคเตอร์แปดสายผสม (recombinant factor VIII หรือ rFVIII) รุ่นที่ 4 ผลิตขึ้นในเซลล์ไลน์มนุษย์โดยไม่มีการดัดแปลงทางเคมีหรือเชื่อมเข้ากับโปรตีนอื่น[1] เพาะเลี้ยงโดยไม่ได้เติมสารที่ได้มาจากมนุษย์หรือสัตว์เข้าไป ไม่มีเอพิโทปโปรตีนที่ไม่ได้มาจากมนุษย์ในลักษณะที่กระตุ้นการสร้างแอนติบอดี และมีความใกล้เคียงสูงกับวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์ (Willebrand factor)[1]

การรักษาด้วย Nuwiq® ได้รับการประเมินทางคลินิกจนเสร็จสิ้นไปแล้ว 9 ครั้ง[1,2,3] ซึ่งประกอบด้วยผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดเออาการรุนแรงที่เคยได้รับการรักษาแล้ว 201 ราย (190 คน)[1] และผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการรักษา 108 ราย[2] Nuwiq® มีวางจำหน่ายในขนาด 250 IU, 500 IU, 1000 IU, 2000 IU, 2500 IU, 3000 IU และ 4000 IU[4] Nuwiq® ได้รับการอนุมัติสำหรับใช้รักษาและป้องกันอาการเลือดออกในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอ (ขาดแฟคเตอร์แปดตั้งแต่กำเนิด) ในทุกกลุ่มอายุ[4]

เกี่ยวกับ wilate®

wilate® เป็นวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์ (VWF) และแฟคเตอร์ แปด (FVIII) เข้มข้นความบริสุทธิ์สูงที่มาจากมนุษย์ โดยผ่านการทำลายไวรัส 2 ขั้นตอนระหว่างการผลิต[1]

ไม่มีการเสริมอัลบูมินเพื่อใช้เป็นสารให้ความคงตัว[5] กระบวนการทำให้บริสุทธิ์เหล่านี้ก่อให้เกิดอัตราส่วน 1:1 ระหว่างวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์กับแฟคเตอร์แปดที่คล้ายคลึงกับพลาสมาปกติ[1] wilate® ประกอบด้วยโครงสร้างวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์แบบคู่สาม และมีมัลติเมอร์น้ำหนักโมเลกุลสูงจำนวนมากที่ใกล้เคียงกับพลาสมาปกติของมนุษย์[1] wilate® สร้างขึ้นมาจากพลาสมามนุษย์ที่รวบรวมไว้ในศูนย์บริจาคพลาสมาที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น[6] วางจำหน่ายในขนาด 500 IU และ 1000 IU wilate® มีข้อบ่งใช้ในการป้องกันและรักษาอาการตกเลือดหรือภาวะเลือดออกขณะผ่าตัดรักษาโรควอนวิลลิแบรนด์ (VWD) เมื่อรักษาด้วยยาเดสโมเพรสซิน (DDAVP) อย่างเดียวแล้วไม่ได้ผลหรือห้ามรักษาด้วยวิธีนี้ และเพื่อใช้รักษาและป้องกันภาวะเลือดไหลในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียชนิดเอ (ขาดแคลนแฟคเตอร์แปดมาตั้งแต่กำเนิด)[6]

เกี่ยวกับอ็อคตาฟาร์มา

อ็อคตาฟาร์มา (Octapharma) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองลาเคิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนมนุษย์รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นผู้พัฒนาและผลิตโปรตีนมนุษย์จากพลาสมาและเซลล์ไลน์ของมนุษย์ อ็อคตาฟาร์มามีพนักงานเกือบ 12,000 คนทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยใน 118 ประเทศ ด้วยผลิตภัณฑ์ครอบคลุมการรักษา 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ภูมิคุ้มกันบำบัด โลหิตวิทยา และการดูแลขั้นวิกฤติ

อ็อคตาฟาร์มามีศูนย์วิจัยและพัฒนา 7 แห่ง และมีโรงงานผลิตล้ำสมัย 5 แห่งในออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวีเดน โดยบริหารงานในศูนย์บริจาคพลาสมากว่า 195 แห่งทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา

"ข่าวประชาสัมพันธ์ของอ็อคตาฟาร์มามีกลุ่มเป้าหมายคือสื่อสายสุขภาพ/การแพทย์โดยเฉพาะ มิใช่ผู้บริโภคทั่วไป"

[1] Lissitchkov T et al. Ther Adv Hematol 2019; 10:2040620719858471.
[2] Liesner RJ et al. Thromb Haemost 2021; 121:1400–8.
[3] Octapharma AG ข้อมูลในไฟล์
[4] สรุปข้อมูลผลิตภัณฑ์ Nuwiq® (Summary of Product Characteristics)
[5] Stadler M et al. Biologicals 2006; 34:281-8.
[6] สรุปข้อมูลผลิตภัณฑ์ wilate® (Summary of Product Characteristics)

โลโก้: https://mma.prnasia.com/media2/2434367/Octapharma_Logo.jpg?p=medium600 

 

 

Source: Octapharma AG
Keywords: Health Care/Hospital Medical/Pharmaceuticals Pharmaceuticals Publishing/Information Service Clinical Trials/Medical Discoveries Trade show news
Related News